• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อหิงสา

คนทั่วไปแปลคำศัพท์ "อหิงสา"
ว่าการไม่ใช้ความรุนแรง
และแปลคำศัพท์ "หิงสา"Ž
หมายถึง ความรุนแรง


จริงๆ แล้ว หิงสาน่าจะหมายถึง "ความตั้งใจ" ที่จะฆ่า ที่จะทำร้าย คำคำนี้ไม่ใช่ความหมายทางด้านการกระทำ แต่เป็นทางด้านทัศนคติมากกว่า

หากเราเข้าใจความหมายอย่างถูกต้อง เราก็จะพลอยเข้าใจถึงสาระของมหากาพย์ ภควัทคีตา ที่เป็นเรื่องของอหิงสาด้วย คือเกิดความเข้าใจว่าทั้งๆ ที่อรชุนทำสงครามฆ่าศัตรูซึ่งล้วนเป็นญาติ เป็นอาจารย์ของตน แต่อรชุนก็กำลังปฏิบัติอหิงสา เพราะอรชุนไม่มีความตั้งใจจะฆ่าเลยแม้เพียงน้อยนิดนั่นเอง

เราต้องไม่ลืมว่าองค์ศาสดาผู้สอนให้มนุษย์รักเพื่อนบ้านของตนดั่งที่รักตนเอง องค์ศาสดาผู้สอนให้คนหันแก้มขวาให้อีกข้างหากมีคนตบแก้มซ้ายของเรา ก็เป็นองค์ศาสดาเดียวกันกับที่เฆี่ยนตีคนในตลาดผู้ทำความเสื่อมเสียยังโบสถ์ของพระเจ้า

กระทั่งมหาตมะคานธีก็สอนให้สาวกต่อสู้จนตัวตายเสียดีกว่าที่จะหลบหนีด้วยความขลาดกลัว
การแปลคำศัพท์อหิงสาอย่างไม่เข้าใจ จะกลายเป็นความกลัว ความขลาด หรือการไร้ความสามารถที่จะโต้ตอบอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความสุขุมรอบคอบอันเป็นส่วนสำคัญของความกล้าหาญ

ข้อสังเกตอีกประการได้แก่สิ่งที่ไม่มีในอหิงสา มีแต่ในหิงสาคือ ความฉุนเฉียว ความขุ่นเคืองอยู่ตลอดเวลา ในกรณีของผู้ป่วยที่เกิดจากความผิดปกติเรื้อรัง ผู้เขียนมักพบสภาวะความขุ่นเคืองอยู่ในใจผู้ป่วย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ไม่มีการรักษาใดๆ แม้กระทั่งในโยคะเอง (ทั้ง อาสนะ กริยา ปราณายามะ เป็นต้น) ที่สามารถจะเยียวยาได้หากความฉุนเฉียวยังคงซ่อนลึกอยู่ภายใน

การฆ่าหรือความรุนแรงที่ปราศจากสภาวะของความฉุนเฉียวขุ่นเคืองนั้นต่างกันมาก
หมอที่กำลังผ่าตัด คนขายเนื้อที่กำลังแล่ นักวิทยาศาสตร์ที่กำลังใช้สัตว์ทดลอง ล้วนปฏิบัติสิ่งที่ รุนแรง แต่ต่างกันเพราะไม่มีความขุ่นเคือง ความเกลียด ความประสงค์ที่จะฆ่า กล่าวคือ มีหิงสาน้อยกว่า เมื่อเทียบกับอหิงสาของคนขี้ขลาด ผู้ที่กำลังศึกษาโยคะบำบัดต้องใส่ใจในประเด็นนี้เพราะมีความสำคัญยิ่ง

ยมะและนิยมะ หรือศีลและวินัยของโยคะนั้นเป็นสากล สั่งสอนกันอย่างแพร่หลายในแทบจะทุกศาสนา ทุกสังคม แต่ลักษณะสำคัญของมันทางด้านกาย-จิตสัมพันธ์กลับได้รับการกล่าวถึงน้อยมาก แม้กระทั่งในตำราโยคะเอง

โยคะไม่ได้คำนึงถึงมิติทางสังคมมากนัก หากเทียบกับทางด้านบุคคล เพราะสำหรับโยคะ บุคคลนั่นแหละคือผู้สร้างสังคม

หากมนุษย์ (ซึ่งเป็นส่วนของสังคม) มีนิสัย มีการอบรมสั่งสอนที่เหมาะสม สังคมก็จะดีเอง
ยมะและนิยมะของโยคะจึงไม่ใช่เรื่องกฎข้อบังคับในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่เป็นระเบียบปฏิบัติที่สอดคล้อง กับความเป็นจริงต่อการพัฒนาสุขภาพจิตขึ้นสู่ระดับสูงสุดของปัจเจกบุคคล โยคะเห็นว่าการฝึกยมะและนิยมะเปรียบได้กับการค่อยๆ ฝึกนักกีฬาคือค่อยๆ ฝึก ค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าแบบนักจริยธรรม (โบราณ) ที่กำหนดไว้แล้วบังคับให้ทุกคนทำตาม ซึ่งสอดคล้องกับวิธีปฏิบัติของนักจิตวิทยาคลินิกในปัจจุบัน

ดูเหมือนหฐโยคีจะมองประเด็นดังกล่าวจาก มุมของประสาทวิทยา พวกเขาวิเคราะห์พฤติกรรมจากระดับความรุนแรงของการโต้ตอบซึ่งขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน โดยกระบวนการจัดปรับพฤติกรรมให้เข้าที่เข้าทางก็ต่างออกไป เป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานและดูเหมือนจะน่าเบื่อ แต่ก็เชื่อว่าจะได้ผลค่อนข้างแน่นอนกว่า ปลอดภัยกว่า

พวกเขายอมรับว่า กว่าจะได้ผล ก็ต้องมีการปกป้อง คุ้มครองกันพอสมควร กล่าวคือ พวกเขายืนกรานว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องปลีกวิเวกจากสังคมเสียก่อน ควรจะไปอยู่ในกุฏิ ห่างไกลจากฝูงชน กุฏิที่ว่านี้ควรจะอยู่ในบ้านเมืองที่ผู้ปกครองมีคุณธรรม อยู่ในชุมชนที่คนนับถือศาสนา และมีจิตใจเมตตา อยู่ในที่ที่สิ่งแวดล้อมบริสุทธิ์ สงบ ปลอดจากสัตว์และแมลง แม้ขนาดนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติก็ยังต้องอยู่คนเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะต้องเผชิญ กับสิ่งที่ดึงดูดใจ ดูได้จากตำราหฐประทีปปิกะ 1.12 ทั้ง หมดนี้แสดงว่า หฐโยคีคำนึงถึงการตัดขาดจากการกระตุ้นเร้าทางอารมณ์ เพื่อให้แน่ใจว่าการฝึกได้รับประโยชน์สูงสุด

กล่าวได้ว่า แม้หฐโยคะจะให้ความสำคัญกับมิติทางด้านร่างกาย แต่การปฏิบัติโยคะสายนี้ก็ดูเหมือนจะเข้าใจถึงอิทธิพลของจิต ถึงกับแนะนำให้ผู้ฝึก "สละเรื่องทางโลก" เสีย อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่กำลัง ฝึกฝน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนปตัญชลีจะให้ความสำคัญ กับคนที่ยังดำเนินวิถีชีวิตในสังคม ในการที่จะสร้างภาวะอันเหมาะสมต่อจิตสำหรับการฝึกโยคะ ปตัญชลีแนะนำ อัษฎางค์โยคะ ให้เราปฏิบัติ โดยเริ่มจาก ยมะ - นิยมะ อันเป็นการขัดเกลาจิต เป็นการแผ้วถางทาง ค่อยๆ ดูแลจิตจนเป็นนิสัย จนจิตมีความพร้อม เพื่อรอการยกระดับขึ้นสูงสุดสู่เป้าหมายแห่งโยคะ

นอกจากนั้น ในการปลูกฝังนิสัย ดูเหมือนปตัญชลี จะแยกวิธีการปฏิบัติต่อจิตสำนึก กับต่อจิตใต้สำนึกออกจากกันอย่างชัดเจน

ทางด้านจิตสำนึก ปตัญชลีแนะนำการฝึกยมะ นิยมะเป็นเครื่องมือ
ส่วนทางด้านจิตใต้สำนึก ปตัญชลีแนะนำ อาสนะและปราณายามะเป็นเครื่องมือ ซึ่งเราจะได้กล่าวโดยละเอียดในบทต่อไป
 

ข้อมูลสื่อ

322-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 322
กุมภาพันธ์ 2549
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์