• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๑๓)

การปฏิบัติตามหลัก "ต็อง-เล็น"Ž
"ต็อง-เล็น"
เป็นวิธีของทิเบต ที่จินตนาการเอาความทุกข์ของผู้อื่นเข้ามาสู่ตัวเอง นอกจากเพื่อเสริมสร้างความกรุณาในจิตใจของตัวเองแล้ว ยังใช้เพื่อลดความทุกข์ของตัวได้ด้วย
ท่านทะไล ลามะ แสดงปาฐกถาเรื่องนี้ในบ่ายวันที่อากาศร้อนในเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา รัฐนี้มีทะเลทรายกว้างขวาง ในฤดูร้อนอากาศจะร้อนมากจนเกือบเกรียม ในห้องประชุมวันนั้นมีผู้ฟังประมาณ ๑,๖๐๐ คน ซึ่งยิ่งเพิ่มอุณหภูมิความร้อนของ ห้องขึ้นไปอีก ผู้ฟังทุกคนจึงมีความทุกข์ทรมานเพราะสภาพดังกล่าว เพื่อท้าทายการ ปฏิบัติ "ต็อง-เล็น" ว่าจะลดความทุกข์ได้จริงหรือไม่
บ่ายวันนี้ขอให้เรามาปฏิบัติ "ต็อง-เล็น" ซึ่งมีการให้และรับ (ให้ความ เมตตาและรับความทุกข์ของเขามาเป็นของตน) การปฏิบัตินี้เพื่อฝึกจิตให้เพิ่มพลังแห่งความกรุณา สิ่งนี้สำเร็จได้เพราะการภาวนาตามหลัก "ต็อง-เล็น" ทำให้เราลดความเห็นแก่ตัว มันเพิ่มพลังให้โดยเราเปิดหัวใจรับความทุกข์ของผู้อื่น
"ในการเริ่มการปฏิบัติพยายาม มองให้เห็นกลุ่มคนที่มีความทุกข์ที่ต้องการ ความช่วยเหลือ เขาอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่และมีความทุกข์อย่างยิ่ง เช่น คนจน คนที่ ลำบาก คนที่กำลังเจ็บปวด สร้างมโนภาพ ให้เห็นคนกลุ่มนี้อยู่ข้างหนึ่งของท่านให้ ชัดเจน แล้วอีกข้างหนึ่งสร้างมโนภาพให้เห็นตัวท่านเอง ที่เป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง เห็นแก่ตัวเป็นอาจิณ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อความทุกข์ยากของคนอื่น ระหว่างกลุ่มที่กำลังมีความทุกข์กับตัวแทนของคุณที่เห็นแก่ตัว สร้างมโนภาพของตัวเองอยู่ตรงกลางใน ฐานะผู้สังเกตการณ์ที่เป็นกลาง
"ต่อไปสังเกตว่าตัวท่านเองจะโอนเอียงไปเข้าข้างใด-ข้างตัวแทนความเห็น แก่ตัวหรือว่ามีความเห็นใจกลุ่มที่อ่อนแอและต้องการความช่วยเหลือ ถ้าพิจารณา อย่างตรงไปตรงมาก็จะพบว่าประโยชน์สุขของคนกลุ่มใหญ่สำคัญกว่าคนเห็นแก่ตัว คนเดียวนั้น
หลังจากนั้น จงพุ่งความสนใจไปยังกลุ่มคนที่ลำบาก ส่งพลังทั้งหมดของตัวคุณเองไปให้เขา โดยทางจิตให้ทุกๆ อย่างที่ดีงามของคุณแก่เขา เมื่อทำดังนั้นแล้ว สร้างมโนภาพว่าคุณรับปัญหาความทุกข์ยาก ความโชคร้ายของเขาเหล่านั้นมาเข้าตัวคุณเอง

"ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะสร้างมโนภาพถึงเด็กชาวโซมาเลียที่กำลังอดอยาก แล้วดูว่าคุณจะทำอย่างไร ในกรณีนี้ถ้าคุณเกิดเห็นใจในความทุกข์ยากของเด็กก็ไม่ใช่เพราะเขาเป็นญาติหรือเป็นเพื่อนของคุณ คุณไม่รู้จักเขาด้วยซ้ำไป แต่ความที่ว่าเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ของคุณ ทำให้คุณอยากช่วยเหลือเขา คุณอาจจะคิดว่า 'เด็กคนนี้ไม่อยู่ในฐานะจะช่วยตัวเองให้พ้นทุกข์ได้เลย' ดังนั้น โดยทางจิตคุณนำเอาความทุกข์ ความจน ความหิว ความขาดแคลน เข้ามาสู่ตัวคุณเอง และโดยทางจิตคุณให้เงินทองข้าวของเครื่องใช้ของคุณแก่เด็กคนนี้ และโดยการฝึกสร้างมโนภาพของการ ให้และการรับž แบบนี้จะเป็นการฝึกจิตของคุณ

"ในการฝึกเช่นนี้ บางครั้งจะเป็นการดีถ้าคุณมีจินตนาการถึงความทุกข์ของตัวเองที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วก็ดึงความทุกข์ในอนาคตมาใส่ตัวคุณเองเสียแต่บัดนี้ (อนาคตบำบัด! หรือเอาอนาคตมาใช้) นี่เป็นการฝึกความเมตตาตัวเอง แล้วก็ขยายความเมตตานี้ไปสู่ผู้อื่น

"เมื่อคุณสร้างมโนภาพ 'นำความทุกข์เข้าตัวเอง' จะมีประโยชน์ถ้านึกถึงความทุกข์เหล่านี้ในรูปแบบสารพิษ อาวุธ หรือสัตว์ร้าย ที่เมื่อมองเห็นทำให้เราสะดุ้งกลัว สร้างมโนภาพให้เห็นสิ่งร้ายๆเหล่านี้แล้วดึงมาเข้าตัว

"วัตถุประสงค์ของการสร้างมโนภาพของการนำสิ่งร้ายแรงเหล่านี้มาเข้าสู่หัวใจของเราก็เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวซึ่งสถิตอยู่ในนั้น แต่ว่าสำหรับคนที่มีปัญหาในการโทษตัวเอง เกลียดตัวเอง โกรธตัวเอง ไม่เห็นตัวเองมีคุณค่า ต้องระวังว่าการปฏิบัติอย่างนี้จะสมควรหรือไม่มันอาจจะไม่เหมาะก็ได้

"ในการปฏิบัติ "ต็อง-เล็น" อาจจะมีพลังมากถ้าคุณทำ "การให้และรับ" ควบคู่ไปกับการหายใจ นั่นคือเมื่อหายใจเข้าให้รับเข้ามา เมื่อหายใจออกให้ออกไป เมื่อคุณทำอย่างนี้อย่างได้ผลอาจจะรู้สึกขลุกขลักบ้าง นั่นแปลว่ากำลังดี เข้าเป้าแล้ว-ความเห็นแก่ตัว อหังการที่มีอยู่ในตัวของเราเป็นวิสัย
ต่อไปนี้ขอให้เราภาวนากันเถิด"
Ž

เมื่อตอนสรุปการสอนเรื่อง "ต็อง-เล็น" ท่านทะไล ลามะ ได้พูดประเด็นสำคัญว่าไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่เหมาะกับทุกคน ในการเดินทางทางจิตวิญญาณของเรา เราจะต้องเลือกว่าวิธีใดเหมาะแก่เรา บางครั้งการปฏิบัติบางอย่างดูไม่เหมาะกับเราเมื่อเริ่มต้น เราต้องเข้าใจการปฏิบัตินั้นให้ดีขึ้น หมอคัตเลอร์ว่าสิ่งนี้เกิดกับตัวเอง เมื่อฟังเรื่อง "ต็อง-เล็น" จากท่านทะไล ลามะ ในบ่ายวันนั้น เขาพบว่าเขาไม่ค่อยจะเชื่อและรู้สึกต่อต้านลึกๆ แม้จะไม่สามารถบอกความรู้สึกได้ชัดเจนขณะนั้น แต่เย็นวันนั้น เมื่อมาตรึกตรองถึง คำสอนของท่านทะไล ลามะ เขาตระหนักว่าที่เขารู้สึกต่อต้านก็ตอนที่ท่านพูดว่ากลุ่มคน (ที่กำลังมีความทุกข์) สำคัญกว่าคนคนเดียว (ที่กำลังเห็นแก่ตัว) มันเป็นแนวคิด ที่เขาเคยได้ยินมาก่อน นั่นคือกฎแห่งวัลคาน ที่มิสเตอร์สปอกในหนังเรื่อง Star Trek กล่าวว่า : ความจำเป็นของคนจำนวนมากสำคัญกว่าความจำเป็นของคนจำนวนน้อย หมอคัตเลอร์ว่าเขาไม่แน่ใจในเรื่องนี้ จึงลองถามความเห็นของเพื่อนชาวพุทธคนหนึ่งที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ว่า แม้จะว่าความจำเป็นของคนส่วนใหญ่สำคัญกว่าความจำเป็นของคน คนเดียวก็จริง แต่ในชีวิตประจำวัน เราไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับมวลชน แต่สัมพันธ์กับคนคนเดียว ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และในกรณีเช่นนี้จะให้ถือความจำเป็นของคนคนนั้น สำคัญกว่าความจำเป็นของเราเองได้อย่างไร ก็เราเสมอภาคกันนี่นา
เพื่อนคนนั้นหยุดคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วกล่าวว่า "ก็จริงอยู่ แต่คุณอาจจะลองพยายาม ดูว่าความจำเป็นของคนอื่นสำคัญเท่าๆกับของตัวคุณเอง-ไม่ต้องสำคัญกว่าแต่ต้องไม่น้อยกว่า-เท่านี้อาจจะเพียงพอสำหรับการเริ่มต้น"Ž
หมอคัตเลอร์เลยไม่ได้ปรารภเรื่องนี้กับท่านทะไล ลามะ

ภาค๔
การเอาชนะอุปสรรค

บทที่ ๑๒
การนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง
กระบวนการเปลี่ยนแปลง


"เราได้พูดถึงความสุขที่เกิดจากการขจัดพฤติกรรมทางลบและความรู้สึกไม่ดีออกจากจิตใจ ท่านมีวิธีการอย่างไรจึงจะทำได้จริง ในการเอาชนะพฤติกรรมทางลบ แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกขึ้นในชีวิต" หมอคัตเลอร์ถาม

"ขั้นตอนแรกคือการเรียนรู้" ท่านทะไล ลามะ ตอบ "การศึกษาก่อนหน้านี้ อาตมาได้พูดถึงความสำคัญของการเรียนรู้"

"ท่านหมายถึง เมื่อเราคุยกันถึงการเรียนรู้ว่าอารมณ์และพฤติกรรมทางลบเป็นอันตรายต่อความสุขและว่าอารมณ์ทางบวกช่วยให้เกิดความสุขใช่ไหม" หมอคัตเลอร์ถาม

"ใช่ แต่ในการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางบวก การเรียนรู้เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกเช่น ความเชื่อ ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว การลงมือทำและความพยายาม ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปคือการทำให้เกิดความปลงใจเชื่อ การเรียนรู้และ การศึกษามีความสำคัญ เพราะทำให้เกิดความปลงใจเชื่อถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มพันธะทางใจในการปฏิบัติ ความปลงใจเชื่อที่จะเปลี่ยนแปลง นำไปสู่ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ขั้นต่อไปก็คือการแปรเปลี่ยนความตั้งใจเด็ดเดี่ยวเป็นการลงมือทำ ความตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความเพียรพยายามอย่างไม่ลดละที่จะลงมือปฏิบัติจริงๆ ปัจจัยสุดท้ายคือความเพียรพยายามสำคัญอย่างยิ่ง

"ดังนั้น ถ้าตัวอย่างเช่น ถ้าคุณพยายามจะเลิกสูบบุหรี่ เริ่มต้นคุณต้องรู้เสียก่อนว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อร่างกายของคุณ คุณต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้อมูลข่าวสารและการให้การศึกษาแก่สาธารณะเกี่ยวกับผลร้ายของการสูบบุหรี่มีผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ในปัจจุบันประเทศตะวันตกมีคนสูบบุหรี่น้อยกว่าในประเทศคอมมิวนิสต์เช่นจีน เพราะว่าได้รับข้อมูลข่าวสารมากกว่า แต่การเรียนรู้ อย่างเดียวก็ไม่พอ ท่านจะต้องเพิ่มความตระหนักรู้จนถึงขั้นปลงใจเชื่อถึงพิษภัยของบุหรี่ แล้วก็จะทำให้เกิดความตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะเปลี่ยนแปลง สุดท้ายคุณจะต้องมีความเพียรพยายามอย่างแรงกล้าที่จะสร้างนิสัยใหม่ นี้คือหนทางแห่งการเปลี่ยนแปลงภายในและการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตัวเองในทุกเรื่องที่คุณอยากทำ

"ทีนี้ไม่ว่าพฤติกรรมอะไรที่คุณอยากเปลี่ยน ไม่ว่าเป้าหมายหรือการทำอะไรที่คุณพุ่งความเพียรพยายามเข้าไปทำ คุณจะต้องสร้างพลังจิตอย่างแรงที่จะทำสิ่งนั้น คุณจะต้องสร้างความกระตือรือร้นในสิ่งนั้นอย่างมหาศาล ตรงนี้แหละที่สำนึกแห่งความเร่งด่วนเป็นกุญแจสำคัญ สำนึกแห่งความเร่งด่วนเป็นปัจจัยที่ทรงพลังที่จะช่วยให้คุณเอาชนะอุปสรรค ตัวอย่างเช่น ความรู้เกี่ยวกับผลร้ายแรงของการเป็นโรคเอดส์ ได้สร้างสำนึกแห่งความเร่งด่วนที่จะหยุดยั้งพฤติกรรมทางเพศของคนจำนวนมาก อาตมาคิดว่าบ่อยทีเดียวที่เมื่อคุณได้รับข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม สำนึกแห่งความร้ายแรงและพันธะทางใจในการปฏิบัติจะเกิดขึ้น

"ดังนั้น สำนึกแห่งความเร่งด่วนอาจเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลง มันอาจก่อให้เกิดพลังมหาศาล ตัวอย่างเช่น ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองถ้ามีความรู้สึกเข้าตาจน จะเกิดสำนึกแห่งความเร่งด่วนอย่างมาก มากเสียจนประชาชนลืมความหิว ลืมความเหนื่อยที่จะต้องเคลื่อนไหวไปสู่จุดหมายให้ได้

"ความสำคัญของสำนึกแห่งความเร่งด่วนใช่แต่จะมีในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ในระดับชุมชนและระดับโลกด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่ออาตมาไปเมืองเซนต์หลุยส์และพบผู้ว่าการมลรัฐ ที่นั่นเขาเพิ่งประสบภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรง ผู้ว่าการมลรัฐบอกกับอาตมาว่า เมื่อน้ำท่วมเริ่มขึ้นท่านเกรงว่าความสนใจแต่เรื่องส่วนตัวของประชาชน จะทำให้ไม่มีความร่วมมือกันแก้ปัญหา แต่เมื่อวิกฤตการณ์เกิดขึ้น เขาประหลาดใจมากในการที่ประชาชนร่วมมือกันแก้ปัญหาน้ำท่วม สำหรับอาตมาแล้ว นี้แสดงให้เห็นว่าการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่สำคัญ เราจะต้องเห็นความสำคัญของสำนึกแห่งความ เร่งด่วนเหมือนในกรณีนี้ วิกฤตการณ์เร่งด่วนมากจนประชาชนร่วมมือกันโดยสัญชาตญาณที่จะแก้วิกฤต แต่โชคไม่ดี" ท่านกล่าวอย่างเศร้าใจ "ที่บ่อยๆ ครั้งเราไม่มีสำนึกแห่งความเร่งด่วนนั้น"Ž


หมอคัตเลอร์ว่าเขาแปลกใจที่ได้ยินท่านทะไล ลามะ พูดถึงสำนึกแห่งความเร่งด่วน เพราะคนตะวันตกมีภาพของคนเอเชียแบบที่ว่า "ปล่อยให้เป็นไปอย่างที่เป็น" เพราะเชื่อในเรื่องที่ตายแล้วเกิด อะไรถ้าไม่เกิดขึ้นในชาตินี้ก็คงเกิดในชาติหน้า (ไม่ต้องรีบเร่ง)

"คำถามก็คือว่า ท่านจะทำให้เกิดสำนึกอันแรงกล้าหรือเร่งด่วนนั้นในชีวิตประจำวันได้อย่างไร วิถีทางพุทธมีหรือไม่"Ž

"สำหรับชาวพุทธมีวิธีหลายอย่างที่จะสร้างความกระตือรือร้น "ท่านทะไลลามะตอบ" เพื่อจะสร้างความมั่นใจและความกระตือรือร้น เราพบในคัมภีร์ทางพุทธที่อธิบายถึงคุณค่าแห่งชีวิต เราพูดถึงศักยภาพอันมหาศาลในร่างกายของเรา ซึ่งมีความหมายและใช้เพื่อประโยชน์อันสูงส่ง ประโยชน์ของชีวิตที่อยู่ในรูปร่างของมนุษย์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ คำอธิบายเหล่านี้มีไว้เพื่อสร้างความมั่นใจ พลังใจ และฉันทะในการใช้ร่างกายของเราในทางที่จะเป็นประโยชน์"Ž

"และในการที่จะกระตุ้นสำนึกแห่งความเร่งด่วนในการพัฒนาจิตวิญญาณ ชาวพุทธถูกเตือนให้นึกถึงความเป็นอนิจจังหรือความตายเพื่อเร่งรีบทำความเพียร"Ž

"การใส่ใจถึงความเป็นอนิจจังและความตายดูจะเป็นเทคนิคที่ทรงพลังในการกระตุ้นให้บุคคลเร่งรีบทำความดี เทคนิคนี้ใช้สำหรับคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธด้วยก็ได้ใช่ไหม"Ž

"เราต้องระมัดระวังในการใช้เทคนิคต่างๆ สำหรับคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ" ท่าน ทะไล ลามะ กล่าวอย่างครุ่นคิด "วิธีที่ว่าอาจจะเหมาะกับชาวพุทธมากกว่า เพราะว่า" ท่านหัวเราะ "อาจจะนำไปใช้ในทางตรงข้ามก็ได้ เช่นว่าเนื่องจากไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะยังมี ชีวิตอยู่หรือเปล่า วันนี้ขอสนุกให้เต็มที่!"Ž

"ท่านมีคำแนะนำอะไรไหมว่าคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธจะสร้างสำนึกแห่งความเร่งด่วนได้อย่างไร"Ž

ท่านทะไล ลามะ ตอบว่า "ก็อย่างที่อาตมาเคยบอกแล้วว่า นั่นคือต้องใช้ข้อมูลข่าวสารและการศึกษา เช่น ก่อนที่อาตมาจะพบกับผู้เชี่ยวชาญ (เรื่องสิ่งแวดล้อม) อาตมาไม่ทราบถึงวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม แต่เมื่อพบผู้เชี่ยวชาญและได้รับฟังถึงปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ อาตมาก็ตระหนักรู้ถึงความร้ายแรง ของสถานการณ์ เรื่องอย่างนี้ใช้ได้กับปัญหาอื่นๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่"Ž

"แต่ว่าบางครั้งแม้เราได้รับข้อมูลข่าวสาร เราก็ยังไม่มีพลังเพียงพอที่จะเปลี่ยน เราจะเอาชนะอุปสรรค แบบนี้ได้อย่างไร"
หมอคัตเลอร์ถาม

ท่านทะไล ลามะ หยุดเพื่อคิดอยู่ชั่วครู่หนึ่ง และพูดว่า "อาตมาคิดว่าอาจจะมีหลายชนิดที่แตกต่างกันตามเหตุ เหตุหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยทางชีววิทยา ที่ทำให้เกิดความเฉื่อยชาและการไม่มีแรง ซึ่งอาจจะต้องแก้นิสัย เช่น นอนให้พอ กินอาหารถูกสุขลักษณะ งดเว้นสุราอะไรเทือกนั้น ที่จะทำให้จิตใจตื่นตัว หรือบางรายอาจต้องใช้ยาหรือการรักษาทางการแพทย์ แบบอื่น ถ้าต้นเหตุอยู่ที่ความเจ็บป่วยแต่ก็ยังมีความ เฉื่อยชาหรือความขี้เกียจอีกแบบหนึ่งที่เกิดจากการ มีพลังจิตอ่อนแอ..."Ž

"นี่แหละ ผมหมายถึงชนิดนี้แหละ"
หมอคัตเลอร์ว่า
"การจะเอาชนะความเฉื่อยชา และก่อให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะเอาชนะพฤติกรรมทางลบ วิธีที่ดีที่สุดและอาจเป็นวิธีเดียวก็คือการที่จะต้องสำนึกรู้ถึงผลร้ายของพฤติกรรมทางลบจะต้องเตือนตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงผลร้ายเหล่านั้น"Ž

แม้คำพูดของท่านทะไล ลามะ จะบอกถึงความจริงเช่นนั้น แต่ในฐานะจิตแพทย์ หมอคัตเลอร์รู้ว่านิสัยไม่ดีหรือวิถีคิดบางอย่างมันฝังลึกเสียจนแก้ไขอะไรไม่ได้ง่ายๆ เขาเคยใช้เวลานับไม่ถ้วนในการเจาะหาสาเหตุอันซับซ้อนทางจิตใจของคนไข้ที่แก้ไขพฤติกรรมไม่ได้ เมื่อคิดถึงสิ่งเหล่านี้เขาจึงถามท่านทะไล ลามะ ว่า

"มนุษย์ต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปทางบวก แต่ทำไม่ได้เพราะมีแรงเฉื่อยหรือแรงต้าน ท่านจะอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร"Ž

"นั่นง่ายมาก..." ท่านทะไล ลามะ กล่าวอย่างไม่จริงจัง
ง่าย ?

"เพราะว่าเราทำอะไรเป็นนิสัยและเคยชิน แล้วเราก็เสียคนที่มักทำแต่สิ่งที่ อยากทำ ที่ทำจนเคยชิน"Ž
"แล้วเราจะเอาชนะสิ่งนั้นได้อย่างไร"Ž


"ก็โดยใช้การฝึกให้เคยชิน โดยการทำซ้ำๆ เราสร้างนิสัยใหม่ได้ ตัวอย่างก็ เช่น ที่ธรรมศาลา อาตมาตื่นแต่ตี ๓ ครึ่ง แต่ทีนี้ที่แอริโซนา อาตมาตื่นตี ๔ ครึ่ง ได้นอนเพิ่มขึ้น ๑ ชั่วโมง"
ท่านหัวเราะ "ในระยะเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงต้องใช้ความพยายามที่จะให้คุ้นเคยกับพฤติกรรมใหม่ แต่เมื่อผ่านไป ๒-๓ เดือนก็จะคุ้นเคยกับพฤติกรรมใหม่ โดยไม่ต้องเพียรพยายามแต่อย่างใด บางครั้งเรานอนดึก แต่ก็ตื่นเช้าตามกำหนดและปฏิบัติกิจประจำวันได้ นี้ก็อาศัยพลังแห่งความเคยชินเป็นนิสัย

"ดังนั้น โดยการพยายามอย่างต่อเนื่อง เราอาจเอาชนะอุปสรรคขัดขวางทุก ชนิด แล้วเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราไปในทางบวก แต่ท่านจะต้องรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เพียงข้ามคืน ในกรณีของอาตมาเองถ้าเปรียบเทียบสภาพจิตขณะนี้กับเมื่อ ๒๓ ปีที่แล้วต่างกันมาก แต่มันค่อยๆ เกิดขึ้น อาตมาเริ่มศึกษาพุทธศาสนาเมื่ออายุ ๕ หรือ ๖ ขวบ แต่จริงๆ แล้วอาตมาไม่ได้สนใจที่จะเรียนรู้พุทธศาสนาในขณะนั้น" ท่านหัวเราะ "แม้จะเชื่อกันว่าอาตมาเป็นทะไล ลามะ องค์ก่อนมาจุติใหม่ จนอายุประมาณ ๑๖ ปีกว่าที่อาตมาจะสนใจและลงมือปฏิบัติจริงจัง ใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าสิ่งที่ดูยากยิ่งและไม่เป็นธรรมชาติกลายมาเป็นธรรมชาติและง่าย นี้เกิดจากความคุ้นชินที่ค่อยๆ เกิดขึ้น กระบวนการนี้ใช้เวลากว่า ๔๐ ปี

"ดังนั้น คุณจะเห็นว่า การพัฒนาจิตลึกๆ แล้วต้องใช้เวลา ถ้าใครมาบอกอาตมาว่า 'หลังจากความยากลำบากมานานปีสิ่งต่างๆ ดีขึ้น' อาตมาก็จะให้ความเชื่อถือว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นของจริงและถาวร แต่ถ้าใครมาบอกว่า 'ในระยะเวลาสั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โต' อาตมาจะสงสัยว่ามันไม่จริง"Ž

หมอคัตเลอร์ก็ยังข้องใจอยู่ดี
 

 

ข้อมูลสื่อ

322-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 322
กุมภาพันธ์ 2549
ศ.นพ.ประเวศ วะสี