• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จิตอาสาพลังสร้างโลก(๑) รู้จักไต้หวัน

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ผมมีโอกาสไปดูงานของมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน
ด้วยความอนุเคราะห์ของศูนย์คุณธรรม ได้ดูได้รู้ได้เห็นเรื่องราวของเขาแล้วมีความประทับใจ
จึงขอถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้สู่ท่านผู้อ่านในชื่อเรื่องที่ว่า "จิตอาสา พลังสร้างโลก" รวม ๕ ตอนครับ

เกริ่นนำ
เมื่อราวเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ อาจารย์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เล่าให้ผมฟังคร่าวๆ ว่าท่านได้ไปดูงานของมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน ท่านพบเรื่องราวอันงดงามของที่นั่น มูลนิธิดำเนินงานมาได้ ๔๐ ปีแล้วใช้หลักทางพุทธศาสนาเป็นธงนำทาง มีกิจกรรมต่างๆเกิดขึ้นมากมายที่ล้วนทำเพื่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสังคมสงเคราะห์ การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข และวัฒนธรรม โดยเน้นการสร้างเสริมจิตอาสาเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้เกิดแก่ผู้อื่น

ปัจจุบันมีสมาชิกร่วมบริจาคสนับสนุนกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ๕-๖ ล้านคนทั่วโลก มีอาสาสมัครทำงานแบบต่อเนื่องกว่าสองแสนคน มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ทันสมัยหลายแห่งในไต้หวัน มีธนาคารไขกระดูกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีสถานีโทรทัศน์น้ำดีเป็นของตนเองเผยแพร่สัญญาณภาพไปทั่วโลก มีโรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม จนถึงมีมหาวิทยาลัยผลิตแพทย์และบุคลากรสาขาอื่น และมีกิจกรรมเพื่อสังคมด้านอื่นอีกมาก โดยทุกเรื่องที่ทำ ล้วนเน้นความสำคัญต่อมิติทางมนุษย์และจิตวิญญาณอย่างเด่นชัดและเป็นรูปธรรม

ผมฟังแล้วรู้สึกประทับใจอย่างมาก แล้วในที่สุด ก็เหมือนเป็นบุญวาสนา เมื่อศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ได้กรุณาชวนผมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ไต้หวัน ร่วมกับคณะกว่า ๔๐ คน ที่มีผู้นำหน่วยงานของรัฐ ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครที่ทำงานในชุมชน ไปดูงานระหว่างวันที่ ๒๓-๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เมื่อไปดูไปรู้ไปเรียนจากของจริง ก็ยิ่งทำให้ซาบซึ้งและประทับใจเป็นทวีคูณ จึงตั้งใจว่าจะเก็บสิ่งที่ได้เรียนรู้มาถ่ายทอดให้เพื่อนคนไทยที่สนใจได้มีโอกาสร่วมเรียนรู้ ผมจึงเขียนบทความเล่าเรื่องนี้ขึ้น เพื่อตอบแทนพระคุณแก่ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ประสบการณ์อันมีค่าสูงในครั้งนี้

การเดินทางไปดูงาน มีอาสาสมัครชุดเสื้อสีน้ำเงิน กางเกงสีขาว และชุดสีน้ำเงินของมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน ในประเทศไทย ๖ ท่าน เดินทางไปดูแลพวกเราตลอดการเดินทาง คือ คุณสุชน แซ่เฮง, คุณสุทธิพันธุ์ เล็กวิจิตรธาดา (แคนดี้), คุณบังอร แซ่เฉิน, คุณลัดดา แซ่หลิว, คุณวิวัฒน์ แซ่เตียง และน้องหญิง แซ่อึ้ง ทั้ง ๖ ท่าน ดูแลช่วยเหลือพวกเราเหมือนเป็นญาติสนิท (แม้จะเพิ่งรู้จักกันเป็นครั้งแรก) ทั้งเรื่องการวางแผนการดูงาน การจัดการ การประสานงาน การเป็นล่าม การให้ข้อมูล การบริการสารพัด ทุกท่านตั้งใจบริการพวกเราอย่างสุภาพ อ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่รู้เหน็ด เหนื่อย
ทั้ง ๖ ท่านเดินทางไป-กลับ กินอยู่หลับนอนโดย อาศัยค่าใช้จ่ายที่แต่ละคนออกกันเอง อันเป็นเอกลักษณ์ ของอาสาสมัครฉือจี้ที่มีใจใฝ่บริการผู้อื่น ไม่เบียดเบียนใครๆ และไม่เบียดเบียนโลก สมกับที่ฝรั่งขนานนามพวกเขาว่า "นาง (นาย) ฟ้า สีน้ำเงิน" (Blue Angle)
เพียงเริ่มต้นเท่านี้ ก็สร้างความประทับใจให้แก่พวกเราอย่างสุดๆ แล้วครับ

ไต้หวันรีวิว
เมื่อเอ่ยถึงไต้หวัน แต่ละคนคงคิดถึงเรื่องที่แตกต่างกัน
บางคนอาจคิดถึงประเทศที่ ส.ส. ในสภาชอบตบตี กันจนเป็นข่าวไปทั่วโลกอยู่บ่อยๆ
บางคนอาจคิดถึงประเทศที่มีแรงงานไทยไปรับจ้างทำงานเป็นแสนและเคยมีเหตุการณ์คนงานไทยก่อจลาจลจุดไฟเผาที่พักเพราะถูกกดขี่ข่มเหงจนเหลือทน

บางคนอาจคิดถึงนักธุรกิจไต้หวันที่เข้ามาลงทุนทำธุรกิจมากมายในประเทศไทยของเรา
ผู้ที่มีอายุมากหน่อยอาจคิดถึงจีนขาวที่อพยพหนีคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่หมู่ราว ๕๐ ปีก่อน

บางคนอาจคิดถึงประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธนิกายมหายานที่เน้นการปฏิบัติธรรมด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นตามหลักความเมตตากรุณาของพระโพธิสัตว์ เป็นต้น

ไต้หวันประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ ๗๘ เกาะ มีเกาะไต้หวันเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ ๓๕,๙๘๐ ตารางกิโลเมตร เล็กกว่าประเทศไทยประมาณ ๑๔ เท่า แต่มีประชากร ๑ ใน ๓ ของไทย (๒๒ ล้านคนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗) ความยาวจากเหนือจดไต้ ๔๐๐ กิโลเมตร ราวๆ ตอนเหนือของเชียงใหม่ถึงพิษณุโลก กว้าง ๑๕๐ กิโลเมตร ราวๆชายแดนแม่ฮ่องสอนถึงเชียงใหม่ เมื่อเทียบกับประชากรที่มีอยู่ จึงถือได้ว่าไต้หวันเป็นประเทศ ที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น มิหนำซ้ำพื้นที่ราวร้อยละ ๗๕ เต็มไปด้วยเทือกเขา และมีปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหวเสมอๆ และไต้ฝุ่นหนักๆ ปีละหลายลูก

ถ้าจะว่าไปแล้ว จีนไต้หวันมีประวัติศาสตร์ชาติ ที่ชัดเจนก็ราว ๕๐ ปีเศษมานี้เอง ตั้งแต่สมัยพรรค ก๊กมินตั๋งแพ้ภัยคอมมิวนิสต์จีนจึงอพยพคนจีนราว ๒ ล้านคนข้ามมาสมทบอยู่กับคนท้องถิ่นเดิมที่นั่น แต่เวลาเพียงครึ่งศตวรรษ ปรากฏว่าจีนไต้หวันถีบตัวก้าวกระโดดจากประเทศที่เต็มไปด้วยคนยากคนจน มาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว คนจนหมดไป ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยแคบลงมาก (จาก ๑๕ เท่า ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เหลือแค่ ๔ เท่าในปี พ.ศ. ๒๕๑๓) กลายเป็นประเทศแนวหน้าในเอเชียถัดจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

มีการวิเคราะห์กันว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนไต้หวัน พัฒนาประเทศได้อย่างก้าวหน้ามากในช่วงเวลาค่อนข้างสั้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันบีบคั้นทำให้คนไต้หวัน และรัฐบาลไต้หวันต้องถีบตัวทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่ชักช้า นั่นก็คือ

๑. ภัยจากธรรมชาติ
เนื่องจากหมู่เกาะไต้หวันตั้งอยู่ในแนวภูเขาไฟ จึงเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหวอยู่เสมอๆ ทั้งใหญ่ และเล็ก ล่าสุดปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตอนใต้ของเกาะ มีผู้เสียชีวิตกว่า ๒,๐๐๐ คน บาดเจ็บอีกหลายพันคน นอกจากนี้ ไต้หวันยังต้องเผชิญกับไต้ฝุ่นทุกปี ปีละหลายๆ ลูก ยังความเสียหายให้แก่ชาวไต้หวันมาโดยตลอด

๒. ภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่

จีนแผ่นดินใหญ่จ้องจะรวมจีนไต้หวันให้เป็นจีนเดียวมาโดยตลอด ตั้งแต่พรรคก๊กมินตั๋งอพยพมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นใหม่ๆ จนถึงปัจจุบัน
ด้วยภัยคุกคามข้างต้น มีผลทำให้ชาวจีนไต้หวันต้องเพิ่มความขมีขมันขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ ถีบตัวสร้างชาติให้เจริญก้าวหน้าเพื่อเอาชนะภาวะคุกคามทั้งหลายอย่างไม่ย่อท้อ ไม่สิ้นหวังและไม่ยอมจำนนต่อปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ตรงหน้าแบบที่เรียกว่า "สู้ยิบตา" ก็ว่าได้

ส่วนปัจจัยด้านบวกอื่นๆ ที่มีส่วนทำให้จีนไต้หวันเจริญก้าวหน้าก็มีหลายประการ ได้แก่ การที่คนไต้หวันที่อพยพลี้ภัยคอมมิวนิสต์มาจากแผ่นดินใหญ่ราว ๒ ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นระดับนำ ระดับมันสมอง มีการศึกษาระดับดี จบการศึกษามาจากต่างประเทศจำนวนไม่น้อย มีจิตวิญญาณเลือดนักสู้ นักเผชิญภัย และมีบุคลิกของชาวจีนที่ขยันขันแข็ง ใฝ่เรียนรู้ หนักเอาเบาสู้เป็นพื้นอยู่แล้ว

ในช่วง๕๐ ปีเศษมานี้ จีนไต้หวันพัฒนาโดยมุ่งปฏิรูปเรื่องสำคัญๆ สรุปได้ ๔ เรื่อง คือ
๑. ปฏิรูปที่ดิน
๒. ปฏิรูปทางการเมือง
๓. ปฏิรูปเศรษฐกิจ
๔. ปฏิรูปการศึกษา สังคมและวัฒนธรรม

๑. การปฏิรูปที่ดิน
ในช่วงบุกเบิกของรัฐบาลเจียงไคเช็กซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการ ได้ทำการเรียกศรัทธาและความเชื่อมั่นจากประชาชนโดยเร่งดำเนินโครงการจัดสรรและปฏิรูปที่ดินเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถทำสำเร็จในเวลาเพียง ๔-๕ ปี ทำให้เกิดความเป็นธรรมในฐานการผลิตและที่อยู่อาศัยของผู้คนไต้หวัน มาจนถึงทุกวันนี้

๒. การปฏิรูปทางการเมือง
แม้รัฐบาลเจียงไคเช็กเป็นรัฐบาลเผด็จการ แต่ก็รู้ดีว่าจุดอ่อนสำคัญของรัฐบาลส่วนใหญ่คือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เขาจึงพยายามปิดจุดอ่อนเหล่านี้เพื่อสร้างการยอมรับแก่ประชาชนทั้งที่อพยพมาด้วยกันและคนส่วนใหญ่ (๑๒ ล้านคน) ที่อาศัยอยู่ในไต้หวันมาก่อนแล้ว ในขณะเดียวกันก็เตรียมการสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในที่สุดก็ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตย มี รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มีระบบ ๕ อำนาจคือ (๑) สภานิติบัญญัติ (๒) สภาตุลาการ (๓) สภาบริหาร (๔) สภาตรวจสอบและคัดเลือกบุคลากรของรัฐ (๕) สภา ควบคุมสูงสุด (โดยทั่วไปประเทศตะวันตกจะใช้ระบบ ๓ อำนาจ)

๓. การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ
ไต้หวันประสบความสำเร็จสูงมากในการปฏิรูปเศรษฐกิจ จนบางคนเรียกว่าเป็น "เศรษฐกิจมหัศจรรย์" เนื่องจากไต้หวันมีพื้นที่น้อย แถมยังใช้ในการ เกษตรได้ไม่ถึง ๑ ใน ๓ รัฐบาลจึงหาแนวทางสร้างเศรษฐกิจแนวอื่น ประกอบกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทั้งเงินทุน วิทยาการ และเทคโนโลยี จึงเกิดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ๑๐ โครงการ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๑๖ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น โครงการโครงข่ายทางด่วนเหนือจดใต้ เส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้า ท่าเรือที่ทันสมัย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสมัยใหม่ ถ่าย
โอนเทคโนโลยีชั้นสูงเข้าประเทศโดยร่วมทุนกับอุตสาหกรรมต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และซื้อลิขสิทธิ์ หรือแบบพิมพ์เขียวสำหรับเทคโนโลยีมาใช้และพัฒนาต่อยอดเป็นของตนเอง มีการตั้งอุทยานเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม และอื่นๆอีกมากมาย ทำให้พัฒนาการอาชีพของคนไต้หวันเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ (ดูตาราง)
 

อาชีพ๒๔๙๓
(ร้อยละ)
๒๕๓๐
(ร้อยละ)
๒๕๔๗
(ร้อยละ)
งานเกษตร๒๗.๔๔.๙๑.๗
งานบริการ๔๖.๐๕๒.๒๖๘.๘
งานโรงงาน๒๖.๖๔๒.๙๒๙.๕


มีผลทำให้ผลผลิตมวลรวมประชาชาติเติบโตถึง ๗๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๒๑ นอกจากนี้ ยังพบว่าการกระจายรายได้มีความเป็นธรรมค่อนข้างสูง ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนห่างกันไม่มาก ปัจจุบันถือได้ว่าไต้หวันเป็นประเทศที่ไม่มีคนยากจน (รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี ๑๓,๒๐๐ เหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จาก ๑๔๐ เหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. ๒๔๙๒

๔. การปฏิรูปการศึกษา สังคมและวัฒนธรรม
ไต้หวันเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้วยมองว่า "ความรู้คือพลังอำนาจ" จึงมีการส่งเสริมการศึกษาทั้งในประเทศและการส่งนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศ มีผลทำให้คนไต้หวันมีระดับการศึกษาค่อนข้างดี ประกอบกับเป็นคนที่มีนิสัยชอบการค้าขายอยู่เป็นทุนเดิม จึงทำให้คนไต้หวันเป็นผู้ประกอบการ มีธุรกิจของตนเองกันมาก และกำลังเดินทางออกไปทำธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ประมาณว่ามีนักธุรกิจไต้หวันและครอบครัวเดินทางมาทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยราว ๑๕๐,๐๐๐ คน
ในแง่ของสังคมไต้หวันให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความเป็นระเบียบเรียบร้อย วินัยของผู้คนเพื่อสร้างความสงบสุขมากขึ้นตามลำดับ

ในด้านวัฒนธรรม นับว่าไต้หวันมีทุนทางวัฒนธรรมสูงมาก สะสมมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่สมัยที่อพยพมาและยังคงรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง
ชาวไต้หวัน ร้อยละ ๙๓ นับถือศาสนาพุทธ (นิกายมหายาน) ขงจื๊อและเต๋า ร้อยละ ๔.๕ นับถือคริสต์ และร้อยละ๒.๕ นับถือศาสนาอื่น

มีการวิจัยพบว่าปัจจุบันมีศาสนานิกายต่างๆ และความเชื่อต่างๆ ในไต้หวันกว่า ๒๐๐ ความเชื่อ และพบว่าองค์กรทางศาสนาเหล่านี้เองได้กลายเป็นกลุ่มมหาอำนาจด้านจิตใจของคนไต้หวันอย่างสำคัญ ดังนั้น แม้ไต้หวันจะพัฒนาไปทางอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างมาก แต่สังคมไต้หวันก็ยังผูกโยงด้านจิตวิญญาณและชีวิตอยู่กับศาสนธรรมอย่างเหนียวแน่น ซึ่งนับเป็นจุดเด่นที่สำคัญของไต้หวัน

จุดเด่นตรงนี้จึงทำให้ศูนย์คุณธรรมเกิดความสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้ จึงได้ส่งคณะไปศึกษาดูงาน และผมก็ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในคณะดูงานนั้น เมื่อได้ดูแล้วก็รู้สึกประทับใจอย่างยิ่ง จนต้องกลับมาเขียนเล่าสู่กันอ่านอยู่นี่ โดยฉบับนี้เป็นการปูพื้น ตั้งแต่ฉบับหน้าเป็นต้นไป จะเขียนถึงเรื่องของมูลนิธิพุทธฉือจี้โดยตรง

สรุปประวัติศาสตร์ไต้หวันโดยย่อ
๒๑๖๗
ดัตช์ยึดครอง

๒๑๖๙
สเปนมาแย่งไปครอง

๒๑๘๔
ดัตช์ยึดกลับมาครอง

๒๒๐๓
ราชวงศ์หมิงและแมนจูมายึด ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน)

๒๔๓๘
ญี่ปุ่นยึดไปจากจีน

๒๔๕๕
ดร.ซุนยัดเซ็น สถาปนา "สาธารณรัฐจีน" หลังล้มราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ

๒๔๘๐
จีนเปิดศึกใหญ่กับญี่ปุ่น

๒๔๘๘
สงครามต่อต้านญี่ปุ่นนาน ๘ ปี ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก ครั้งที่ ๒ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเรืองอำนาจ จีนแผ่นดินใหญ่มีสิทธิเหนือหมู่เกาะไต้หวัน

๒๔๙๒
พรรคก๊กมินตั๋งของ ดร.ซุนยัดเซ็น พ่ายแพ้จีนคอมมิว-นิสต์ จึงอพยพกันมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ไต้หวัน (อพยพคนมาจากจีนแผ่นดิน ใหญ่ ๒ ล้านคน มีคนอาศัย อยู่ก่อนแล้วราว ๑๘ กลุ่ม ประมาณ ๑๒ ล้านคน)

๒๕๑๔
จีนไต้หวันเสียสมาชิกภายใน สหประชาชาติ

๒๕๒๑
สหประชาชาติรับรองจีนเดียว คือจีนแผ่นดินใหญ่

๒๕๒๒
เจียงไคเช็กประธานาธิบดีคน แรกถึงแก่กรรม เจียงจิ้งกั๊วะ ลูกชายขึ้นปกครองแทน

๒๕๓๙
หลี่เต็งฮุยได้เป็นประธานาธิบดี จากการเลือกตั้งคนแรก (หลังยกเลิกกฎอัยการศึกและมีรัฐธรรมนูญใช้)

๒๕๔๓
เฉินสุ่ยเปียน ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ ๕ (ได้เป็นโครงการเลือกตั้งคนที่ ๒, ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับเลือกเป็น สมัยที่ ๒)

 

ข้อมูลสื่อ

322-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 322
กุมภาพันธ์ 2549
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ