• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มื้อเล็ก(บางครั้ง)ดีกว่ามื้อใหญ่

มื้อเล็ก(บางครั้ง)ดีกว่ามื้อใหญ่
 

คนที่อ้วน (แบบไม่ตั้งใจ) มักจะโทษอาหารจุบจิบที่ตัวเองกินเข้าไปในแต่ละวันเสมอ ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้อ้วน แต่เชื่อหรือไม่ว่าการกินอาหารลักษณะนี้มีผลช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีสุขภาพดีขึ้นได้ แต่ข้อสำคัญจะต้องกินอย่างถูกวิธีด้วย

จากผลการศึกษาครั้งล่าสุดพบว่าคนไข้โรคเบาหวานที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลินเพียงแต่รักษาด้วยการกินยา จำนวน 12 คนมีอาการดีขึ้น โดยการทดลองครั้งนี้ได้แบ่งเวลาการทดสอบออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกให้กินอาหารวันละ 2 มื้อ และแต่ละมื้อเพียบพร้อมไปด้วยอาหารครบถ้วนเหลือเฟือแล้วมีการวัดระดับอินซูลินทุกๆ วัน

ช่วงต่อมาจึงให้กลุ่มทดลองกลุ่มนี้เปลี่ยนไปทดลองแบบใหม่ โดยแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ 6 มื้อต่อวันในปริมาณที่เท่ากับ 2 มื้อใหญ่ในช่วงแรก แล้วมีการวัดระดับอินซูลินทุกๆ วันเช่นกัน

ผลการวัดที่ได้เมื่อนำมาเทียบกับระดับอินซูลินในช่วงแรก พบว่า ระดับอินซูลินของช่วงแรกขึ้นลงรวดเร็วมาก ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ทางวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบการกินอาหารมื้อหนักๆ เหมือนกับการเหวี่ยง

บูมเมอแรง ยิ่งเหวี่ยงไปแรงเท่าไหร่ แรงเหวี่ยงกลับก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น จากผลแบบเดียวกันนี้ จึงทำให้ระดับอินซูลินขึ้นลงในช่วงแรกแตกต่างกันถึงร้อยละ 84 และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นลงอย่างรวดเร็วตามระดับอินซูลินไปด้วย

ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันท่านหนึ่งจากสถาบันวิจัยโรคเบาหวานกล่าวว่า “ การแบ่งมื้ออาหารให้เป็นมื้อเล็กๆ ไม่กินหมดภายในครั้งเดียว จะทำให้ระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือดเป็นปกติ การที่ระดับอินซูลินมีผลเสียต่อร่างกายหลายประการ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเบาหวานอาจจะมีผลต่อโรคหัวใจร่วมด้วย “
 

ข้อมูลสื่อ

177-002-4
นิตยสารหมอชาวบ้าน 177
มกราคม 2537
เรารักสุขภาพ
นพ.อำนาจ บาลี