• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทางเลือกใหม่ของคนกลัวเข็มฉีดยา

ทางเลือกใหม่ของคนกลัวเข็มฉีดยา

นับจากนี้ไปอีกไม่นานนัก การฉีดยาชาเพื่อทำฟันบางอย่างบางชนิดจะถูกยกเลิกไป เนื่องจากจะมีการนำวิธีการใหม่ ที่ไม่ต้องอาศัยเข็มฉีดยามาใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะในวงการทันตแพทย์ เพื่อทำให้คนไข้ชาได้เช่นเดียวกับการฉีดยาชา เรื่องนี้คงเป็นข่าวดีสำหรับคนที่กลัวการฉีดยาชาอย่างแน่นอน

วิธีการใหม่ที่ว่านี้เรียกว่า Dental Electronic Anesthesia แปลว่า การทำให้ชาด้วยกระแสไฟฟ้าในงานทันตกรรม ถ้านึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ก็ลองนึกถึงภาพการผ่าตัดคนไข้โดนวิธีฝังเข็มและกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าแบบของหมอจีน สามารถทำการผ่าตัดตั้งแต่สมองลงไปจนถึงการผ่าตัดภายในช่องท้องได้สบายๆ รวมทั้งการอุดฟัน ถอนฟันด้วย แต่ในประเทศอื่นไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก เพราะความกลัวต่อเข็มนั้นเองที่เป็นอุปสรรคสำคัญ

มาบัดนี้ได้มีการประดิษฐ์เครื่องมือที่อาศัยการกระตุ้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า (ชนิดตรง) ผ่านทางผิวหนัง (Transcutaneous electricalnerve stimuli) เพื่อทำให้เกิดอาการชาที่เหงือกและฟันได้ โดยเพียงแต่ติดขั้วไฟฟ้าไว้กับผิวหนังบริเวณรอบปาก ณ จุดใดจุดหนึ่งที่ต้องการแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาดต่ำๆ เข้าไปทางขั้วไฟฟ้านั้น โดยวิธีการเช่นนี้คนไข้จะสามารถรับการอุดฟันหรือขูดหินน้ำลายได้โดยไม่รู้สึกเสียวฟัน ซึ่งสามารถอธิบายเกี่ยวกับกลไกการชาที่เกิดขึ้นนี้ได้โดยทฤษฎีที่เรียกว่า Gate theory กล่าวคือ กระแสไฟฟ้าที่ส่งผ่านเข้าไปทางผิวหนังจะกระตุ้นให้เกิดกระแสประสาท (ซึ่งเป็นกระแสไฟฟ้าอีกนั้นแหละ) วิ่งไปสู่ศูนย์ควบคุมความเจ็บปวดในสมอง แล้วทำให้เกิดกลไกคล้ายการปิดประตูไม่ให้กระแสประสาทที่เกี่ยวกับความรู้สึกเจ็บปวดผ่านเข้าไปยังศูนย์ดังกล่าวได้

นอกจาก Gate theory แล้วยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่า การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นดังกล่าวนั้น จะทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีชนิดหนึ่งชื่อ เอ็นดอร์ฟินออกมาช่วยระงับความเจ็บปวดได้ ทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นกับนักวิ่งมาราธอน ทำให้เขาสามารถวิ่งได้ไกลโดยไม่รู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในขณะนั้นเลย

ข้อดีของวิธีการใหม่ที่ว่านี้ที่เห็นชัดๆ คือ ไม่ต้องมีการฉีดยาชาด้วยเข็ม ทำให้เกิดผลดีตามมาอีกหลายอย่างได้ เช่น

- ขจัดการเกิดความกลัวและความกังวลต่อเข็มออกไปได้

- ทำให้คนไข้ยินดีรับการทำฟันได้โดยง่ายขึ้น

- ทำให้หลีกเลี่ยงจากความรำคาญอันเกิดจากฤทธิ์ยาชาที่ยาวนานโดยวิธีการฉีด ทำให้คนไข้เพลิดเพลินกับการทำฟันได้ เพราะคนไข้จะเป็นผู้ควบคุมความเจ็บปวดด้วยตัวเอง โดยการปรับระดับกระแสไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้นด้วยการหมุนปุ่มปรับแรงดันไฟฟ้าด้วยนิ้วมือตนเองเมื่อไร และอย่างไรก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการใช้วิธีการใหม่นี้มีอยู่เช่นกัน ได้แก่

1. ไม่อาจใช้ได้ในกรณีของการถอนฟัน การกรอฟันลึกๆ การผ่าตัดในช่องปาก เพราะความรู้สึกชาที่ได้ไม่ลึกพอ

2. ห้ามใช้ในคนไข้ที่ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ ฝังเครื่องช่วยฟังในกระดูกหู คนไข้โรคหลอด
เลือดของสมอง คนไข้โรคลมชัก หญิงมีครรภ์

3. ไม่อาจใช้ในเด็กหรือผู้ที่มีมือพิการ เพราะไม่สามารถควบคุมเครื่องมือได้

4. ค่าใช้จ่ายในการใช้จะสูงขึ้นมากหลายเท่าของการฉีดยาชา จึงไม่เหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการจ่ายเพิ่ม
เป็นไงครับ รู้อย่างนี้แล้วท่านจะเลือกวิธีเก่าหรือวิธีใหม่ดีล่ะครับ

 

ข้อมูลสื่อ

177-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 177
มกราคม 2537