• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หมอยาพื้นบ้าน

หมอยาพื้นบ้าน

สมัยรุ่นคุณตายังหนุ่ม คุณย่ายังสาว การแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าปัจจุบันนี้ หากย้อนไปมองในยุคนั้นก็จะพบว่า แต่ละชุมชนมักจะมีผู้ที่มีความรู้เรื่องวิธีรักษาโรค รู้เรื่องยาดีที่สุด หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หมอยา“ ประจำอยู่ เมื่อเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะได้หมอยานี่แหละที่บรรเทาเบาบางอาหารเจ็บไข้ให้ แต่ถึงเดี๋ยวนี้สภาพสังคมเปลี่ยนไปวิถีชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนไปความเชื่อในการพึ่งหมอยาซึ่งรักษาด้วยวิธีตามแบบพื้นบ้านที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษเริ่มจางหายไป แต่กลับหันไปใช้วิธีที่รักษาได้รวดเร็วกว่านั้น คือ การพึ่งยาชุดยาซอง โดยไม่สนใจว่าผลข้างเคียงที่ตามมาจากยาเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร หากความคิดเช่นนี้ หยั่งรากลึกลงไปในจิตสำนึกของทุกคนแล้ว ก็นับว่าน่าเป็นห่วง สำหรับ “หมอยาพื้นบ้าน“ ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านหันมารักษาตนเองด้วยการใช้ยาพืชสมุนไพรแทนการใช้ยาชุดยาซอง ไปฟังเธอเล่าถึงชมรมนี้กันเลยดีกว่า

“แรกทีเดียวเราเริ่มทำกองทุนยาก่อน เพื่อให้ชาวบ้านเลิกใช้ยาชุดยาซอง ก็มองเห็นว่า ชาวบ้านเขารู้จักต้นไม้เยอะแยะในเรื่องสมุนไพร การพึ่งตนเองในการรักษาโรคก็มีอยู่ในชุมชนแล้ว จึงมองไปที่คุณค่าดั้งเดิมและภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่

ทีนี้ก็คิดว่า สมุนไพรก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของการพึ่งพาธรรมชาติ ก็เลยวกมาถึงเรื่องของวัฒนธรรมกับเรื่องของธรรมชาติที่ถูกทำลาย เราก็เลยมาคุยกันว่า น่าจะส่งเสริมให้เรื่องที่เขามีอยู่ คือ เรื่องหมอยาพื้นบ้านส่งเสริมบทบาทของภูมิปัญญาชาวบ้าน ตอนที่เราเริ่มตั้งชมรมเมื่อปี 2526 นั้นเราไม่มีความรู้อะไรเลยในเรื่องสมุนไพร ก็ระดมกันในกุดชุมว่ามีหมอพื้นบ้านที่ไหนบ้างที่มีความรู้ในเรื่องนี้ ตอนใหม่ๆ มีหมอยาพื้นบ้านแค่ 3 คน แต่ถ้าพูดกันจริงๆ แล้วชาวบ้านเขาก็ใช้สมุนไพรรักษาโรคง่ายๆ อยู่แล้ว เช่น ท้องร่วง ท้องผูก ท้องอืด แต่ถ้าเขาเป็นกันมากถึงขั้นหนี่ง เขาก็จะรู้ว่าเขาต้องหาหมอพื้นบ้าน เขาจะรู้ว่าโรคที่เขาเป็นเขาควรหาหมอพื้นบ้านหรือพึ่งหมอแผนปัจจุบัน ก็เป็นทางเลือกที่ชาวบ้านเขาสามารถที่จะเลือกได้

ปัญหาแรกๆ ที่พบ ก็คือ หมอยาส่วนใหญ่จะหวงความรู้ ใหม่ๆ ที่เรามาเล่าเรื่องสมุนไพร เขาจะไม่ไว้ใจเราเลย เขาจะมองว่าเราเป็นแผนปัจจุบัน ตอนแรกก็ไม่ค่อยกล้าที่จะเล่าเรื่องนี้ แต่พอเขาคุ้นเคยกับเรา ก็มั่นใจพอที่จะมา กลุ่มชาวบ้านที่สนใจหาหมอพื้นบ้านก็เข้ามาเรื่อยๆ จนตอนนี้ทั้งหมอพื้นบ้าน ทั้งสมาชิกมีทั้งหมด 300 กว่าคน สมุนไพรตอนแรกก็มีอยู่ไม่ถึง 10 ชนิด ก็ระดมจากผู้ที่สนใจเอามาปลูก ส่วนหนึ่งก็ทำเรื่องขอผู้อำนวยการ ตอนหลังท่านเห็นด้วยก็ให้ทำสมุนไพรอยู่ในโรงพยาบาล จนขณะนี้มีไม่ต่ำกว่าร้อยชนิดแล้ว

ในตอนเริ่มแรกการใช้สมุนไพรเราจะใช้สด เพราะเรามีปัญหาในเรื่องขีดความรู้เรื่องการใช้ยา แต่ถ้าเป็นประสบการณ์การใช้ของชาวบ้านก็มั่นใจ ใหม่ๆ ก็ยังไม่กล้าส่งเสริมเต็มที่ แต่ก็ไม่ขัดขวาง ก็มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน พวกพี่มักใช้เป็นยาต้ม มีอยู่ 3-4 ตัว ก็มีว่านหางจระเข้ เสลดพังพอน มียาอยู่ตัวหนึ่งที่เรากล้าส่งเสริม คือ ปวกหาดฆ่าพยาธิตัวตืด เขาสกัดจากต้นปวกหาด ก็เอามาต้นเคี่ยวจนงวด เหลือแต่ผลึก ยาตำรับนี้เป็นของพ่อฉลอง ทองเฟื่อง ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากปู่อีกทีหนึ่ง แล้วพ่อเขาจะใส่ยาตัวอื่นด้วย จะเห็นว่ายาพื้นบ้านมักไม่ใช่ยาเดี่ยวๆ

งานหลักของชมรมไม่ได้ทำหน้าที่รักษา เวลาชาวบ้านเป็นอะไรจะไปหาหมอยาตามหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านที่เขาไม่ยากยุ่งยาก เวลาเป็นอะไรเขาจะมาขอยา เราก็ต้องเตรียมตรงนี้ไว้ให้เขา อย่างขมิ้นนี้ต้องปลูก พอตอนหลังภาระเริ่มจะมากขึ้น ก็ต้องให้เขาไปปลูกเอาเองด้วย ชมรมจะทำเฉพาะการให้ข้อมูลและเป็นตัวประสานที่จะเชื่อมระหว่างหมอยาพื้นบ้านกับสมาชิกผู้สนใจว่าจะเรียนรู้จากหมอยาพื้นบ้านอย่างไร ตอนแรกก็หาวิธีการ เช่น ขึ้นครูบ้าง ไปศีกษาสมุนไพรบ้าง หรือพาสมาชิกไปดูงานที่โน่นที่นี่ ทางภาคตะวันออก

พอปี 27 ก็เริ่มรู้จักกับผู้ใหญ่ วิบูลย์ เข็มเฉลิม รู้จักกับโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ก็มีการแลกเปลี่ยนกัน และการพัฒนาสมาชิกด้านความรู้ แล้วเราก็เน้นในเรื่องของการพึ่งตนเองมากกว่า และจะเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนได้อย่างไร อย่างในกลุ่มก็มีการดื่มน้ำสมุนไพรกัน ก็คิดว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ  สมุนไพรอาจถือได้ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา วันเวลาที่ผ่านมาย่อมเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า ภูมิปัญญาในการรักษาตามแบบแผนพื้นบ้านของไทยเรามีคุณค่าเพียงใด และเมื่อเป็นมรดกอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษเราได้สั่งสมสืบต่อกันมานานเช่นนี้ ถ้าคนในรุ่นเราละเลยไม่หยิบฉวยประสบการณ์เหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งที่มีทรัพยากรใกล้ตัวอยู่มากมายอย่างนี้เรียกว่า ฉลาดน้อยไปหรือเปล่า
 

ข้อมูลสื่อ

177-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 177
มกราคม 2537
ทานตะวัน