• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไส้ติ่งแตก

หลายจังหวัดในประเทศไทยยังมีพื้นที่ทุรกันดารมากมาย ห่างไกลความเจริญ การคมนาคม การติดต่อสื่อสารยากลำบาก มีปัญหาต่างๆ เช่น โรคภัยไข้เจ็บ ภัยธรรมชาติ ซึ่งประชาชนเหล่านั้นต้องเผชิญชีวิตและทุกข์ทรมานจากสิ่งต่างๆรอบตัว บางครั้งถึงกับล้มตายด้วยสาเหตุเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก

                                       

ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือพนักงานอนามัย ซึ่งได้มีโอกาสเข้าไปฝึกงานในพื้นที่ซึ่งค่อนข้างทุรกันดารสักหน่อย เป็นหมู่บ้านซึ่งล้อมรอบเทือกเขาไม่ใหญ่นัก ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 40กิโลเมตร ทางเข้าหมู่บ้านเป็นทางเกวียนเล็กๆใช้ได้เฉพาะฤดูแล้ง ส่วนในฤดูฝน จะดูเหมือนว่าถูกตัดขาดจากโลกภายนอก การสัญจรไปมาของชาวบ้านจะใช้เกวียนและรถจักรยานเก่าๆไปมาหาสู่กันในหมู่บ้าน ส่วนการเข้าตัวอำเภอหรือจังหวัดนั้นไม่นิยมเข้ากันเพราะต้องใช้เวลานานและไม่มีรถที่จะต้องเข้าไป ชาวบ้านบางคนยังไม่รู้จักตัวจังหวัดก็ยังมีอยู่

ชีวิตความเป็นอยู่เขาอยู่กันอย่างง่ายๆ มีอาชีพปลูกไร่ โดยเฉพาะข้าวโพดและอ้อยน้ำตาล เลี้ยงสัตว์บ้างเล็กน้อย ปลูกบ้านอยู่กันเป็นกลุ่ม อยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน ยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ กลางคืนจะใช้ตะเกียงหรือสุมไฟเพื่อให้แสงสว่าง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำของหมู่บ้าน มีสถานีอนามัยแห่งหนึ่งมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำให้บริการตรวจรักษาโรคและให้คำปรึกษาต่างๆแก่ชาวบ้าน ทั้งด้านการสาธารณสุข การเกษตร กฎหมาย และปัญหาอื่นอีกมากมาย ชาวบ้านให้ความเคารพและนับถือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคนนี้มาก พร้อมใจกันเรียกว่า “คุณหมอ” ไม่ว่าใครจะเป็นอะไรสามารถเรียกใช้บริการที่สถานีอนามัยได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุดราชการ

ข้าพเจ้าเดินทางไปฝึกงานภาคสาธารณสุขชุมชนที่หมู่บ้านนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน จึงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากครูพี่เลี้ยงและชาวบ้านในฐานะ “หมอใหม่” การปฏิบัติงานเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เดินทางไปถึง

สิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นคือ คนไข้นั่งรอรับการตรวจรักษาที่สถานีอนามัยเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ลูกเล็กเด็กแดง เจ้าหน้าที่ซึ่งมีฐานะเป็นครูพี่เลี้ยงของข้าพเจ้าปฏิบัติงานชนิดที่เรียกว่า “มือไม่ว่าง” จากการสอบถามครูพี่เลี้ยงของข้าพเจ้าได้ความว่า ชาวบ้านหมู่บ้านนี้มีปัญหาด้านโรคภัยไข้เจ็บสูง ขาดการดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตนเอง

ข้าพเจ้าไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ได้ประโยชน์อะไร ข้าพเจ้าเริ่มทำการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน โดยเดินสำรวจทุกหลังคาเรือน เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถิติอาชีพ โรคภัยไข้เจ็บ การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ภาวะโภชนาการ สภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งใช้เวลาสำรวจ 2 สัปดาห์เต็ม ได้ข้อมูลต่างๆที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพอนามัยค่อนข้างละเอียด การปฏิบัติงานดำเนินไปตามปกติ มีคนไข้มารับการตรวจรักษามากพอสมควร

วันนั้นข้าพเจ้าปฏิบัติงานตามลำพังบนสถานีอนามัย มีคนไข้ชายรายหนึ่งมาด้วยอาการปวดท้องมาก จากการซักประวัติโดยการสอบถามคนไข้ได้ความว่า เริ่มปวดท้องตั้งแต่เช้ามืด ปวดเป็นพักๆ รอบสะดือคล้ายท้องเดินแต่ถ่ายไม่ออก ต่อมาอีกประมาณ 3 ชั่วโมง ก็มีอาการปวดที่ท้องน้อยด้านขวา ปวดตลอดเวลา เคลื่อนไหวตัวไม่ได้เพราะทำให้ปวดมากขึ้น ทำให้รู้ทันทีว่า “ไส้ติ่งอักเสบ” คนไข้ปวดทุรนทุรายมาก ร้องโอดครวญตลอดเวลา ข้าพเจ้าตัดสินใจฉีดยาระงับอาการปวดให้หนึ่งเข็ม แล้วไปหารถยนต์เพื่อส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ

ตลอดทางที่ข้าพเจ้านำคนไข้ส่งโรงพยาบาล ในสมองของข้าพเจ้ามีความคิดสับสนมากด้วยความเป็นห่วงคนไข้ เพราะสภาพทางเกวียนย่ำแย่มาก รวมทั้งระยะทางไกลมาก กว่าจะถึงโรงพยาบาลอำเภอ ข้าพเจ้าขับรถด้วยความระมัดระวัง ถ้าขับเร็วก็ไม่ได้ จะขับช้าก็ไม่ดี เพราะอยากจะให้คนไข้ถึงมือแพทย์โดยเร็วเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ข้าพเจ้าระลึกเสมอว่า หน้าที่ของบุคลากรสาธารณสุข คือ “ทำให้คนไข้ของเราได้รับความสุข ช่วยให้พวกเขาหายจากความเจ็บป่วย และฟื้นคืนความแข็งแรงขึ้นมาในเร็ววัน” ระยะเวลา 2 ชั่วโมงเต็มที่พาคนไข้ส่งโรงพยาบาล ในที่สุดก็มาถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอแพทย์และพยาบาลก็รับตัวไว้ทำการผ่าตัด

วันรุ่งขึ้นข้าพเจ้ามาเยี่ยมคนไข้ที่โรงพยาบาลก็พบว่าคนไข้ฟื้นแล้วพูดคุยได้แต่ยังอ่อนเพลียอยู่บ้างเป็นธรรมดา ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสพูดคุยกับญาติคนไข้ที่มาเฝ้าเสียเลย คือบอกให้เขารู้ถึงสาเหตุของไส้ติ่งอักเสบว่า โรคนี้เป็นอาการเฉียบพลันเกิดจากการอุดตันของไส้ติ่งหรือเกิดจากการอักเสบด้วยเชื้อโรค ซึ่งเมื่อเป็นแล้วต้องผ่าตัด มิฉะนั้นแล้วไส้ติ่งอาจแตกซึ่งเป็นอันตรายมาก จะต้องมาพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการผ่าตัด

รู้สึกว่าญาติคนไข้ให้ความสนใจเป็นอย่างดี ข้าพเจ้าจึงแนะนำต่อไปว่าถ้าหากมีอาการปวดที่ท้องน้อยข้างขวาหรือมีอาการอื่นก็ให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ที่ใกล้ที่สุดเพื่อทำการตรวจรักษา เพราะโรคนี้เป็นโรคเฉียบพลันอาจจะเกิดกับใครก็ได้และเกิดโดยไม่รู้ล่วงหน้า ทางที่ดีเราควรจะสนใจตัวเองให้มาก เพราะตัวเราเองสามารถรู้อาการของตนก่อนและดีกว่าผู้อื่น พึงระลึกไว้เสมอว่า “สนใจตัวเองมากเท่าไหร่ โรคภัยจะน้อยลง”

ไส้ติ่งอักเสบสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัดซึ่งเป็นวิธีที่นิยมกันในวงการแพทย์ ท่านไม่ต้องกลัวว่าผ่าตัดแล้วจะทำงานตามปกติไม่ได้ ปัจจุบันวงการแพทย์เจริญมาก อาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลยถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำ

อย่าลืมนะครับ ถ้าเกิดอาการผิดปกติเมื่อไร รีบไปปรึกษาหมอ...

 

ข้อมูลสื่อ

98-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
บุญรอด