• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาเสื่อมคุณภาพ

ยาเสื่อมคุณภาพ

สวัสดีครับอาหมอ ผมขอเรียนถามอาหมอเกี่ยวกับเรื่องยาเสื่อมอายุครับ คือ ผมเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงงานเล็กๆโรงงานหนึ่ง มีคนอยู่ประมาณ 30 กว่าคน ยาที่มีประจำตู้ยาส่วนใหญ่จะเป็นยาสามัญประจำบ้าน ถ้ามีการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ของโรงงาน ผมจะเป็นผู้ช่วยจัดยาให้แก่คนงานกิน ยาที่ใช้มากคือ ยาแก้ปวด ผมพบว่า มียาแอสไพรินกระป๋องหนึ่งเก็บไว้นาน เปิดออกมามีกลิ่นเปรี้ยวๆ ฉุนมาก คล้ายกับน้ำส้มสายชูและมีผลึกเกาะที่เม็ดยา ไม่ทราบว่ายาแต่ละรุ่นมีกลิ่นไม่เหมือนกันหรืออย่างไร กรุณาช่วยแนะนำให้ทราบด้วย

สมศักดิ์/กรุงเทพฯ

ตอบ คุณสมศักดิ์

ก่อนอื่นคงต้องบอกคุณสมศักดิ์อย่างเร็วว่า ยาแอสไพรินที่คุณถามมาว่า มีรสเปรี้ยวคล้ายกลิ่นน้ำส้มและมีผลึกเกาะที่เม็ดยานั้นมันไม่ใช่เรื่องรุ่นของยา แต่เป็นแอสไพรินที่เสื่อมคุณภาพแล้ว ให้ทิ้งไปเถอะครับอย่าเสียดาย ใครกินเข้าไปจะมีผลเสียต่อร่างกาย

ยาไม่มีรุ่น “บิ๊กเปรี้ยว บิ๊กขม” หรือ “บิ๊กหวาน” หรอกครับ ไม่ว่ารุ่นไหนๆ ยาจะต้องมีคุณสมบัติเหมือนกัน ต้องเข้าใจว่ายาไม่ใช่อาหารหรือสินค้าทั่วๆ ไปที่จะมาแต่งเติมให้คนแย่งกันซื้อหามีรุ่นใหม่รุ่นเก่า หรือแย่งกันซื้อกิน เพราะยามีไว้สำหรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แต่ปัจจุบันนี้ ความคิดการค้ากำไรและแข่งขันทางการค้ากำลังเข้าไปในวงการยา ทำให้มีการเติมแต่งสีสันรูปแบบ และรส เพื่อให้ผู้กินชอบอกชอบใจหรือติดใจในรสชาติจนคนปัจจุบันมองยาเป็นขนมและกินอย่างไม่ระมัดระวัง

พูดถึงเรื่องนี้ทำให้นึกถึงเพื่อนผมคนหนึ่ง เขาให้ทรรศนะเรื่องยาสมัยก่อนกับสมัยนี้ไว้น่าฟัง ก็ถือโอกาสนำมาเล่าต่ออีกที เขาว่าสมัยเมื่อยังเด็กๆ เวลาไม่สบายมักจะเจอยาต้มทั้งยาไทยยาจีนกินกันเป็นชาม ขมก็ขม เวลากินยาถ้างอแงไม่ยอมกิน คุณพ่อคุณแม่ต้องบีบจมูกเพื่อกรอกยา เรียกว่า ไม่อยากเจ็บป่วยอีกเลย ทำให้สมัยนั้นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันเวลารู้ตัวว่าจะไม่สบาย จะพยายามรักษาสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงให้เจ็บป่วย เพราะเจอยาเข้าไปทีเข็ดขี้อ่อนขี้แก่ ทำให้พยายามศึกษาการรักษาตนเองไปในตัว

เด็กปัจจุบันมักประมาทเพราะเวลาเจ็บป่วยก็มียาหวานๆ ให้กิน เวลาสบายๆก็กินแต่ของหวานๆ เวลาปากว่างๆ ก็ยังอมของ (ทอฟฟี่) หวานๆ ให้ฟันผุอีก เมื่อทุกอย่างหวานไปหมดจึงไม่รู้ถึงรสขมว่าความขมเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่ามีส่วนทำให้เรียนรู้ด้านเดียวไปด้วยหรือไม่

ก็ขอนำมาเล่าให้อ่านกัน เผื่อท่านผู้รู้ท่านอื่นๆ จะเขียนมาแลกเปลี่ยนกันอ่านบ้าง ฟังเพื่อนเล่าแล้วก็นึกถึงวัฒนธรรมเก่าๆ ที่คนเฒ่าคนแก่บอกว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” นั้น มีความหมายลึกซึ้งเหมือนกัน

หันกลับมาเรื่องยาแอสไพรินของคุณสมศักดิ์ต่อ ยาแอสไพรินเมื่อถูกความชื้นจะสลายตัวช้าๆ และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เม็ดยาอย่างช้าๆ คือ ค่อยๆเปลี่ยนคุณภาพเป็นกรดชนิดหนึ่ง โดยจะเกิดผลึกรูปเข็มเกาะอยู่ที่เม็ดยา ถ้ามีจำนวนน้อยๆ ก็ปัดให้เกลี้ยงก่อนแล้วจึงกิน

ถ้ามีผลึกมากและเปิดขวดได้กลิ่นเปรี้ยวๆ อย่างกับกลิ่นของกรดน้ำส้มก็คงเป็นเช่นเดียวกับขวดที่คุณสมศักดิ์พบเข้า แสดงถึงว่าตัวยาเริ่มสลายตัวกลายเป็นกรดชนิดหนึ่ง ซึ่งกรดนี้จะระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารและกระเพาะอาหาร ถ้ากินเข้าไปก็จะเกิดอาการอย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า กัดกระเพาะ ซึ่งปกติยาแอสไพรินก็มีผลข้างเคียงในการกัดกระเพาะอยู่แล้ว แต่ถ้าเสื่อมคุณภาพจะกัดหนักกว่าหลายเท่า ดังนั้น ให้ทิ้งยานั้นเสีย ยานั้นเมื่อเสื่อมคุณภาพแล้วก็ไม่มีผลในการใช้ลดไข้หรือแก้ปวดอีกต่อไป

การกินยาจึงต้องระมัดระวัง ไม่จำเป็นก็อย่าไปกินมันเลยครับ อย่าไปเชื่อตะพึดตะพือว่า มีแต่กินยาหรือฉีดยาเท่านั้น ที่จะรักษาโรคได้ ถ้าไม่เชื่อลองหาหนังสือชื่อ “เปลี่ยนชีวิต พิชิตมะเร็ง” อ่านดู จะรู้ว่าถ้าเปลี่ยนวิถีชีวิตการกินอยู่หลับนอนของตัวเองก็สามารถพิชิตโรคร้ายๆ อย่างมะเร็งได้

ข้อมูลสื่อ

121-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 121
พฤษภาคม 2532
108 ปัญหายา
อาหมอ