• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟันคุด

ฟันคุด

“โอย โอ๊ย ปวดฟัน”

“อ้าว คุณ เป็นอะไรไป กินยาแก้ปวดแล้วหรือยัง”

“ผมซื้อยาแก้ปวดมากิน 2-3 วันแล้วยังไม่ดีขึ้นเลย รู้สึกว่าจะปวดฟันมากขึ้นไปอีก ปวดเหมือนขากรรไกรปวดร้าวไปหมดทีเดียวแหละ”

“เอ ไหนคุณเคยคุยเสมอไม่ใช่เหรอว่า ฟันของคุณน่ะดีหมด ไม่มีฟันผุ เหงือกอักเสบใดๆ แล้วไหงคุณถึงได้ปวดฟันมากมายถึงขนาดนี้ล่ะ”

“ไม่รู้ซิ ผมก็คอยดูแลรักษาฟันอยู่เสมอมา แต่หมอฟันที่ผมไปตรวจเป็นประจำเคยแนะนำให้ผมไปถอนฟันคุด ซัก 2-3 ปีที่แล้ว แต่ผมเห็นว่ายังไม่มีอาการอะไร ก็เลยปล่อยไว้ก่อนเรื่อยมา”

“ท่าจะเป็นเจ้าฟันคุดที่ว่าเสียกระมัง ที่เป็นต้นเหตุให้คุณปวดฟันมากมายในครั้งนี้ ขนาดกินยาแก้ปวดแล้วยังไม่ดีขึ้น คุณคงต้องไปหาหมอฟัน ให้เขาถอนเจ้าฟันคุดนี้ออกเสียแล้วละ”

“โอย เข็ดจนตาย ไม่รู้ว่าเจ้าฟันคุดนี่มันจะมีฤทธิ์ทำให้ปวดฟันได้มากมายขนาดนี้”
 

  • “ฟันคุด” คืออะไร

โดยปกติ ฟันของคนเราจะงอกขึ้นมาในปากอย่างเป็นระเบียบ เรียงตัวกันเรียบร้อย เพื่อให้เหมาะกับงานบดเคี้ยว โดยฟันล่างก็งอกขึ้นบน และฟันบนก็ย้อยลงล่าง เพื่อให้สามารถสบฟันได้ ทั้งฟันหน้าและฟันหลัง

ในสภาวะที่ไม่ปกติ ฟันบางซี่งอกขึ้นมาในปากไม่ได้ โดยอาจไม่มีช่องว่างพอ หรือมีความผิดปกติของร่างกายบางประการที่เป็นผลให้หน่อฟันวางตัวไม่เป็นระเบียบ เมื่อถึงระยะเวลาที่ฟันจะงอกขึ้นมาในปาก ฟันซี่นั้นๆ ก็งอกตามปกติไม่ได้ เรียกว่า ฟันนั้นคุดอยู่ภายในกระดูกขากรรไกร ไม่สามารถงอกขึ้นมาในปากตามทิศทางปกติได้ จึงเป็นที่มาของศัพท์ “ฟันคุด”

แท้ที่จริงแล้ว ฟันคุดอาจเกิดกับฟันซี่ใดก็ได้ แต่ฟันที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ฟันกรามซี่สุดท้าย หรือฟันกรามซี่ที่สาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟันกรามล่างซี่สุดท้าย มีโอกาสเป็นฟันคุดได้มากที่สุด และเนื่องจากฟันซี่นี้มักจะงอกขึ้นมาในปากช้ากว่าฟันซี่อื่นๆ มาก โดยมักจะงอกหลังอายุ 18 ปี บางคนอาจงอกช้าจนอายุ 20-30 ปีก็ได้ และโดยที่ฟันซี่นี้งอกขึ้นมาเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว ฝรั่งจึงเรียกว่า “ฟันฉลาด หรือ wisdom teeth” และเป็นฟันที่สร้างปัญหาให้มากที่สุด เป็นสาเหตุของการปวดฟันได้มากที่สุด

ลักษณะของฟันคุดในฟันกรามล่างซี่สุดท้ายนี้ สามารถคุดอยู่ในกระดูกขากรรไกรล่างได้ต่างๆ กัน เช่น

- อาจตั้งตรงในลักษณะเดียวกับฟันล่างซี่อื่นๆ แต่ไม่มีที่ให้งอกขึ้นมาบนขากรรไกรได้ จึงคุดอยู่ข้างใต้ฟันข้างเคียง

- อาจนอนเอียงโดยเอาส่วนตัวฟันกรามล่างซี่สุดท้ายนี้ชนกับด้านข้างของฟันกรามล่างซี่ที่สอง ซึ่งอยู่ถัดมาทางด้านหน้า ลักษณะนี้จะเป็นปัญหามาก เพราะฟันกรามล่างซี่สุดท้ายที่เป็นฟันคุดนี้ อาจงอกได้เพียงบางส่วน ทำให้เศษอาหารไปเกาะติดหรืออุดบริเวณที่ส่วนตัวฟันชนกับฟันข้างเคียงนี้ เป็นผลให้ฟันข้างเคียงผุได้ง่ายขึ้น และถ้าได้รับการดูแลรักษาช้าเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุให้ต้องสูญเสียฟันกรามล่างซี่ที่สองอีกซี่หนึ่ง นอกเหนือไปจากฟันกรามล่างซี่สุดท้ายที่เป็นฟันคุดด้วย

- อาจนอนขวางเต็มที่ทั้งซี่ฟันซึ่งไม่มีทางงอกขึ้นมาบนขากรรไกรได้เลย โดยทั่วไปมักจะชนกับฟันข้างเคียงด้วย

  • ทำไมฟันคุดจึงมีอาการปวดได้รุนแรงนัก

ไม่ว่าจะเป็นฟันคุดในลักษณะใดก็ตาม มักเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดฟันอย่างรุนแรงได้เสมอ ทั้งนี้เนื่องจากฟันคุดที่อยู่ภายในกระดูกขากรรไกรนี้ อาจไปกดทับประสาทหรือเส้นเลือดข้างใต้ฟัน หรืออาจเกิดจากฟันคุดที่งอกได้บางส่วน แต่ยังคงมีส่วนของเหงือกปกคลุมอยู่ด้านบน เหงือกส่วนนี้ไม่ได้รัดแน่นกับตัวฟันตามปกติ มีช่องว่างระหว่างตัวฟันคุดบางส่วนกับเหงือก ทำให้เศษอาหารเข้าไปอุดภายในช่องว่างนี้ และทำความสะอาดไม่ได้ทั่วถึง ในบริเวณนี้ก็อาจติดเชื้อจากเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่างๆในช่องปาก ทำให้เกิดการอักเสบ และเป็นสาเหตุของการปวดฟันได้รุนแรงมากประการหนึ่ง

การปวดฟันจากฟันคุด อาจเกิดจากบริเวณตัวฟันคุดที่โผล่งอกขึ้นมาบางส่วน และไปชนกับฟันกรามซี่ข้างเคียง เนื่องด้วยบริเวณตัวฟันด้านบดเคี้ยวของฟันกราม มักเป็นลักษณะเป็นหลุมและร่องฟัน จึงเป็นที่กักเศษอาหารได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อไม่ได้ใช้ในการบดเคี้ยวตามปกติ บริเวณนี้จึงเกิดฟันผุได้ง่าย และถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ฟันผุอาจลุกลามมากจนทะลุประสาทฟัน เป็นสาเหตุให้ปวดฟันอีกประการหนึ่งด้วย

การปวดฟันคุดที่รุนแรงมากเนื่องจากแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้ง่ายนัก เพราะเป็นบริเวณซอกมุมที่เล็กและซับซ้อน เป็นที่กักเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ จำนวนมากได้ง่าย การอักเสบจึงรุนแรงตามไปด้วย และมักไม่มีอาการชัดเจนเมื่อไม่รุนแรงมาก จะรู้ตัวอีกทีก็เมื่ออักเสบ บวม รุนแรงมาก บางครั้งอาจทำให้อ้าปากไม่ได้กว้าง การทำความสะอาดจะยิ่งลำบาก การลดความรุนแรงของเชื้อจุลินทรีย์ทำได้ยากขึ้น ความเจ็บปวดจึงรุนแรงมากขึ้นและเรื้อรังอยู่ได้หลายวัน การรักษาโดยการใช้ยาต้านจุลชีพ เพื่อลดการอักเสบ จึงต้องใช้เวลาบ้าง ไม่เห็นผลในทันทีทันใด

ผู้ที่ได้รับความทรมานจากการปวดฟันคุดนี้จึงรู้สึกเจ็บปวดมาก และในขณะที่กำลังอักเสบเฉียบพลันอยู่นี้ ทันตแพทย์จะไม่ถอนฟันให้ในขณะนั้น โดยแนะนำให้คอยจนกว่าการอักเสบลดลงก่อน ซึ่งหลายท่านเมื่อหายจากอาการปวดแล้วมักละเลยไม่ไปถอนฟันคุดซี่นั้นๆ ออก ทำให้อาการปวดฟันคุดเกิดซ้ำได้อีกเป็นระยะๆ

  • การป้องกันการปวดฟันจากฟันคุด

โดยที่ฟันคุดนี้อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวที่แม้ฟันซี่อื่นในปากจะสมบูรณ์ดีไม่ผุหรือเหงือกไม่อักเสบ ก็อาจมีอาการปวดฟันจากฟันคุดได้ การป้องกันจึงจำต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียดจากทันตแพทย์ ซึ่งในบางกรณีอาจต้องใช้การถ่ายรูปเอกซเรย์ช่วยในการพิเคราะห์ด้วย

ในรายที่ทราบแน่ชัดว่าเป็นฟันคุด ที่ถ้าปล่อยไว้อาจเป็นสาเหตุของการปวดฟันรุนแรงได้ จะได้รับการแนะนำให้ถอนฟันคุดนั้นออกทั้งที่ไม่มีอาการ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ต้องรับความทรมานจากการปวดฟันคุดในอนาคต หลายคนอาจไม่เข้าใจว่า ฟันของตนดีๆ ไม่เคยผุหรือปวด ทำไมได้รับการแนะนำให้ถอนฟันด้วย ทั้งนี้ การถอนฟันคุดโดยที่ยังไม่มีอาการ เป็นการป้องกันการปวดฟันประการหนึ่งนั่นเอง

การถอนฟันคุดไม่ง่ายแบบการถอนฟันธรรมดา เพราะดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าฟันคุดเป็นฟันที่ซ่อนอยู่ภายในกระดูกขากรรไกร ไม่ได้งอกขึ้นมาตามปกติ จึงไม่สามารถใช้คีมถอนฟันคีบออกได้สะดวก การถอนฟันคุดจึงเป็นลักษณะของการผ่าตัดเล็กชนิดหนึ่ง เพราะอาจต้องตัดกระดูกบางส่วนออก เพื่อให้มีช่องว่างในการหยิบฟันคุดออกได้ หรืออาจตัดส่วนของฟันคุดให้เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ เพื่อให้สามารถเอาออกได้โดยสะดวก

การถอนฟันคุดในบางครั้ง จึงมักต้องใช้เวลานาน และอาจมีอาการปวด บวม ภายหลังการถอนฟันได้ด้วย แต่ในปัจจุบัน โดยที่อุปกรณ์ในการทำฟัน โดยเฉพาะทางด้านศัลยกรรมได้พัฒนาไปมาก ประกอบกับยาแผนปัจจุบันที่ได้ผลดี ทำให้อาการภายหลังถอนฟันคุดไม่รุนแรงนัก ในบางกรณี ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางศัลยกรรมช่องปากอาจแนะนำให้ถอนฟันคุดออกพร้อมกันทั้ง 2 ด้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องมาปวดภายหลังการถอนฟันหลายครั้งด้วย และต้องไม่ลืมว่า ถ้าจะถอนฟันคุด ควรไปรับการถอนในขณะที่ฟันยังไม่มีอาการปวด เพราะเมื่อปล่อยไว้จนอักเสบ ปวดมากแล้ว แม้จะต้องการถอนในทันทีทันใด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด ก็จะไม่สามารถถอนฟันในขณะนั้นได้

หลายท่านคงจะเคยประสบด้วยตนเอง หรือเคยได้ยินว่า อาการปวดของคนเราที่ปวดรุนแรงมากนอกเหนือไปจากปวดขณะคลอดบุตรแล้ว ก็มีการปวดฟันคุดนี่แหละ ที่บรรเทาให้ลดลงทันทีทันใดได้ยาก การตรวจฟันและการเอกซเรย์ขากรรไกร จึงเป็นการตรวจค้นฟันคุดที่ได้ผล และถ้าได้รับการถอนฟันคุดในเวลาที่เหมาะสมแล้ว ท่านก็จะโชคดี ไม่ต้องมีประสบการณ์การปวดฟันคุดที่ทรมานมาก ประกอบกับการดูแลรักษาฟันและเหงือกให้แข็งแรงสมบูรณ์ดีแล้ว ท่านก็จะมีสุขภาพในช่องปากดีถ้วนหน้า อันจะช่วยส่งเสริมให้สุขภาพทางกายและใจสมบูรณ์ตามมาในที่สุด

ข้อมูลสื่อ

121-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 121
พฤษภาคม 2532
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช