• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ช่วยกันหยุดทารุณผู้สูงอายุ

ช่วยกันหยุดทารุณผู้สูงอายุ

บ่อยครั้งที่มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ถึงคนแก่ถูกทำร้าย ปล้นฆ่า โดยกลุ่มโจรที่หวังทรัพย์สินเงินทอง แต่ข่าวโจรปล้นเป็นเรื่องของอาชญากรรมที่เกิดกับคนทุกเพศทุกวัยอยู่แล้ว ยังมีเรื่องของการทารุณร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนแก่อีก โดยเฉพาะคนแก่ที่เจ็บป่วยช่วยตัวเองไม่ได้ (ทั้งๆ ที่อยู่ในบ้านเรือนของตนเอง) แต่ไม่ค่อยมีข่าวให้รู้เห็น คนไทยส่วนมากยังเชื่อว่าวัฒนธรรมประเพณีเรื่องการให้ความรัก ความกตัญญูต่อผู้สูงอายุ ยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง แม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปโดยมีแนวโน้มว่าคนแก่ทั้งในกรุงและต่างจังหวัดถูกทอดทิ้งมากขึ้นเพราะลูกหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้านแล้วก็ตาม อีกประการหนึ่ง หน่วยงานดูแลคนแก่มีไม่มากและกว้างขวางเหมือนหน่วยงานดูแลเด็ก ไม่มีใครทำการสำรวจอย่างจริงจังถึงปัญหาการทารุณคนแก่ในสังคมไทย

ในประเทศอังกฤษ คุณเมอร์วิน อีสแมน รองผู้อำนวยการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ของรัฐ ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าวิตกของการทารุณคนแก่ ซึ่งบ่อยครั้งเกิดขึ้นในบ้านของผู้สูงอายุโดยญาติสนิทและผู้ดูแลคนแก่นั้นเอง เมอร์วินเปิดเผยเรื่องของลูกสาวซึ่งเป็นคนปกติ ไม่บ้าบออะไร ใช้ไม้ตีแม่วัย 70 ของตนเอง เพราะทนความเครียดที่ต้องดูแลรักษาพยาบาลระยะยาวไม่ไหว สามีที่ดูแลภรรยาแก่พิการอยู่เป็นปีๆ วันหนึ่งหมดความอดกลั้นลุกขึ้นมาฆ่าภรรยาด้วยค้อน พี่น้องวัยชราทั้งคู่ใช้ชีวิตพึ่งพิงกันมานานจนรู้สึกว่า อยู่ไปมีแต่ทรมานกาย ทรมานใจ ไม่มีความหวังอะไร เพราะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองทั้งคู่

คนแก่ที่ประสบความทารุณนั้น อย่าได้นึกว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะในหมู่คนยากจนในสลัม แต่มีอยู่แม้ในตึกรามใหญ่โตหรูหรา คนภายนอกเข้าใจว่าคุณตาคุณยายเหล่านั้นอยู่อย่างอบอุ่น สุขสบายในบ้านลูกหลานของตนเอง ที่จริงแล้ว เมื่อลูกหลานออกจากบ้านไปทำงาน เวลาช่วงกลางวันที่คุณตาคุณยายต้องอยู่กับผู้ดูแลซึ่งมีแต่พยาบาล ญาติ จนถึงคนรับใช้ อาจเป็นเหมือนนรกทั้งเป็นที่ตกเป็นเหยื่อความทารุณทั้งกายและใจจากผู้ดูแลได้ โดยลูกหลานไม่มีทางรู้ เนื่องจากคนแก่พูดไม่ได้ พูดเลอะเลือน เพราะโรคภัย และความเสื่อมทางสมอง อัมพาต และความชราภาพทั่วไป เพื่อให้คนได้รู้และหาทางแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือผู้ชราเหล่านั้น ฝ่ายสังคมสงเคราะห์อังกฤษ ได้ทำการสำรวจวิจัยสภาพความเป็นอยู่ของคนแก่ที่เสี่ยงจะได้รับการทารุณสูงไว้หลายประการ คือ

- คนแก่ที่ต้องพึ่งสมาชิกในครอบครัวทั้งทางกายและใจ

- คนแก่ที่ไม่สามารถพูดหรือสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเพราะโรคภัยไข้เจ็บ

- ผู้ดูแลต้องพามาโรงพยาบาลบ่อยครั้ง

- มีประวัติการหกล้มบ่อยๆ

- มีร่องรอยฟกช้ำดำเขียว ตามเนื้อตัวเป็นรอยตี รอบทุบ รอยหยิก

- สภาพของห้องที่คับแคบแออัด

- ผู้ดูแลตระหนักถึงอำนาจในการดูแลรับผิดชอบที่ตนมีต่อคนไข้

- คนแก่นั้นเคยเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้ดูแลตนมาในอดีต

- สภาพความยากลำบากในการดูแลคนไข้ เช่น ในกรณีคนไข้เป็นอัมพาต ทำให้ผู้ดูแลเกิดความเครียดได้ง่าย เกลียดสภาพที่ต้องทำงานแบบนี้ จนถึงเกลียดหน้าคนไข้ของตน

ข้อมูลจากการวิจัยนี้ ยังเตือนญาติผู้ใกล้ชิดไว้ว่า คนแก่ที่มักจะถูกทารุณมีลักษณะดังต่อไปนี้

- เป็นหญิงชราอายุเกิน 75 ปี

- เป็นผู้ป่วยที่พิการ เคลื่อนไหวไม่ได้หรือได้น้อย เช่น เป็นอัมพาตบางส่วนหรือทั้งตัว

- เป็นผู้ไม่มีบทบาทในครอบครัว ไม่มีกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในคอบครัว นอกจากเป็นคนป่วยในบ้าน

- ต้องพึ่งผู้อื่นในการทำกิจวัตรส่วนตัว ทั้งการกินและการขับถ่าย

- มีความกลัวอย่างเห็นได้ชัด

- อยู่ในบ้านเดียวกัน หรือใกล้บ้านลูกหลานที่โตเป็นผู้ใหญ่

ในแง่ของผู้กระทำทารุณนั้น ผลวิจัยกล่าวว่า ผู้ดูแลที่กระทำทารุณนั้น เป็นคนธรรมดาอย่างเรานี่เอง ไม่ได้มีจิตใจวิปริตอะไรมาก่อน บางคนเป็นนักสังคมสงเคราะห์ บางคนเป็นพยาบาลเสียด้วยซ้ำ เมอร์วินเล่าว่า เธอเคยได้รับจดหมายจากหญิงผู้หนึ่ง เขียนมาสารภาพว่า “ดิฉันไม่เคยคิดเลยว่า ในชีวิตนี้จะตีแม่ของตัวเองได้ หวังเหลือเกินว่าทางฝ่ายสังคมสงเคราะห์จะช่วยหาทางอย่างรีบด่วน อย่าให้เกิดเหตุการณ์นี้ในครอบครัวดิฉันเอง และครอบครัวของคนอื่นอีกเลย” “ลูกสาว” ผู้นี้ในชีวิตจริงเป็นพยาบาลอาชีพ แม้จะมีความรู้ดีในวิชาพยาบาลซึ่งรวมถึงจิตวิทยาต่างๆ เธอก็ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์เมื่อเกิดความเครียดจากการพยาบาลแม่พิการวัย 80 ปีได้

- หันมาดูสภาพการทารุณคนแก่เจ็บป่วยที่ได้ประสบพบเห็นอยู่ในเมืองไทย ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนคนที่อยู่ตามแฟลตดินแดงเป็นจำนวนหลายๆแฟลต เคยพบว่าในห้องบางห้องที่เปิดเข้าไปจะพบร่างคนแก่นอนเหยียดยาวในสภาพห้องที่อับมืด เมื่อสอบถามดูจึงรู้ว่า คุณตาที่ถูกทิ้งให้นอนอยู่คนเดียวตั้งแต่เช้าถึงเย็น คือ ขณะที่ลูกออกไปทำงาน กลางวันฝากเพื่อนบ้านให้เอาข้าวมาให้ ซึ่งอยู่ในลักษณะเอาข้าวมาวางไว้แล้วก็ออกจากห้องไป ข้าวที่กินเหลือในจานจะทิ้งไว้ข้างเตียง จนเย็นลูกจึงจะเข้ามาพบหน้ากัน คุณตาคนนี้เดินออกมานอกห้องไม่ได้ ได้แต่ลุกนั่งมาขับถ่ายในโถที่วางไว้ข้างเตียงด้วยความยากลำบาก และคงต้องทนดมกลิ่นต่างๆ ที่อบอวลอยู่จนเย็นค่ำ สภาพอย่างนี้ถือเป็นการทารุณจิตใจและร่างกายแค่ไหนคงพอนึกได้ จะมีคุณตาคุณยายในสภาพนี้อีกกี่คน

- ภาพของคุณยายที่นอนเป็นอัมพาต อยู่ในบ้านที่ลูกหลานฐานะดีบางทีมีสภาพไม่ต่างกันนักกับคุณตาที่แฟลตดินแดง ในกรณีที่ลูกหลานออกไปทำงาน มีผู้ดูแลเป็นเด็กรับใช้ มีผู้ใหญ่แม่ครัวอีกคนอยู่ในบ้านตอลกลางวัน คุณยายจะส่งเสียงเรียกเด็กรับใช้จนเสียงแหบแห้ง เด็กที่นั่งอยู่ในห้องจะแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน เพราะขี้เกียจมารับใช้ ผู้ใหญ่ที่เป็นแม่ครัว ซึ่งต้องมาช่วยจับคุณยายนั่งโถส้วม แต่บางทีติดงานอื่นอยู่ ปล่อยให้คุณยายรออยู่เป็นชั่วโมงก็มี สภาพทารุณจิตใจนี้มีเกิดขึ้นแล้ว เป็นเรื่องจริงในหลายๆบ้านที่คนภายนอกคิดว่าคุณยายอยู่อย่างอบอุ่นกับลูกหลาน

- คุณยายอีกคนเจ็บเป็นอัมพาต มีเด็กที่เคยเลี้ยงดูมาสมัยก่อน คุณยายอาจเคยตีเด็ก ดุด่าว่ากล่าวบ้าง ตอนนี้เด็กคนนั้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้โอกาสที่คุณยายเป็นอัมพาตพูดไม่ได้ ฟ้องลูกหลานของตนเองไม่ได้ ชีวิตคุณยายอยู่ในกำมือของผู้ดูแลคนนี้ บางครั้งเขาจะกระแทกร่างคุณยายลงกับโถส้วม ผลักร่างให้นอนลงกับพื้นแรงๆ ป้อนน้ำให้คุณยายสำลัก เพราะอารมณ์เครียดที่ต้องมาทำงานที่ตนไม่ชอบ คือ พยาบาลคนแก่อายุ 80 ปี ถ้าในใจคุณยายไม่บดบังทึบทึมด้วยโรคภัยทางสมอง คุณยายคงภาวนาอยากตายให้พ้นๆ มือคนดูแลนี้ โดยลูกหลานของตนเองไม่เคยทราบ

แม้ในบ้านคนแก่ของรัฐฯ เอง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมอย่างดีมาแล้วในการดูแลคนแก่ สภาพเครียดของงานอาจเปลี่ยนแปลง จิตใจผู้ดูแลให้ระงับอารมณ์ได้ยากยิ่งถ้าทำงานมานานโดยไม่มีคนผลัดบ้าง อาจเป็นไปได้ที่คนดูแลจะกลายเป็นผู้ทำทารุณคนแก่เสียเอง เคยพบสภาพที่คุณยายอายุประมาณ 70 ปี หน้าตาอมโรคเศร้าสร้อยดึงมือแขกที่มาเยี่ยมบ้านคนแก่ แอบกระซิบว่าถูกพี่เลี้ยงหยิกตีเอาบ่อยๆ เพราะไม่ให้เงินพี้เลี้ยงยืม ขอให้ผู้มาเยี่ยมนั้นช่วยแกด้วย เรื่องแบบนี้จริงอยู่อาจเป็นเรื่อง “กุ” เอาเองก็ได้ของคนแก่ที่ฟั่นเฟือน แต่ใครจะรู้ว่าอาจเกิดขึ้นจริงได้เหมือนกัน ถ้าขาดผู้ปกครองบ้านคนชราที่อุทิศตัวอย่างจริงจังให้กับงานดูแลสมาชิกในบ้านพักเหล่านี้ การทารุณคนแก่ก็อาจเกิดขึ้นได้
ปัญหาที่เกิดเหล่านี้ ถ้าเรายอมรับความจริง ไม่ละเลยปัญหาย่อมมีทางบรรเทาสภาพการทารุณได้บ้าง เราคงต้องแบ่งคนแก่เป็น 2 ระดับ

- กลุ่มแรก คือ คนแก่ที่อยู่ในบ้านลูกหลาน

- กลุ่มที่สอง คือ คนแก่ที่อยู่ตามบ้านพักคนชรา

สำหรับกลุ่มแรกนั้นลูกหลานมีภาระต้องรับผิดชอบชีวิตญาติผู้ใหญ่ของตน ถ้าไม่สามารถอยู่ดูแลญาติได้เอง ต้องคัดเลือกผู้ดูแลที่มีเมตตาธรรม และอย่าให้กุมอำนาจการดูแลแต่ผู้เดียว แต่ต้องมีผู้อื่นร่วมอยู่ด้วย เพื่อให้ได้ผลัดเปลี่ยนกันทำงาน คลายเครียด และเพื่อให้มีประจักษ์พยานที่จะไม่เปิดโอกาสให้มีการปล่อยอารมณ์เครียดเอากับคนไข้ มีสถานอบรมผู้ดูแลคนแก่อยู่บ้าง เท่าที่ทราบ คือ หน่วยงานกาชาด โรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลประสาทจัดอบรมอยู่บ้างแล้ว

สำหรับคนแก่ป่วยเจ็บกลุ่มที่ 2 ที่อยู่ตามบ้านพักคนชรา ถ้าผู้ปกครองบ้านพักมีความเอาใจใส่ทำงานชนิดถึงลูกถึงคน ควบคุมดูแลคนแก่ได้ คงไม่เกิดสภาพการทารุณมากนัก อยากกระตุ้นให้ญาติของผู้ชราได้ไปเยี่ยมปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ของตนตามบ้านพักคนชราบ้าง เพื่อจะได้รับทราบความเป็นอยู่ ช่วยเป็นกำลังใจแก่ญาติผู้ใหญ่ของตน เท่าที่ทราบมีอยู่น้อยรายที่มีญาติมาเยี่ยมประจำ

พอสรุปได้ว่า สังคมไทยยังขาดหมอผู้เชี่ยวชาญ และพยาบาลทางโรคชรา ขาดผู้ดูแลที่มีคุณภาพและประสบการณ์ดูแลคนป่วยโรคชราโดยเฉพาะในบั้นปลายชีวิตและขาดโครงการอบรมผู้ดูแลอีกมาก ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ เกือบจะไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางชราภาพศาสตร์ (gerontology) เลย เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไม่นิยมเรียนศาสตร์นี้ ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ บางคนกล่าวว่าเรียนวิชานี้ “ไม่เท่าทุน ก็ขาดทุน” เพราะคนไข้สูงอายุนับวันจะหายไป ไม่เหมือนคนไข้เด็กซึ่งมีความเจริญเติบโตให้เห็น จึงควรมีมาตรการใดก็ตาม กระตุ้นส่งเสริมให้แพทย์ พยาบาล ได้เรียนรู้วิชาชราภาพศาสตร์เพิ่มเติม สนับสนุนโครงการอบรมบุคลากรให้มากกว่าเดิม มิฉะนั้นปัญหาการดูแลสุขภาพคนชราจะมีมากขึ้น แม้ในปัจจุบันก็เริ่มเป็นปัญหาอยู่บ้างแล้ว ใครมีพ่อแม่แก่เจ็บป่วยอยู่ที่บ้านจะหาผู้มาดูแลรักษายากมาก ที่ต้องพึ่งโรงพยาบาลจะได้รับการรักษา ดูแลแบบยืดเวลาตาย มีสายยาง เครื่องช่วยหายใจเต็มไปหมด จนคนแก่ที่ป่วยไม่มีทางหาย (terminal illness) ต้องสั่งลูกหลานขอมาตายที่บ้านดีกว่า น่ายินดีที่ทราบว่า สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนกำลังสนใจทำวิจัยปัญหาการบริการทางสุขภาพคนป่วยแก่ในบั้นปลายชีวิต อาจมีโครงการจัดอบรมผู้บริบาลผู้สูงอายุขึ้นให้กว้างขวางต่อไปอีก

รัฐฯเองควรมีบทบาทสนับสนุนโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การดูแลรักษาคนชราในบั้นปลายชีวิตให้มากขึ้น สนับสนุนกฎหมายประกันการชราภาพ ซึ่งเคยมีอยู่ใน พ.ร.บ.ปี พ.ศ.2497 แต่ถูกยับยั้งไม่เคยใช้ และดูจะอยู่ในอนาคตอันไกลกว่าจะมีการใช้กัน กลุ่มผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นหลายกลุ่มทั้งสภาผู้สูงอายุ สมาคมคลังปัญญาฯ ชมรมที่ปรึกษาอาวุโส และชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศ น่าจะช่วยประสานงานกับหน่วยงานของรัฐฯ ผลักดันแก้ไขสภาพการทารุณคนแก่ที่ป่วยเจ็บดังกล่าวในทุกวิถีทางอย่างเร่งด่วน

ข้อมูลสื่อ

121-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 121
พฤษภาคม 2532
อื่น ๆ
ธนพรรณ สิทธิสุนทร