• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพ้ยา

แพ้ยา

“คุณป้าครับ หมอตรวจดูแล้วคุณป้าไม่ได้เป็นอะไรมาก หมอจะจ่ายยาให้กลับไปกินที่บ้าน ไม่ทราบว่าคุณป้าเคยแพ้ยาอะไรหรือเปล่าครับ?” หมอถามให้แน่ใจ หากผู้ป่วยแพ้ยา จะได้หลีกเลี่ยงไม่จ่ายซ้ำ ทำให้เกิดอันตรายได้

คุณป้าคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตอบว่า “ป้าเคยมีอาการแพ้ยาอยู่เหมือนกัน”

“คุณป้าแพ้ยาอะไร ทราบไหมครับ?” หมอถาม

“ดูเหมือนจะเป็นยาแก้ปวดอย่างซองๆ เวลาปวดหัว ซื้อมากินจะมีอาการแพ้ทุกที” ผู้ป่วยตอบ

“ไหนคุณป้าลองบอกซิว่าเวลากินยาซองที่ว่าแล้วมีอาการอย่างไร?”

“จะมีอาการแสบท้องหลังกินยา”

“เคยเกิดอาการเป็นลมพิษ ผื่นคัน หรือหอบหืดหายใจลำบากหรือไม่?” คุณหมอถาม

“เอ อาการแบบนี้ไม่เคยเป็น” คุณป้ายืนยัน

“ถ้าเช่นนั้น คุณป้าคงไม่ได้แพ้ยาหรอก” หมอรู้สึกโล่งอกไปที

คำว่า “แพ้” ในภาษาหมอ หมายถึง การเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ (allergy อ่านว่า อัลเลอจี้) หรือภูมิไว (hypersensitivity อ่านว่า ไฮเพอเซ้นซิตีวิตี้) ต่อสิ่งต่างๆ เช่น แพ้ฝุ่น แพ้ขนสัตว์ แพ้อาหารทะเล แพ้แอร์ แพ้ความเย็น ฯลฯ โดยที่ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบโต้สิ่งที่แพ้ ทำให้มีอาการแพ้ ได้แก่ อาการลมพิษ ผื่นคันขึ้นเห่อทั้งตัว หรือไม่ก็อาจจะมีอาการคันคอ คันจมูก คัดจมูก จามฟิตๆ ถ้าแพ้มากๆ ก็ถึงขั้นจับหืด หายใจเสียงดังวี๊ดๆ อาการแพ้ยาก็เป็นในทำนองเดียวกัน แต่ถ้าแพ้ยาฉีด (เช่น เพนิซิลลินชนิดฉีด) หากแพ้รุนแรงอาจเป็นลมหมดสติ ช็อกตายคาเข็มฉีดยาได้

ส่วนภาษาชาวบ้านนั้น คำว่า แพ้ หมายถึง “สู้ไม่ได้ ทนไม่ได้” จึงกินความกว้างขวาง ไม่เฉพาะเจาะจง ดังภาษาหมอข้างต้น เช่น

คำว่า “แพ้ผม” แปลว่า ผมหงอกเร็วกว่าธรรมดา

“แพ้ฟัน” แปลว่า ฟันหักเร็วกว่าธรรมดา

“แพ้ท้อง” แปลว่า อาการของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อแรกตั้งครรภ์ เป็นต้น

ดังนั้น คำว่า “แพ้ยา” ในภาษาชาวบ้านจึงตีความกว้างๆ ว่ามีอาการผิดปกติจากการใช้ยานั้นๆ ดังที่คุณป้าบอกว่ากินยาแล้วมีอาการแสบท้องก็เข้าใจว่าตัวเองแพ้ยา ถ้าหากหมอฟังผู้ป่วยว่าเคยแพ้ยาแล้วไม่ซักถามในรายละเอียดของอาการแพ้ยา ก็อาจเข้าใจผิด ทำให้มีความลำบากในการสั่งจ่ายยาอย่างมาก ความจริง กรณีกินยาแล้วแสบท้องนั้น ภาษาหมอถือเป็น “ผลข้างเคียง” (side effect อ่านว่า ไซ้เอ๊ฟเฝก) ของยา จะเกิดกับยาแก้ปวดแอสไพริน (ยาแก้ปวดชนิดซองในบ้านเราที่มียี่ห้อดังๆ ที่ชาวนาติดกันทั่วประเทศมักเข้ายาแอสไพริน) เพราะยานี้ระคายเคือง (กัด) กระเพาะอาหารได้มาก

ส่วนอาการแพ้ยานั้น จะต้องมีอาการคัน (คันตามผิวหนัง คันจมูก จาม) หรือหอบหืด เป็นสำคัญ คำว่าแพ้ยาในภาษาชาวบ้านจึงผนวกความทั้ง “ผลข้างเคียง” และ “แพ้ยา” ตามภาษาหมอเข้าด้วยกัน คนที่กินยาแล้วเกิดผลข้างเคียงไม่จำเป็นต้องหยุดยาสามารถใช้ต่อไปได้ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เช่น กินยาแก้หวัดแล้วจะมีผลข้างเคียง คือ ง่วง ก็ต้องระวังอย่าขับรถ ขับเรือ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ถ้ากินยาแก้ปวดแล้วแสบท้องก็ควรกินยาหลังอาหารหรือกินยาลดกรดควบไปด้วย แต่ถ้ามีอาการแพ้ยา (allergy) ก็ต้องหยุดยานั้นไม่ควรใช้อีกต่อไป อาจแพ้ถึงขั้นอันตรายได้ และขณะที่มีอาการแก้เกิดขึ้น ก็ต้องใช้ยาแก้แพ้ช่วยแก้ไข

ที่สำคัญ คุณต้องถามชื่อยาจากหมอ แล้วจดจำ (บันทึก) ไว้ตลอดไป และทุกครั้งที่ไปหาหมอคนไหนก็ตาม ก็อย่าลืมบอกชื่อยาที่คุณแพ้ให้หมอทราบ หาไม่ ก็อาจ “แพ้ภัยตัว” เป็นภัยแก่ตัว เดือดร้อนตัวเองถึงชีวิตก็ได้!

ข้อมูลสื่อ

122-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 122
มิถุนายน 2532
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช