• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พฤติกรรมเด็กยามเปิดเรียน

พฤติกรรมเด็กยามเปิดเรียน

เมื่อโรงเรียนเปิด บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากับอาการไม่สบายของลูกรักซึ่งมีอาการออกมาทั้งร่างกายและจิตใจ บางคนบ่นปวดหัว บางคนบ่นปวดท้อง บางคนก็อาเจียนทุกเช้า สารพัดอาการ บางคนงอแง บางคนอารมณ์ฉุนเฉียว บางคนเงียบซึม ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ลองมาติดตามรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงวัณเพ็ญ บุญประกอบ จากหน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงสาเหตุต่างๆ ดูนะคะ ถ้าเผื่อเด็กไม่สบาย ก่อนอื่นเราจะต้องไม่บอกว่าเด็กแกล้ง หรือขี้เกียจไม่ยอมไปโรงเรียน หรือเกเร ดื้อ อะไรต่างๆ

พ่อแม่จำเป็นต้องหาสาเหตุก่อน เพราะเวลามีอะไรเกิดขึ้นต้องมีสาเหตุ เราไม่ควรสรุปว่า เด็กแกล้ง
โดยทั่วๆ ไปเด็กอนุบาลจะดูได้ง่าย เป็นวัยที่ตรวจได้ง่ายมาก เพราะอะไรของเขาทั้งหมดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเสียส่วนใหญ่ ดูง่ายๆ คือ ทางโรงเรียน คงต้องดูว่าเด็กมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างเวลาอยู่โรงเรียน ช่วยเหลือตัวเองได้ไหม มีเพื่อนเล่นไหม กลัวครูมากหรือเปล่า เพื่อนแกล้งไหม สิ่งเหล่านี้บางทีเราต้องถามไถ่ครู

สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะสังเกตได้จากอาการไม่สบายที่เกี่ยวกับอารมณ์หรือเหตุการณ์ เช่น นอนละเมอ หลับยาก หรือพอพูดถึงโรงเรียนจะกลัว มีปฏิกิริยาไม่อยากไป พอเช้าขึ้นมาก็ไม่อยากไป ร้องไห้ เป็นปัญหาหรือคอยถามว่าวันไหนวันเสาร์หรืออาทิตย์ อันนี้แสดงถึงโรงเรียนเป็นเหตุ เราต้องหาสาเหตุที่โรงเรียนและบ้าน แต่บ่อยครั้งเหมือนกันที่ทางโรงเรียนบอกว่าไปถึงแล้วสบายดีทุกอย่าง พอพ่อแม่กลับไปเขาเล่นได้สนุกสนาน พอตอนเย็นไปรับเป็นคนละคน อันนี้ไม่ใช่เหตุทางโรงเรียน เป็นเหตุทางบ้าน ดังนั้นองค์ประกอบที่เราควรดูคือทางบ้าน ทางบ้านมักเป็นเรื่องระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ กับพ่อแม่ บางทีพ่อหรือแม่ดุเด็กมากหรือเครียดกับงานก็เอาอารมณ์ลงที่เด็ก เด็กก็งอแง พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ ปัญหาพ่อแม่ไม่ลงรอยกันก็มีผลกระทบถึงเด็ก

อาการแสดงทางอารมณ์นั้นอาจแสดงโดยการอ้อน และที่พบบ่อยๆ คือ อาการไม่สบาย อาจอาเจียน มีอาการปวดท้อง หรืออื่นๆ ซึ่งเมื่อเขามีอาการดังกล่าวก็จะได้รับความเอาใจใส่ เป็นอาการแสดงของความกังวลที่เด็กมีและก็ได้รับความสนใจมากขึ้น อาการที่เป็นอย่างนี้ ถ้าพ่อแม่กังวลตอบโดยไม่แก้สาเหตุ เด็กก็จะไม่หาย หรือถ้าไม่เข้าใจไปเป็นอารมณ์จะทำให้เด็กยิ่งกลัว ก็ยิ่งไปกันใหญ่ พ่อแม่ต้องเข้าใจเด็ก เด็กมีอารมณ์ แต่ผู้ใหญ่อย่ามีอารมณ์ตอบ ต้องสงบที่สุด

ธรรมชาติเด็กจะไม่เหมือนกัน บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย เด็กเมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน 3-4 ขวบขึ้นไป จะเริ่มมีการปฏิเสธ เริ่มต่อต้าน ผู้ใหญ่ควรเข้าใจ วัยนี้เป็นวัยที่เด็กกำลังพัฒนาเป็นตัวของเขาเอง กำลังพัฒนาในการที่เขาจะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมเป็นการลองผิดลองถูก ถ้าผู้ใหญ่บอกอย่างนี้ เขาจะอยากรู้ว่าลองอีกอย่างจะเป็นอย่างไร อันนี้ก็คือ เด็กทดสอบพลังของผู้ใหญ่ และของตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร เราจะเห็นว่าผู้ใหญ่ตกหลุมเด็กบ่อย บางทีเด็กตื๊ออย่างหนักเขาก็ได้ทุกครั้ง เด็กก็เรียนรู้ไปโดยปริยายว่าเขาจะต้องเป็นจอมตื๊อ ถ้าเขาอาละวาดแล้วผู้ใหญ่ยอม เขาก็จะอาละวาด ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจ ให้เขารู้ว่าไม่ยอมแน่ ในที่สุดเด็กเขาก็ยอม นี่คือเขาจะได้เรียนรู้ว่านี่ผู้ใหญ่เอาจริง เขาก็ปรับได้

อย่างเด็กไปโรงเรียนระยะแรกๆก็จะร้องไห้ตลอดทาง พ่อก็อาจบอกว่าลูกร้องเถอะ ร้องไห้ให้สบายใจ แต่อย่างไรลูกก็ต้องไปเรียนนะ พ่อชอบเด็กไปโรงเรียน แล้วก็ไม่พูดอะไร ไม่ตอบโต้ ได้แต่ยิ้มๆ พอถึงโรงเรียนก็บอกว่าถึงแล้วนะคนดี คนเก่งของพ่อ พาลูกไปหาครู และบอกว่าตอนเย็นแม่เค้าจะมารับนะ ทำอย่างนี้สัก 1-2 สัปดาห์ เสียงร้องก็ค่อยๆ จางลง อย่าไปมีปฏิกิริยาตอบโต้ อันนี้สำคัญที่สุด เราจะเห็นว่า ในการที่เราเอาจริงกับเด็ก เราต้องเอาจริงให้เขารู้ว่าอะไรที่เราต้องการให้เขาทำ แต่เราต้องเมตตากับเขา เราต้องสงบกับเขาพอสมควร เด็กจึงจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดที่เขาต้องปฏิบัติ สิ่งใดไม่ต้องปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พ่อแม่จะให้เด็กไปอยู่โรงเรียนอนุบาล พ่อแม่จะต้องรู้ว่าเด็กไม่ติดแม่ และติดใครคนใดคนหนึ่งจนห่างเขาไม่ได้ ต้องฝึกเขาให้เป็นตัวของตัวเองบ้าง รู้จักเล่นกับเพื่อน รู้จักบอก รู้จักเข้าห้องน้ำเอง ไม่กลัวคนแปลกหน้า ยอมรับมิตรภาพของคนอื่น สร้างสัมพันธ์กับคนอื่นได้ เวลาที่ให้เขาเข้าโรงเรียน อย่าให้เข้าในช่วงที่ครอบครัวมีวิกฤตการณ์ เช่น แม่มีน้องใหม่ ก็ส่งเขาเข้าโรงเรียน ซึ่งพ่อแม่มักทำกันมาก ช่วงที่มีน้องเด็กจะเกิดความเครียดมาก เขารู้สึกว่าน้องมาแทนที่เขา และโดยมากพ่อแม่ต้องไปดูแลน้อง เขาก็เหมือนถูกทอดทิ้ง ถ้าเผื่อเราไม่เข้าใจไปดุไปว่าเขาหรือบอกว่า “โตแล้วต้องอย่างนั้นอย่างนี้” เด็กก็จะยิ่งแย่มีพฤติกรรมถอยหลังไปอีกได้

เพราะฉะนั้นกรณีอย่างนี้ ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า และต้องให้เขารู้ว่าการไปโรงเรียนเป็นเรื่องดี “น้องอีกหน่อยโตขึ้นก็ไปกับหนู” มิฉะนั้นเด็กจะหวั่นไหวมากเนื่องจากเขาจะคิดว่าน้องอยู่บ้านเล่นกับแม่ เป็นผลให้เด็กไม่ชอบแม่ด้วย เพราะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักเขา และคนที่มาแย่งความรักของเขา คือ น้อง ฉะนั้นพ่อแม่ต้องให้ความรักกับเด็กเต็มที่ไม่เปลี่ยนแปลง พอเขากลับจากโรงเรียนก็มีเวลาให้กับเขา ไม่ใช่บางคนบอกว่าอยู่กับลูกทั้งวัน แต่อยู่คนละห้องกับลูก ปล่อยให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยง อย่างนี้ก็ไม่มีประโยชน์ถึงแม้จะอยู่ทั้งวัน

พ่อแม่ที่ฉลาดจะวางแผนที่จะมีลูกอย่างไร ไม่ใช่มีติดๆ กันจนเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นการวางแผนครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ การมีลูกควรห่างกันอย่างน้อย 2-3 ปี พอให้เด็กช่วยตัวเองได้ ส่วนใหญ่ 3 ปีกำลังดี พอที่เขาจะพูดกันได้ และไม่ควรมีลูกเกิน 2-3 คน ปัญหาเหล่านี้ควรจะวางแผนกันให้ดี เพราะการมีลูกในปัจจุบันนี้พ่อแม่จะเหนื่อยมาก ก่อนที่เราจะให้เด็กเข้าโรงเรียน เด็กคนนั้นจะต้องได้รับการเลี้ยงดู ได้รับความรักความอบอุ่นอย่างเต็มที่ เด็กถึงจะเกิดความมั่นใจในตัวเองและมองโลกในแง่ดีพร้อมที่จะไปรับมิตรภาพจากคนอื่น คือสังคมอื่นนอกจากครอบครัวของเขา

เพราะฉะนั้นการดูแลและความใกล้ชิดเป็นสิ่งที่เราจะต้องให้ และต้องค่อยๆ ฝึกหัดเด็กให้ช่วยเหลือตัวเองตามวัย รู้จักที่จะเข้าร่วมกับคนอื่นได้บ้าง สนใจสิ่งแวดล้อม หรือรู้จักที่จะอยู่กับคนอื่นได้บ้าง ไม่ใช่ติดแม่หรือติดพี่เลี้ยงแจจนไม่ยอมไปไหน ควรฝึกให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าห้องน้ำ กินข้าวเองได้ และพยายามเข้าใจเขา ให้ถือว่าไปโรงเรียนเป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องที่จะมาลงโทษกัน มาเคี่ยวเข็ญกัน ไม่งั้นเราไปถือการเรียนเป็นเรื่องใหญ่ แต่เราลืมนึกถึงจิตใจของเด็ก จะทำให้เราไปจ้ำจี้จ้ำไชเคี่ยวเข็ญเด็กมากไป แต่เราควรสร้างแรงจูงใจกับเด็กให้มีต่อการเรียนเสมอ เช่น ให้เขาได้สัมผัสกับหนังสือบ้าง อ่านนิทานเป็นเรื่องสนุกๆ ให้ขีดเขียนระบายสีเล่น และที่สำคัญไม่ปรนเปรอเด็กจนมากเกินไปจนเด็กช่วยตัวเองไม่เป็น พอไปถึงโรงเรียนแล้วจะอยู่กับใครก็ไม่ได้ และบางคนเลยติดครูแจ ไม่ยอมเข้ากับเพื่อนฝูง ก็เลยเป็นปัญหาให้ไม่อยากไปโรงเรียน

ปัญหาจากโรงเรียน

ปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี โดยเฉพาะเวลาที่พ่อแม่ไปพูดกับครู ครูเข้าใจปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นบางทีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งไปโรงเรียนได้ดีตั้งแต่ 2 ขวบ 10 เดือน พร้อมมากเลย ไม่เคยร้องไห้ ทุกอย่างดี

จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณครูบอกว่าน้องอรนี่น่ารักที่สุด ไม่เคยร้องไห้เหมือนคนอื่นเลย ทำอย่างไรถึงจะเห็นร้องไห้สักทีเล่า ครูก็ล้อเล่นว่าวันนี้ไม่ให้กลับบ้าน อยู่กับครูนะ วันนั้นแม่ไปรับกลับบ้าน เด็กหน้าจ๋อยเลย และก็บ่นกับแม่ ไม่อยากไปโรงเรียน แม่ก็แปลกใจว่าทุกทีไปได้ดี พอเช้าขึ้นจะพาไป ไม่ยอมไป ร้องไห้ 3 วัน 3 คืน เรียกว่า กลัวมากเลย แม่ก็ไม่เข้าใจ ตรวจดูสาเหตุทางบ้านก็ไม่มีอะไร เด็กก็ยืนยันไม่ไปโรงเรียน

ในที่สุดพาไปโรงเรียนก็มีปฏิกิริย วันหนึ่งเด็กก็หลุดออกมาว่า อรไม่อยากอยู่กับคุณครู คุณแม่ก็บอกว่าไม่ต้องอยู่หรอก เย็นแม่ก็รับกลับ เขาก็บอกว่า คุณครูบอกว่า เอาอรไว้โรงเรียนไม่ให้กลับบ้าน ในที่สุดแม่ก็ไปพูดกับครู ครูบอกว่า ครูไม่เอาหรอก ครูล้อหนูเล่น ครูยืนยันว่า จะไม่ทำ แต่อรก็ยังกลัวอยู่ กว่าจะหายกลัวก็หลายวัน แสดงว่าเด็กยึดมั่นกับคำพูดครู ผู้ใหญ่พูดเด็กจะถือเป็นเรื่องจริงๆ ได้เสมอ

การปฏิบัติของผู้ใหญ่สำคัญ ถ้าผู้ใหญ่มองข้ามไปจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ พ่อแม่และครูจึงควรเข้าใจในเรื่องนี้ มิฉะนั้นจะทำให้เด็กมองโรงเรียนในแง่ไม่ดี กลายเป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่ได้ดีไปเลยก็ได้ เด็กเล็กจะกลัวได้มากเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว การหลอกเด็ก และข่มขู่เด็กจึงไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เด็กอนุบาลนั้น ครูเป็นบุคคลที่สำคัญมาก ถ้าเด็กรู้ว่า ครูใจดีช่วยเหลือเขาได้ รักเขา เด็กจะชอบไปโรงเรียน
 

ปัญหาที่บ้าน

สำหรับกรณีที่ไม่ค่อยได้ผลในบ้านเราคือ ผู้ใหญ่ไม่ปรองดองกัน แม่จะเอาจริงก็ถูกพ่อขัด พ่อจะเอาจริงแม่ก็ตามใจ คือผู้ใหญ่ไปขัดกันเอง หรือพ่อแม่นั้นไม่ตามใจแต่ปู่ย่าตายายตามใจ คือทำไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะช่วยเด็กได้มาก

อีกคนหนึ่ง คือ พี่เลี้ยงก็สำคัญมาก เช่น ถ้าเผื่ออยากให้เขากินข้าวเอง เด็กจะทำหกเลอะเทอะบ้างก็ไม่เป็นไร แต่บางรายผู้ใหญ่ไม่ยอมให้หกเลย เราควรจะลองฝึกเด็กดูว่า เที่ยวนี้หกแค่นี้ เที่ยวหน้าจะน้อยกว่าเท่าไร เขาเก่งขึ้นอย่างนี้เราควรให้กำลังใจเขา เมืองไทยมีปัญหาในเรื่องเลี้ยงเด็กแบบทำให้มาก ตามใจ โอ๋มาก ให้เล่นอย่างเดียว เลยกลายเป็นปัญหาเด็กไม่พัฒนา แต่การทอดทิ้งเด็กโดยไม่ได้ตั้งใจหรือตั้งใจก็ตามก็พบมาก ทำให้เด็กเองไม่ได้พัฒนาเต็มที่ และมีความว้าเหว่

สมัยนี้เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าพ่อแม่ทำงานและจะต้องหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูลูกจึงมีมาก การเลี้ยงดูเด็กต้องอาศัยบุคคล อาศัยคนดูแลที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีความหมาย พ่อแม่ต้องเป็นหลักให้กับลูกในการเลี้ยงดู เราอาจจะมีสื่ออย่างอื่นมาช่วยส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กบ้าง แต่สิ่งสำคัญ คือ พ่อแม่

เด็กจะต้องมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้นั่งดูแต่โทรทัศน์ วิดีโอ ปัจจุบันพบเด็กหลายคนที่อยู่หน้าโทรทัศน์มากไป เด็กมีความก้าวร้าว เด็กเข้ากับใครไม่ได้ ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ เด็กว้าเหว่ ขาดรัก เพราะเราไปให้วัตถุมากไป แต่ขาดน้ำใจ ทำให้มีปัญหาในบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้น คนที่สามารถทำอะไรได้รุนแรง ก้าวร้าว แล้งน้ำใจ รักใครไม่เป็น ทำร้ายคนได้และไม่รู้สึกผิด พูดง่ายๆ คือ คนใจร้ายทั้งหลาย ส่วนหนึ่งมาจากเขาไม่เคยได้รับความรักความอบอุ่นในหลายๆ สาเหตุ และอันนี้อันตรายใหญ่หลวงมาก

อย่างดูการชกมวย ผู้ใหญ่อาจบอกดูเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ แต่ถ้าในเด็กเล็กแล้วจะเป็นการเลียนแบบ เด็กจะแยกไม่เป็น มีการวิจัยไว้มากเลยในเรื่องนี้ เช่น ที่แคนาดา ในหมู่บ้านหนึ่งพอมีโทรทัศน์เข้าไปปรากฏว่ามีเด็กก้าวร้าวมากขึ้น เพราะฉะนั้น ในเด็กเล็กอะไรที่ไม่เหมาะสมก็ไม่ควรให้ดู เพราะเด็กยังแยกแยะไม่เป็นว่าอะไรควรไม่ควร หรือยังไม่สามารถที่จะเบี่ยงเบนพฤติกรรมตัวเองไปในทางที่เหมาะสมได้

เราจะมาให้ความรัก ความเอาใจใส่ ความอบอุ่นเมื่อเด็กโตแล้วนั้นไม่เพียงพอ และบ่อยครั้งที่ไม่สามารถจะแก้ไขการขาดดังที่กล่าวเบื้องต้นได้เลย การที่คนเรามีความเห็นแก่ตัว ทำอะไรนึกถึงแต่ตนเองเป็นใหญ่นั้น ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากวัย 3 ปีแรกของชีวิตเด็ก ฉะนั้นวัย 5 ปีแรกของชีวิตจึงเป็นวัยที่สำคัญมาก ที่เขาจะต้องมีพ่อแม่และบุคคลที่มีความหมายต่อเขาให้การเลี้ยงดู ดูแลให้เต็มที่และเหมาะสม เพื่อที่จะมีการเติบโตเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจในอนาคต

 

วิธีการปฏิบัติต่อเด็กที่เป็นไข้หวัดเมื่อเข้าโรงเรียน
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ

มักจะเป็นคำถามที่ได้รับการปรึกษาจากผู้ปกครองของเด็กอยู่เสมอว่า เมื่อไรจะต้องให้หยุดโรงเรียน เมื่อไรถึงจะเริ่มให้ไปเรียนต่อได้ โดยทั่วไปจะยึดหลักการที่ว่า ถ้าเด็กที่เป็นหวัดในระยะเริ่มแรกแต่ยังมีอาการไม่รุนแรง เช่น มีน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ เจ็บคอเล็กน้อย ตัวรุมๆเล็กน้อย เด็กยังสามารถเล่นหรือกินอาหารได้เหมือนปกติ ก็อาจจะไม่ต้องถึงกับหยุดเรียน แต่ควรให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพื่อให้อาการไม่ลุกลามมากขึ้น เช่น พยายามให้เด็กดื่มน้ำ โดยเฉพาะน้ำอุ่น หรือให้อาหารที่เป็นน้ำมากๆ เพื่อให้เสมหะที่เหนียวละลายตัวได้ดี ให้พักผ่อนให้เพียงพอและเหมาะสมเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน และการจัดกิจกรรมต่างๆ ในห้องเรียนต้องเลือกประเภทที่ไม่ต้องอยู่ใกล้ชิดกันจนเกินไป สอนให้รู้จักปิดปากหรือปิดจมูกเวลาจามหรือไอ ไม่ไอหรือจามรดกัน เครื่องใช้ต่างๆควรมีของตัวเองทุกคน เช่น แก้วน้ำ จาน ช้อนที่กินอาหาร เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังผู้อื่น และในขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันการรับเชื้อเพิ่มเติมจากผู้อื่นอีกด้วย

ในกรณีที่เด็กมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก น้ำมูกเขียวข้น หายใจแรงหรือหอบ ซึม อาเจียน หรือกินอาหารไม่ได้ ควรจะต้องพาไปพบแพทย์และควรหยุดพักการเรียนชั่วคราว เพื่อที่จะให้เด็กพักผ่อนเพียงพอ ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการลุกลามมากขึ้นได้ และควรจะมาโรงเรียนต่อเมื่ออาการดีขึ้นมากหรือหายแล้วเท่านั้น

ข้อสำคัญ คือ ควรพยายามรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อจะได้เป็นกำลังหนุนเวลาที่เจ็บป่วยจะได้มีแรงต้านทานต่อสู้กับเชื้อโรค โรคบางอย่างซึ่งป้องกันได้เราก็แนะนำให้ฉีดวัคซีน ส่วนวิธีการรักษาสุขภาพเราก็มีวิธีการต่างๆ นานา เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์บำรุงร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็พยายามอย่าเข้าใกล้ เช่น ไปในที่ชุมชนแออัด (ตามศูนย์การค้าที่แออัด) เพราะระบบการหมุนเวียนของอากาศไม่ดี และตามถนนที่มีทั้งควันดำและรถต่างๆ เต็มไปหมด เท่าที่สังเกตดูพบว่า มีเด็กที่มีโรคระบบทางเดินหายใจที่เรียกกันว่า กลุ่มอาการของหอบหืดกันมาก ซึ่งอาจจะมาจากมลภาวะต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลสื่อ

122-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 122
มิถุนายน 2532
อื่น ๆ
รศ.พญ.วัณเพ็ญ บุญประกอบ