• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิ่งปลดปล่อยคนแก่

วิ่งปลดปล่อยคนแก่

ฟังชื่อเรื่อง อย่าเพิ่งเข้าใจผิด คิดว่ามีการกักกันหรือกักขังคนแก่ไว้ที่ไหนกัน ถึงต้องมีการวิ่งเพื่อปลดปล่อย ลองติดตามเรื่องไป ก็จะรู้ว่าเป็นการปลดปล่อยชนิดไหน

เจ้าของความคิดนี้ คือ นายแซม ฟรีแมน ชื่อของแกก็มีความหมายดี เพราะ “ฟรีแมน” (Freeman) แปลว่า ผู้เป็นอิสระเสรี นายฟรีแมนซึ่งมีอายุอานาม 68 ปีแล้ว มีความเห็นว่า ไม่มีใครแก่เกินไป คือ แก่จนหมดน้ำยาอะไรทำนองนี้ แกคิดว่าความเชื่อแบบนี้ (คือ แก่แล้วทำอะไรไม่ได้) เป็นความเชื่อผิดๆ พลอยทำให้คนสูงอายุฝังใจผิดคิดว่าตัวเองหมดสมรรถภาพแล้ว เลยงอมืองอเท้ารอความตายไปวันๆ โดยเฉพาะคนวัยเลย 60 ปี

เพื่อพิสูจน์ให้เห็น นายฟรีแมนเริ่มต้นวิ่งจากนครลอสแองเจลิส โดยมุ่งหมายที่จะวิ่งข้ามสหรัฐอเมริกาจากฝั่งตะวันตกไปตะวันออก เขาวิ่ง 21 กิโลเมตรในตอนเช้า และอีก 21 กิโลเมตรในตอนเย็น โดยการวิ่งเช่นนี้ทุกๆ วัน เขาสามารถเดินทางถึงนครวอชิงตันซึ่งอยู่บนฝั่งตะวันออกได้ภายใน 150 วัน คิดเป็นระยะทางทั้งสิ้น 6,300 กิโลเมตร เส้นทางอาจดูยาวเกินไปสำหรับการวิ่งข้ามสหรัฐอเมริกา นั่นก็เพราะว่า ฟรีแมนเลือกวิ่งอ้อมลงใต้ด้วยจุดประสงค์จะสัมผัสกับคนแก่ให้มากที่สุด เนื่องจากคนแก่ในอเมริกาที่เกษียณอายุแล้วมักจะเลือกอยู่รัฐทางใต้เพราะอากาศอบอุ่นสบายกว่า เมื่อไปถึงที่ใด ฟรีแมนจะบรรยายให้ผู้สูงอายุฟัง (โดยการจัดการของสมาคมผู้เกษียณอายุอเมริกันซึ่งสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ของนายฟรีแมนอย่างเต็มที่) ฟรีแมนพยายามชี้ให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นเห็นความจำเป็นของการออกกำลังกาย และชักชวนให้เชื่อว่า พวกเขายังมีพลังเพียงพอที่จะทำสิ่งต่างๆ แทนการนั่งเก้าอี้โยกตลอดทั้งวัน

ตัวฟรีแมนเองนอกจากการวิ่งซึ่งเขาทำเป็นกิจวัตรประจำวันมา 10 ปีแล้ว ก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาในแผนกศาลจราจรของนครนิวยอร์ก สำหรับการวิ่งคราวนี้ ฟรีแมนตั้งความหวังไว้เพียงว่า ถ้าเขาสามารถชักจูงคนให้มาสนใจออกกำลังกายได้เพียงรัฐละหนึ่งคน ก็ถือว่า บรรลุวัตถุประสงค์

หมายเหตุผู้รายงาน ในเมืองไทยก็มีกลุ่มคนซึ่งมีแนวคิดทำนองนี้ ได้แก่ สมาคมคลังปัญญา ซึ่งได้รวบรวมผู้เกษียณอายุทั้งหลายมาช่วยกันทำกิจกรรมต่างๆ วันก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปสังเกตการณ์กิจกรรมของสมาคม ณ บ้านคนชราบางละมุง เพื่อปลุกระดมให้คนแก่ที่นั่นได้เห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย จะได้กระฉับกระเฉงมีชีวิตชีวาขึ้น ในอนาคตอันใกล้ จำนวนผู้สูงอายุในเมืองไทยจะทวีจำนวนเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ น่าคิดว่าเราจะมีโครงการอะไรรองรับสำหรับประชากรกลุ่มนี้ ที่ยังมีโอกาสทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองได้อีกมาก

ข้อมูลสื่อ

122-035
นิตยสารหมอชาวบ้าน 122
มิถุนายน 2532
ไขข่าววิ่ง
นพ.กฤษฎา บานชื่น