• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัฒนธรรมการแสวงหาความรู้

วัฒนธรรมการแสวงหาความรู้

คุยกับผู้อ่านครั้งนี้เขียนที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ผมไปประชุมกรรมการตัดสินโครงการสนับสนุนการวิจัยโรคเขตร้อนที่สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก โรคเขตร้อนเป็นปัญหากับคนจำนวนมากเป็นพันล้านคน เช่น โรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน พยาธิปากขอ และพยาธิอื่นที่ไม่มีในบ้านเรา แต่มีมากในแอฟริกา ในอเมริกาใต้ และประเทศจีน เป็นต้น การที่จะควบคุมโรคเหล่านี้ได้ประเทศต่างๆ ต้องมีความสามารถในการวิจัยที่จะให้ทราบว่ามีปัญหาอะไร ชนิดไหน เกิดจากอะไร มีอะไรเป็นพาหะ พฤติกรรมอะไรที่ทำให้เป็นโรค จะใช้ยา วัคซีน การเปลี่ยนพฤติกรรม หรือวิธีอื่นใด จึงจะได้ผล

องค์การอนามัยโลกร่วมกับองค์การพัฒนาประชากรของสหประชาชาติและธนาคารโลก ได้ตั้งโครงการสนับสนุนการวิจัยเพื่อควบคุมโรคเขตร้อน ใช้เงินปีละ 600-700 ล้านบาท ทำมา 10 กว่าปีแล้ว การส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการวิจัยในประเทศกำลังพัฒนาทำได้ช้ามาก เพราะขาดคนที่มีความรู้ ตลอดจนนักการเมือง และผู้บริหาร สารธารณสุข ขาดความเข้าใจถึงความสำคัญของการวิจัย

ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งมีปัญหาสลับซับซ้อน ทั้งปัญหาเก่าและปัญหาใหม่ ต้องมีความรู้จริงจึงจะแก้ปัญหาให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้ การจะมีความรู้จริงต้องมีวัฒนธรรมการแสวงหาความรู้ มีวิธีแสวงหาความรู้ ซึ่งรวมถึงการวิจัยด้วย และการใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาต่างๆ มิใช่ทำไปตามอารมณ์โดยไม่ใช้ความรู้ เรายังไม่ค่อยมีวัฒนธรรมในเรื่องความรู้และการส่งเสริมให้เกิดความรู้เท่าใด ต่างจากในยุโรปและในอเมริกา ซึ่งมีผู้บริจาคเพื่อการศึกษาวิจัยให้เกิดความรู้กันมาก มีมูลนิธิต่างๆ เพื่อส่งเสริมความรู้เต็มไปหมด เช่น มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มูลนิธิฟอร์ด มูลนิธิเคลลอก เป็นต้น คนชื่อแมคอาเธอร์บริจาค 870 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 20,000 ล้านบาทเพื่อส่งเสริมคนที่มีผลงานสร้างสรรค์

ในครั้งโบราณ ปัญหายังไม่มาก การสร้างโบสถ์หรือสร้างศาลา ก็เพียงพอที่ทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้ ในปัจจุบัน การสร้างแต่วัตถุไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขเสียแล้ว ต้องมีปัญญาจึงจะแก้ปัญหาได้ ที่จริงก็ไม่ใช่ของใหม่ พระพุทธองค์ทรงกล่าวมานานแล้วว่า นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา เพียงแต่ความจริงอันนี้เห็นชัดมากขึ้นและต้องการมากขึ้น ท่ามกลางยุคสมัยแห่งความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

ข้อมูลสื่อ

123-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532
ศ.นพ.ประเวศ วะสี