• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ

โรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ

คนที่มาจากท้องถิ่นที่ต่างกันหรือมีการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน จะเข้าใจและให้คำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บไม่เหมือนกัน เพราะอะไรนะเด็กเล็กๆ คนหนึ่งจึงอุจจาระร่วง ชาวบ้านในชนบทเล็กๆ อาจจะบอกว่า เพราะพ่อแม่ของเด็กทำอะไรผิดไป ทำให้ผีสางนางไม้หรือเจ้าหน้าที่ทางการโกรธเคือง
หมอ มักจะตอบว่า เพราะเด็กได้รับเชื้อโรค

นักสุขาภิบาล อธิบายว่า เพราะชาวบ้านไม่มีน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดพอ และไม่ถ่ายอุจจาระในส้วม

นักปฏิรูปสังคม อาจจะให้ความเห็นว่า เพราะความอยุติธรรมของสังคม ทำให้เด็กขาดแคลนน้ำสะอาด จึงเกิดอาการอุจจาระร่วงบ่อยๆ

ครู อาจจะบอกว่า เพราะประชาชนขาดการศึกษา

แต่ละคนมองเห็นสาเหตุของโรคต่างๆกัน แล้วแต่ประสบการณ์ และทรรศนะของเขา ถ้าเช่นนั้นใครถูกล่ะ ที่จริงแล้วทุกคนถูก หรืออย่างน้อยก็ถูกเป็นบางส่วน เพราะความเจ็บป่วยมักเป็นผลมาจากสาเหตุหลายอย่างร่วมกัน แต่ละสาเหตุที่เขาเหล่านั้นอธิบายไว้ อาจจะเป็นคำตอบส่วนหนึ่งว่า ทำไมเด็กจึงอุจจาระร่วง

การมีความรู้ความเข้าใจมากที่สุดเท่าที่จะมีได้เกี่ยวกับสาเหตุต่างๆ และโรคภัยไข้เจ็บในท้องถิ่น จะช่วยทำให้การป้องกันและการรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งเนื้อหาต่อไปนี้จะกล่าวถึงโรคต่างๆ ตามระบบทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและสาเหตุของการเกิดโรค

ความเจ็บป่วยชนิดต่างๆ และสาเหตุ

เพื่อช่วยให้มีความเข้าใจเรื่องการป้องกันและการรักษาดีขึ้น จะขอแบ่งโรคออกอย่างง่ายๆ เป็น 2 ประเภท คือ โรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ

โรคติดเชื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ที่เข้าสู่ร่างกายของเรา อาจจะติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง หรือไม่ติดต่อก็ได้ ถ้าติดต่อได้ก็เรียกว่าโรคติดต่อ คือ เป็นโรคติดเชื้อที่ติดต่อกันได้จะป้องกันได้โดยการหลีกห่างจากผู้ป่วยและรักษาได้โดยยาฆ่าเชื้อโรคหรือยาปฏิชีวนะ

โรคติดเชื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคชนิดอื่น ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย เชื้อโรคเหล่านี้สามารถแพร่กระจายไปได้หลายทาง

แบคทีเรีย รา และปรสิตบางชนิด ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อ มีขนาดเล็กมากจนดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ไวรัสมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย มองไม่เห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน

ยาปฏิชีวนะ (เพนิซิลลิน เตตราซัยคลีน ฯลฯ) เป็นยารักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ยาปฏิชีวนะนี้จะไม่มีผลในการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส

โรคไม่ติดเชื้อ เกิดจากสาเหตุที่ไม่ใช่เชื้อโรค จึงไม่มีการระบาดติดต่อระหว่างกัน ไม่ใช่โรคติดต่อ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อโรคในการรักษา

ข้อควรจำ : ยาปฏิชีวนะไม่มีประโยชน์เลยสำหรับโรคไม่ติดเชื้อ

โรคต่างๆ เกิดจากหลายสาเหตุและต้องรักษาแตกต่างกัน แต่บางครั้งอาการแสดงออกของโรคเหล่านั้นคล้ายกันมากจนแยกโรคจากกันได้ยาก ตัวอย่างเช่น

1. เด็กคนหนึ่งร่างกายค่อยๆ ซูบผอมลง ขณะที่ท้องกลับป่องขึ้นเรื่อยๆ อาการเช่นนี้อาจเกิดจาก

- โรคขาดอาหาร

- มีพยาธิตัวกลม (มักเกิดร่วมกับโรคขาดอาหาร)

- วัณโรคขั้นรุนแรง

- โรคติดเชื้อเรื้อรังของระบบปัสสาวะ

- ความผิดปกติที่ตับหรือม้าม

- มะเร็งของเม็ดเลือด

2. ชายชราคนหนึ่ง ข้อเท้าค่อยๆ บวมขึ้น และกลายเป็นแผลเปื่อย อาการอาจจะเกิดจาก

- ระบบการไหลเวียนของเลือดไม่ดีเนื่องจากเส้นเลือดดำขอด

- เบาหวาน

- โรคติดเชื้อของกระดูก

- โรคเรื้อน

- วัณโรคของผิวหนัง

โรคแต่ละชนิดต้องการการรักษาแตกต่างกัน ดังนั้นการแยกให้ได้ว่าเป็นโรคอะไรจึงจำเป็นมาก ถึงแม้ดูเผินๆจะรู้สึกว่าโรคต่างๆ นั้นคล้ายกัน แต่ถ้าท่านซักถามและตรวจดูอาการอย่างถูกต้องก็จะบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร

ข้อควรระวังว่าโรคบางอย่างอาจจะไม่แสดงอาการในระยะแรก หรืออาการแสดงออกอาจจะสับสน ในกรณีที่เป็นปัญหา ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ บางครั้งอาจต้องมีการตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการ

จงทำเท่าที่ท่านทำได้เท่านั้น อย่าทำเป็นรู้ในสิ่งที่ท่านไม่รู้ เพราะจะเกิดความผิดพลาดได้ง่าย ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นโรคอะไร ควรจะรักษาอย่างไร และอาการของโรครุนแรงแค่ไหน จงขอความช่วยเหลือจากแพทย์

ข้อมูลสื่อ

123-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532
อื่น ๆ