• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหาร : ปัจจัยหลักของชีวิต

อาหาร : ปัจจัยหลักของชีวิต

เมื่อกล่าวถึง “อาหาร” ทุกคนรู้จักดี สำหรับคนไทยส่วนใหญ่จะนึกถึงข้าว กับข้าว และขนม แต่แท้ที่จริงแล้ว “อาหาร” มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น และที่สำคัญ คือ อาหารเป็นปัจจัยหลักของชีวิต เนื่องจากอาหารให้พลังงานแก่ร่างกาย อาหารให้การเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อาหารควบคุมการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายในร่างกาย และอาหารช่วยให้อวัยวะต่างๆทำงาน และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ ดังนั้น ในการเลี้ยงดู และให้การพยาบาล การให้อาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม จึงเป็นความจำเป็นสำหรับแต่ละบุคคล

“การดูแลเรื่องอาหารในบ้าน” ผู้ให้การดูแลควรมีความรู้เกี่ยวกับอาหารที่ครบส่วนและเพียงพอสำหรับร่างกาย ดังนี้

1. อาหาร “จำแนกประเภทออกตามสารอาหาร” เป็น 5 หมู่ คือ

หมู่ที่ 1 อาหารประเภทโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม และถั่ว

หมู่ที่ 2 อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ แป้ง ข้าว หัวเผือก มัน และน้ำตาล

หมู่ที่ 3 อาหารประเภทไขมัน ได้แก่ น้ำมันพืชและสัตว์ ไขมันสัตว์

หมู่ที่ 4 อาหารประเภทพืช ผัก ได้แก่ ผักต่างๆ

หมู่ที่ 5 อาหารประเภทผลไม้ ได้แก่ ผลไม้ชนิดต่างๆ

2. อาหาร “แบ่งตามหน้าที่เป็น 3 กลุ่ม” คือ

ก. อาหารที่ให้พลังงาน ได้แก่ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมัน สำหรับโปรตีน ถ้าร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ก็จะถูกเผาผลาญในร่างกายให้พลังงานได้เช่นกัน

ข. อาหารที่นำไปสร้างเป็นส่วนประกอบของร่างกาย ได้แก่ อาหารประเภทโปรตีน

ค. อาหารที่ใช้ควบคุมกระบวนการต่างๆ ภายในร่างกาย ได้แก่ อาหารประเภทผักและผลไม้ ซึ่งประกอบด้วย เกลือ แร่ธาตุต่างๆ และวิตามิน

3. ไม่มีสารอาหารใดทำหน้าที่ทั้ง 3 ประการได้อย่างครบถ้วน ดังนั้น จึงต้องกินอาหารหลายๆ ชนิดเพื่อร่างกายจะได้รับสารอาหารครบถ้วน

4. ปริมาณอาหารที่กินขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกาย ซึ่งแตกต่างกันตามเพศ วัย และสภาวะการทำงานของแต่ละบุคคล

5. อาหารสำหรับผู้ป่วยที่ต้องควบคุมหรือจำกัดอาหารบางประเภท เรียกว่า “อาหารเฉพาะโรค”

ข้อมูลสื่อ

123-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์