• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อควรรู้ 5 ประการเกี่ยวกับโรคอีสุก-อีใส

ข้อควรรู้ 5 ประการเกี่ยวกับโรคอีสุก-อีใส

ระยะนี้ในช่วงที่ผมไปทำงานนอกเวลาที่คลินิกแห่งหนึ่ง มักจะพบผู้ปกครองพาเด็กที่ป่วยมารับการรักษา ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการที่เห็นแว่บแรกก็แทบจะให้การวินิจฉัยได้เลย เพราะมีลักษณะคล้ายกันหมด คือ ผื่นเป็นตุ่มหนองใส เม็ดเล็ก เม็ดใหญ่ ทั้งที่หน้า ที่แขนเต็มไปหมด แต่รายที่น่าสนใจ คือ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน (การเขียนต้นฉบับนี้) มีชายไทยอายุประมาณ 27 ปี มาหาผมด้วยอาการดังกล่าวข้างต้น และมีคำถามหลายคำถามที่น่าสนใจมาก และเป็นข้อคิดให้ผมนำมาเขียนต้นครั้งนี้นั่นเอง

ครับ วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องโรคที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อ “โรคอีสุกอีใส” ซึ่งต้องขอชมผู้ที่คิดชื่อนี้ขึ้นมา ว่าช่างฉลาดตั้งชื่อได้อย่างเหมาะสม เพราะสามารถอธิบายอาการได้เป็นอย่างดี คำถามที่ผู้ป่วยถามผมเป็นอย่างที่เขียนถาม แต่คำตอบตอนนั่งคุยที่คลินิกไม่ได้ละเอียดแบบนี้หรอกนะครับ

ผู้ป่วย : โรคนี้ผู้ใหญ่แบบผม (อายุ 27 ปี) เป็นด้วยหรือครับคุณหมอ

ตอบ : จากข้อมูลที่กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รับปีละกว่า 5,000 ราย และสูงถึงหมื่นรายในปีที่ผ่านมา สามารถกล่าวได้ว่า โรคอีสุกอีใสเป็นโรคของเด็ก เพราะเราพบว่า กว่าร้อยละ 85 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใส จากที่เราได้รับรายงาน เป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีลงมา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่รับมาก็มีผู้ป่วยที่เหลือกระจายไปทุกอายุ เช่น ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีก็ยังพบได้ เป็นต้น

ผู้ป่วย : นอกจากตุ่มใสๆที่เห็นตามตัวผมนี้แล้ว ยังมีอาการอะไรบ้างที่พบในโรคอีสุกอีใสนี้ครับ

ตอบ : ขอย้อนไปพูดถึงคำว่า “ระยะฟักตัว” ก่อนว่า หมายถึง ระยะที่เรานับตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Varicella-zoster virus ไปจนกระทั่งเริ่มปรากฏอาการป่วย ระยะฟักตัวในโรคอีสุกอีใสนี้กินเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ 2 สัปดาห์) ในตอนที่สิ้นสุดระยะฟักตัวก็จะเริ่มมีอาการนำ ได้แก่ มีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เบื่ออาหารประมาณ 1 วัน จากนั้นก็จะมีผื่นขึ้นตามตัวก่อนกระจายไปแขนขาและใบหน้า ผื่นจะมีลักษณะแดง ก่อนจะเป็นตุ่มใสมีน้ำอยู่ข้างใน อาจจะแตกหรือแห้งยุบไปเองก็ได้แล้วจะตกสะเก็ด ผื่นที่ว่านี้อาจจะมีอาการคันได้ โดยทั่วไปแล้วอาการที่เล่ามาทั้งหมดนี้จะกินเวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 7 วัน

ผู้ป่วย : โรคนี้จะเป็นอันตรายมากไหมครับ

ตอบ : ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักมีอาการน้อย ไปจนถึงอาการที่เล่ามาข้างต้นนี้ มีน้อยรายมากที่จะมีอาการรุนแรงคล้ายไข้ทรพิษ (ที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่า เราสามารถปราบให้หมดไปแล้วจากโลกนี้) คือ ตุ่มจะโตกว่าปกติและขึ้นอย่างหนาแน่น บางรายอาจมีตุ่มขึ้นที่เยื่อบุในปาก ทำให้กินอาหารได้ลำบากมาก หรือมีตุ่มที่เยื่อบุอวัยวะเพศ มีอาการเจ็บแสบค่อนข้างมาก หรือมีตุ่มที่บริเวณเยื่อบุตา หรือบริเวณแก้วตาดำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อการมองเห็นได้ โรคแทรกที่อาจจะเป็นอันตรายถึงพิการหรือถึงแก่ชีวิต (โชคดีที่พบได้น้อยมาก) คือ สมองอักเสบในผู้ป่วยเด็ก หรือปอดบวมในผู้ใหญ่มากกว่า

ผู้ป่วย : การรักษาตัวทำได้อย่างไรครับ จำเป็นหรือไม่ว่าผู้ป่วยทุกคนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

ตอบ : ดังที่กล่าวข้างต้นว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียารักษาจำเพาะ แต่จากการที่อาการมักจะไม่รุนแรง ดังนั้นผู้ป่วยอาจจะรักษาตัวในระยะแรกด้วยยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาพาราเซตามอลสำหรับลดไข้ แก้ปวด ตามขนาดยาที่กำหนดสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ ยาคลอร์เฟนิรามีนสำหรับแก้คัน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ช่วยในกรณีที่ไข้สูง ไม่เกา หรือแกะตุ่ม เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างอื่นที่ติดมากับเล็บเกิดการติดเชื้อขึ้นได้

ข้อบ่งชี้ในการพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาล คือ การเกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่ ตุ่มที่เป็นรุนแรง ตุ่มในเยื่อบุปาก ทำให้กินอาหารไม่ได้ ตุ่มที่เยื่อบุตา สมองอักเสบหรือปอดบวม เป็นต้น

ผู้ป่วย : โรคนี้ติดต่อไหมครับ ถ้าติดต่อจะป้องกันได้อย่างไร

ตอบ : เป็นคำถามที่ดีมาก เพราะผู้ที่เป็นแล้วก็ต้องรักษากันไป แต่ทำอย่างไรจึงจะกันไม่ให้ผู้ที่ใกล้ชิดป่วยตามไปด้วย นี่สำคัญมาก

โรคอีสุกอีใสติดต่อกันได้ครับ และสามารถแพร่เชื้อไปได้อย่างรวดเร็วมาก และเป็นเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงในการติดต่อไปยังผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เพราะจากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า ร้อยละ 70-80 ของผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันที่อาศัยในบ้านเดียวกับผู้ป่วยจะป่วยตามมาในภายหลัง

ดังนั้นการป้องกันขั้นแรก คือ ถ้าเป็นนักเรียน ถ้ามีไข้ต้องหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ หรือรอให้ผื่นแห้งหมด เพื่อให้พ้นจากระยะแพร่เชื้อจะช่วยป้องกันการระบาดในโรงเรียนได้ ที่บ้านผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการไปคลุกคลีกับเด็กอื่นในระยะที่แนะนำช่วงหยุดเรียน

ปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีนสำหรับโรคนี้ ส่วนการให้ภูมิคุ้มกันซีรั่มนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย เพราะราคาแพงและหาได้ยากมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีพ คือ จะไม่เป็นโรคนี้ซ้ำอีก

ข้อควรระวังสุดท้าย คือ ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะโดยจากโรคเลือด หรือโรคเอดส์ เป็นต้น มักจะมีอาการรุนแรงและมีโรคแทรกเสมอ จึงควรหลีกเลี่ยงจากการสัมผัสกับผู้ป่วยอีสุกอีใสอย่างเด็ดขาด

ข้อมูลสื่อ

123-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532
อื่น ๆ
นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์