• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จิตบำบัด...รักษาผู้ป่วยได้อย่างไร

จิตบำบัด...รักษาผู้ป่วยได้อย่างไร

ความเจ็บไข้ได้ป่วยในแต่ละโรคต้องการการดูแลรักษาที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็จะได้รับยากินหรือยาฉีด ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบก็ต้องใช้วิธีผ่าตัด ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง ไข้สูง ก็อาจจะได้รับการบำบัดด้วยการให้น้ำเกลือหรือให้ยาปฏิชีวนะตามอาการป่วยนั้นๆ

โรคทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ป่วยเป็นโรคจิต โรคประสาท โรคซึมเศร้า ก็ต้องการการรักษาบำบัดที่แตกต่างกัน บางรายจำเป็นต้องใช้ยาฉีด บางรายการกินยาก็ได้ผลดีแล้ว บางรายต้องรับไว้นอนในโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการและให้การรักษาร่วมกับการทำกิจกรรมบำบัด และมีอีกหลายๆ รายที่จิตบำบัดเป็นวิธีรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุด

จิตบำบัดเริ่มมีบทบาทในวงการแพทย์เพื่อให้บำบัดรักษาอาการของผู้ป่วยทางด้านจิตใจมาตั้งแต่ปี
พ.ศ.2428 โดยจิตแพทย์ชาวยิวชื่อ นายแพทย์ซิกมันด์ ฟรอยด์ เขาได้เริ่มนำจิตบำบัดมาใช้ในวงการแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วย ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและวิจัยจนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ หลังจากนั้นจิตบำบัดก็ถูกนำมาเผยแพร่ และได้มีการศึกษาเพิ่มเติม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบมาใช้ตามความเหมาะสมต่างๆ กัน เช่น จิตบำบัดแบบตัวต่อตัวชนิดประคับประคอง จิตบำบัดแบบตัวต่อตัวชนิดลึกซึ้ง จิตบำบัดแบบกลุ่ม และจิตบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่อาการหนัก แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจิตบำบัดทุกรูปแบบต่างมีจุดมุ่งหมายในการรักษาผู้ป่วยที่แตกต่างกัน แต่พื้นฐานส่วนใหญ่จะมีข้อคล้ายคลึงกันหลายๆ อย่าง

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะจิตบำบัดแบบตัวต่อตัว ซึ่งเป็นวิธีที่นำมาใช้ในการบำบัดผู้ป่วยทางด้านจิตใจอย่างกว้างขวาง และเพื่อเป็นการทำความเข้าใจกับผู้อ่านหลายท่านที่มีความสงสัยและสนใจว่าจิตบำบัดนั้นทำกันอย่างไร มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วยทางด้านสุขภาพจิตทั้งหมดที่มีความเหมาะสมที่จะรับการรักษาแบบนี้ ซึ่งจิตแพทย์จะใช้หลักในการพิจารณาเลือกผู้ป่วยคร่าวๆ ดังนี้ คือ

1. อายุ อยู่ในช่วงระหว่าง 20-40 ปี เพราะเป็นวัยซึ่งมีโอกาสปรับตัว แก้ไขปัญหา และสามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้อีกเป็นระยะเวลานาน

2. มีสติปัญญาปานกลาง จนถึงขั้นฉลาด

3. มีความตั้งใจและให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างดี

4. สามารถมาพบแพทย์ตามนัดได้อย่างสม่ำเสมอติดต่อกันจนกระทั่งหายขาด ปกติแล้วการรักษาชนิดนี้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง นานติดต่อกันประมาณ 2-3 ปี เมื่อจิตแพทย์ได้ตรวจและพิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยน่าจะได้รับการรักษาด้วยจิตบำบัดร่วมกับการรักษาอื่นๆ ที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ เช่น การใช้ยา จิตแพทย์ก็จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบเพื่อถามความสมัครใจ ถ้าผู้ป่วยมีความต้องการและสามารถมาพบตามที่จิตแพทย์นัดหมายได้ การรักษาก็จะเริ่มต้นขึ้นทันที ไม่ว่าผู้ป่วยจะป่วยเป็นโรคจิต โรคประสาท หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ก็ตาม โดยในขั้นแรกจิตแพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงขั้นตอนของการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าว คือ

ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ให้ตรงตามนัดทุกครั้ง ถ้ามีความจำเป็นมาไม่ได้ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า
ถ้าผู้ป่วยมาช้าหรือมาไม่ตรงเวลานัด แต่อยู่ในช่วงที่ยังเป็นระยะเวลาของการรักษาของผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยจะพบจิตแพทย์ได้ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่เท่านั้น ถ้าขาดการรักษาติดต่อกันถึง 3 ครั้งโดยไม่แจ้งให้แพทย์ทราบ แพทย์ก็จะพิจารณารับผู้ป่วยอื่นที่พร้อมจะมารับการบำบัดแทน

เมื่อผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์ ผู้ป่วยจะสามารถเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกเรื่อง รวมทั้งความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ หรือความฝันให้จิตแพทย์ฟังได้ เพื่อจิตแพทย์จะได้นำมาเป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่ทำให้สามารถเข้าใจผู้ป่วยได้มากขึ้น ถ้าผู้ป่วยไม่รู้จะเล่าเรื่องอะไร แพทย์จะเป็นผู้ถามเอง

ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติ (crisis) ผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะโทรศัพท์มาหาจิตแพทย์ได้ก่อนเวลานัดหมาย เพื่อที่จิตแพทย์จะได้พิจารณาหาเวลาให้ผู้ป่วยได้พบก่อนกำหนด การพบกันในชั่วโมงของการทำจิตบำบัด จิตแพทย์จะเป็นผู้รับฟังและซักถามข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้ป่วย ตลอดจนความรู้สึกและปฏิกิริยาที่ผู้ป่วยมีต่อเหตุการณ์นั้นๆ นอกจากนั้นยังช่วยให้จิตแพทย์ทราบถึงความเจ็บป่วยทางจิตใจของผู้ป่วยว่าเกิดขึ้นและดำเนินมาอย่างไร อีกทั้งมีหนทางใดที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ตัวเองผ่านพ้นอุปสรรคและปัญหาชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้ราบรื่นขึ้นกว่าเดิม

การรักษาแบบจิตบำบัดโดยทั่วๆ ไป แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ

ระยะเริ่มต้น ระยะนี้จิตแพทย์จะเก็บข้อมูลที่ได้จากผู้ป่วย ติดตามความคิด ความรู้สึก และปฏิกิริยาของผู้ป่วย จนสามารถเข้าใจได้ว่าการเจริญเติบโตทางด้านจิตใจ การพัฒนาทางด้านความคิด และการแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยในวัยต่างๆ ของชีวิต เช่น ในวัยเด็ก วัยรุ่น วัยอุดมศึกษา และวัยทำงาน ดำเนินมาเป็นขั้นตอนได้อย่างไร ขณะเดียวกัน การพบปะกันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยจะทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีขึ้นทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยจะเกิดความไว้วางใจจนกล้าที่จะเล่าเหตุการณ์ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ เรื่องที่ทำให้ดีใจ เสียใจ หรือแม้แต่เรื่องที่เป็นความลับที่ผู้ป่วยไม่อาจจะเล่าให้ใครฟังได้ ตลอดจนการแสดงความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติของตัวผู้ป่วยเอง ทำให้แพทย์ได้มีโอกาสเรียนรู้ผู้ป่วยอย่างลึกซึ้ง

ระยะที่สอง เรียกกันว่า ระยะกลาง ระยะนี้ผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นกันเองกับจิตแพทย์มากขึ้น มีความรู้สึกผูกพันอยากที่จะมาพบจิตแพทย์ เพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น บางครั้งผู้ป่วยอาจจะแสดงอารมณ์ต่างๆ อย่างรุนแรงเมื่อเล่าถึงบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อาจจะมีการด่าทอผู้ที่ผู้ป่วยไม่พอใจ จิตแพทย์ก็จะอาศัยสัมพันธภาพอันดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ชี้ให้ผู้ป่วยมองเห็นพฤติกรรมของตนเองในการแก้ปัญหา ซึ่งพฤติกรรมหลายๆอย่างที่ผู้ป่วยใช้ในการแก้ปัญหาอาจจะนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยแสดงความก้าวร้าวต่อผู้บังคับบัญชา หัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงานบ่อยๆ จนทำให้คนที่อยู่รอบๆ ตัวมีความรู้สึกต่อต้าน เบื่อหน่าย และปฏิเสธผู้ป่วย พฤติกรรมส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่แสดงต่อบุคคลทั่วๆ ไปในสังคมมักเกิดจากปัญหาที่ซ่อนเร้นสะสมอยู่ในพัฒนาการระยะต่างๆ ของชีวิตที่ผ่านมานั่นเอง ด้วยท่าทีที่เข้าใจ รับฟัง และเป็นมิตรของจิตแพทย์ ผู้ป่วยจะสามารถเข้าใจตัวเองได้ การชี้ให้เห็นการกระทำที่ก่อให้เกิดปัญหากับตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจและไม่รู้ตัวมาก่อน เป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยหันกลับมาศึกษาตัวเองและพฤติกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันเมื่อมองเห็นปัญหาชัดขึ้น ผู้ป่วยและจิตแพทย์ก็จะร่วมกันลงมือทำงาน เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม ลดปัญหา และใช้วิธีแก้ปัญหาใหม่ที่ถูกต้อง โดยไม่นำเอาความรู้และความรู้สึกในอดีตที่ผ่านมาของผู้ป่วยมาใช้ในการแก้ปัญหาเหมือนเดิม ทำให้ผู้ป่วยปรับตัวได้ดีขึ้น

ระยะที่สาม เป็นระยะที่แพทย์เริ่มเตรียมผู้ป่วยให้ทราบว่า การรักษากำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยสามารถพัฒนาศักยภาพขึ้นได้ในตัวเอง ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันสมตามเหตุและผลของความเป็นจริง สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม เป็นการลดปัญหาอื่นๆ ลง และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกผูกพันจนไม่อยากหยุดการมาพบแพทย์ และรู้สึกต่อแพทย์ในลักษณะต่างๆ กัน เช่น แพทย์เป็นที่พึ่ง แพทย์เป็นผู้ให้โอกาสผู้ป่วยเหมือนกับที่ผู้ป่วยเคยพยายามแสวงหาความช่วยเหลือในอดีตที่ผ่านมา และเมื่อจิตแพทย์แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยเองก็มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาตัวเอง และขณะนี้ถ้าสามารถทำอะไรๆ ได้อย่างดีแล้ว การทำจิตบำบัดก็จะยุติลง

ช่วงที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนของการทำจิตบำบัด ผู้ป่วยอาจจะต้องได้รับการรักษาด้วยยาควบคู่ไปด้วย หรือไม่เช่นนั้นก็แล้วแต่ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา แต่เมื่อการทำจิตบำบัดสิ้นสุดลง จะพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่หายขาดแล้ว คือไม่ต้องใช้ยา ไม่ต้องมาพบแพทย์ สามารถแก้ไขปัญหาทั้งที่ยากและง่ายให้จบสิ้นได้อย่างดี สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ดีกว่าเดิมเหมือนกับผู้ป่วยทางกายบางรายที่อาจจะต้องมาพบแพทย์ด้วยอาการอักเสบเป็นฝีที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย ศัลยแพทย์จะเป็นผู้ผ่าตัดเอาหนองออก ทำให้อาการเจ็บป่วยหายไป อาการอักเสบและบวมก็พลอยหายไปด้วย จิตบำบัดก็เช่นเดียวกัน จิตแพทย์จะเป็นผู้ทำการรักษาและบำบัดความรู้สึกเก่าๆ ในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นฝีทางใจ แต่ฝีที่ไม่มีใครสามารถมองเห็น แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกทุกครั้งที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบ เช่น เมื่อคนรอบๆ ตัวพูดถ้อยคำบางอย่าง ซึ่งอาจจะไม่มีความหมายรุนแรง แต่เกิดไปกระทบกับฝีทางใจของผู้ป่วย ทำให้เกิดอาการรุนแรงเกินกว่าความหมายจริงๆ ของคำๆ นั้น ดังนั้น ภายหลังการรักษาทางจิตบำบัดแล้ว ผู้ป่วยก็ไม่มีฝีทางใจ สามารถทนต่อการกระทบกระทั่งของคนรอบๆ ข้างได้ดีกว่าเดิม และสามารถปรับตัวได้เช่นเดียวกับผู้ที่มีสุขภาพจิตดีทั้งหลาย

ข้อมูลสื่อ

123-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532
กานต์หทัย วงศ์อริยะ