• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กว่าจะถึงชั้นประถม...ก็สายเสียแล้ว

เริ่มสอนหนังสือเด็กเมื่ออายุเท่าใดดี
การเรียนหนังสือของเด็กควรจะเริ่มต้นเมื่อไร กำลังเป็นปัญหาที่โต้เถียงกันทั่วโลก แต่ดั้งเดิมนั้นแทบทุกประเทศถือว่าเด็กควรจะเริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุ 6 ขวบ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ยึดถือเกณฑ์อายุ 6 ขวบนั้นย่อมมีเหตุผลที่ดีจึงได้ยึดถือปฏิบัติกันมานาน ฝ่ายก้าวหน้าที่มีแนวคิดใหม่ ก็พยายามทำการศึกษาหาหลักฐานมาโต้เถียงว่า การเรียนของเด็กน่าจะเริ่มต้นเมื่ออายุน้อยกว่านี้

เราที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ และนักการศึกษาน่าจะได้ทราบความคิดเห็นทั้งสองฝ่าย เพื่อทราบว่าฝ่ายไหนจะดีกว่า หรืออาจนำเอาส่วนดีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือมีความยึดถือแบบเก่านั้น ยืนยันว่าการตั้งเกณฑ์อายุ 6 ขวบเข้าเรียนหนังสือนั้นเป็นอายุที่เหมาะสมที่สุด โดยอ้างว่าสมองเด็กจะพัฒนาเพียงพอที่จะเรียนหนังสือได้ ถ้าอายุต่ำกว่านั้นสมองเด็กยังอ่อนแอเกินไป และถ้าหากเริ่มให้เด็กเรียนตั้งแต่อายุยังน้อยจะเกิดผลร้ายมากมาย เช่นว่าจะทำให้เด็กกลายเป็นคนโง่ ปัญญาอ่อน เป็นคนขี้เกียจเรียน ในระยะยาว เมื่อโตขึ้นเข้ามหาวิทยาลัยก็จะเรียนแบบขอไปที เพราะเรียนมามากแล้ว ท่านผู้เชี่ยวชาญบางท่านถึงกับชี้ผลร้ายว่าจะทำให้เด็กกลายเป็น “ทอม” หรือหันไปนิยมกิจกรรมทางเพศ หันไปหายาเสพติด และมีอาการทางกายเช่นอาเจียน เบื่ออาหาร น้ำมูกน้ำลายไหล ไม่อยากไปโรงเรียน ฯลฯ ทำให้เด็กขาดความสุขในวัยของเด็กตามธรรมชาติ การเร่งให้เด็กเรียนเร็วเกินไปจึงเป็นบาป

จากการค้นคว้าความเป็นมาของฝ่ายที่มีความคิดว่า การเรียนของเด็กไม่ควรจะเริ่มต้นเร็วเกินไปนั้น พอจะรวบรวมมาเล่าให้ฟังได้พอเป็นสังเขปดังต่อไปนี้

จัง จาค รูสโซ (Jean Jacques Rouseau 1712-1778) นักปรัชญาและนักการศึกษาชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ในเรื่อง Emile กล่าวถึงการศึกษาในอุดมคติของเด็กคนหนึ่งซึ่งสมมุติขึ้น รูสโซบอกว่า อีมิลเมื่ออายุ 12 ปี ยังไม่ทราบเลยว่าหนังสือคืออะไร การศึกษานั้นถ้าไม่รีบร้อนนักย่อมย่อมจะสำเร็จและด้วยความแน่นอนรูสโซเชื่อว่าอีมิลจะอ่านเขียนหนังสือได้อย่างดีก่อนอายุ 15 ปี

แต่ก็มีผู้แย้งว่าโลกของรูสโซนั้นแตกต่างกว่าโลกปัจจุบันนี้มาก ในศตวรรษที่ 18 คนทั่วไปมิได้อยู่ท่ามกลางตัวหนังสือเหมือนปัจจุบันนี้ การอ่านหนังสือเป็นเพียงเพื่อความรื่นรมย์ อยากจะอ่านหรือไม่ก็อยู่ที่อารมณ์ในยามว่างเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนี้การอ่านหนังสือออกนั้นสำคัญเท่าๆกับหูได้ยินเสียงพูดหรือจมูกดมกลิ่นได้ พฤติกรรมของเด็ก ความโน้มเอียงที่จะดำเนินชีวิตไปในทางใด ศักยภาพและความสามารถต่างๆของเด็กซึ่งจะห่อหลอมชีวิตเด็กนั้น เริ่มต้นตั้งแต่เด็กยังเยาว์วัย และความสามารถในการเขียนอ่านแต่เยาววัยนั้น ย่อมช่วยทำให้เด็กมีโอกาสแสวงหาความรู้ต่างๆได้มากและรวดเร็ว

จอห์น ดิวอี้ (John Dewey 1859-1952) นักปรัชญาและนักการศึกษาคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา ท่านได้ให้ความเห็นไว้ในปี ค.ศ.1898 ว่า อวัยวะรับความรู้สึกและระบบประสาทของมนุษย์นั้นยังไม่เติบโตและปรับตัวให้สามารถจะทำงานอันละเอียดอ่อน เช่น การอ่านหรือเขียนหนังสือได้จนกว่าเด็กจะอายุ 8 ขวบ ยิ่งกว่านั้นดิวอี้ยังให้ความเห็นว่า การสอนให้เด็กอ่านหนังสือก่อนอายุ 8 ขวบ จะทำให้เด็กปัญญาอ่อน

ในระยะหลังนี้ความเห็นของดิวอี้มีผู้โต้แย้งมาก โดยบอกว่าเป็นความเชื่อเลื่อนลอย ไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆเลย ยิ่งข้ออ้างที่ว่าถ้าเรียนหนังสือตั้งแต่เล็กจะทำให้ปัญญาอ่อนนั้นยิ่งไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ตรงข้ามถ้าไปตรวจสอบดูทางประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นว่าผู้ที่อ่านหนังสือออกตั้งแต่อายุน้อยนั้น เป็นผู้เฉลียวฉลาด และบางคนอยู่ในระดับอัจฉริยะ

จี.ที.ดับเบิลยู แพตทริก (G.T.W. Patrick) เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนความคิดเห็นของดิวอี้มาก เป็นผู้เสนอความคิดว่า ควรประวิงเวลาการเรียนหนังสือไปจนถึงอายุ 10 ขวบ ท่านเชื่อว่าจิตใจของเด็กนั้นยังไม่เติบโตพอที่จะเรียนหนังสือ

อย่างไรก็ตามความคิดเห็นของดิวอี้มีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาและของโลกมาก แทบทุกประเทศจึงมีระบบการศึกษาที่เริ่มต้นชั้นประถมเมื่ออายุ 6 ขวบ เรื่อยมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20

จี.สแตนลีย์ ฮอลล์ และอาร์โนลด์ เกสเซลล์
(G. Stanley Hall and Arnold Gesell) ทั้งสองคนนี้เป็นนักจิตวิทยาและแพทย์ตามลำดับ ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้เริ่มต้นนำเอาวิทยาศาสตร์ทางชีววิทยาและสรีรวิทยามาอธิบายการเรียนหนังสือของเด็ก และได้อธิบายโดยใช้กฎแห่งการวิวัฒนาการทวนซ้ำ (Doctrine of Recapitulation) คือ มนุษย์หรือสัตว์ย่อมต้องพัฒนาเติบโตขึ้นโดยผ่านขั้นตอนตามลำดับเช่นเดียวกับบรรพบุรุษ เช่น มนุษย์จะต้องผ่านขั้นที่มีเหงือกเหมือนปลาเมื่อเป็นเอมบริโอในครรภ์มารดาเรายังมีกระดูกหาง (Coccic) ติดก้นกันอยู่ทุกคน และโดยทฤษฎีของระยะการเติบโตตามวัย (Theory of Maturation) เช่นเด็กจะคลานได้เมื่ออายุ 5-6 เดือน นั่งได้เองเมื่อ 10 เดือน และเดินได้เมื่ออายุ 15 เดือน ความสามารถทางกายเหล่านี้เราสามารถหน่วงเหนี่ยวให้ช้าลงได้ แต่จะเร่งให้เร็วขึ้นได้ยาก เช่น เด็กจะคลานได้ก็ต้องคอยให้กล้ามเนื้อและระบบประสาทพัฒนาไปในระดับหนึ่ง จะนั่งหรือเดินก็จะต้องคอยไปอีกระยะหนึ่งจนถึงระยะความเติบโตของวัย (Maturation) เด็กจึงสามารถจะทำได้

ทฤษฎีดังกล่าวนี้ เมื่อนำไปอธิบายกับการเรียนหนังสือจึงได้รับความเชื่อถือมาก เช่นเมื่อครูพบว่าเด็กบางคนในชั้นประถม 1 และอายุ 6 ขวบแล้ว แต่มีความลำบากที่จะสอนให้อ่านหนังสือก็จะอธิบายด้วยทฤษฎีดังกล่าว แทนที่ครูจะไปมองหาสาเหตุอื่นๆ เช่นวิธีสอนบกพร่องหรือเปล่า หนังสือเครื่องมือเครื่องใช้ดีพอหรือไม่ แต่ครูจะไปสรุปง่ายๆว่าเด็กคนนั้นยังไม่บรรลุวัยที่โตพอจะเรียนหนังสือ (Reading maturation) และเกสเซลล์ตั้งศัพท์ว่าเด็กยังไม่ถึงวัยที่พร้อมจะอ่าน (Reading readyness) ทั้งที่เด็กอายุเกิน 6 ขวบแล้ว

มาเบล มอรเฟตต์ และเคลตัน วอชเบิร์น (Marbel Morphett & Caleton Washburn, Winnetka Illinois) ในปีค.ศ.1931 ได้รายงานการค้นคว้าเรื่องการเรียนของเด็ก พบว่าเด็ก 6 ขวบเมื่อผ่านชั้นประถมปีที่ 1 ไปแล้ว ยังเหลืออยู่จำนวนหนึ่งที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก รายงานนี้ทำอย่างสมบูรณ์ ประกอบด้วยตัวเลขสถิติที่ครบถ้วนและสรุปไว้ว่า “การสอนให้เด็กอ่านหนังสือนั้นควรจะเลื่อนต่อไปได้จนกว่าเด็กจะถึงวัยที่เติบโตพอ” การเลื่อนเวลาเรียนต่อไปจะได้ประโยชน์คือ จำนวนอัตราส่วนของเด็กอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ครูจะเสี่ยงต่อความล้มเหลวน้อยลง ครูจะไม่เสียกำลังใจ และการประเมินประสิทธิภาพในการสอนของครูก็จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากวอชเบิร์นเป็นนักการศึกษาที่มีชื่อเสียง ข้อสรุป และข้อเสนอแนะนั้นมีประโยชน์ต่อครู ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ นักการศึกษาและนักจิตวิทยาจึงเห็นด้วยมากมาย ผู้ที่ไม่เห็นด้วยซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ตำหนิว่าชัยชนะส่วนตัวของมอรเฟตต์และวอชเบิร์นคือ ความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ของชาติ เพราะในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา รายงานการค้นคว้านี้ไปมีอิทธิพลกดความคิดอื่นๆของนักการศึกษามากมาย ทำลายความคิดคำนึงในการริเริ่ม หมดความพยายามที่จะศึกษาค้นคว้าวิธีการหรือแนวทางอื่นๆในการเรียนหนังสือของเด็ก

ซิดนี่ เล็ดสัน (
Sidney Ledson ผู้แต่งเรื่อง Teach Your Child to Read in 60 Days) กล่าวว่าในโลกนี้มีสงครามหลายอย่าง เช่น สงครามเชื้อชาติ สงครามศาสนา และการต่อสู้กันในทางความคิดเกี่ยวกับการเรียนของเด็กก็น่าจะเรียกว่าสงครามการศึกษา การสงครามนั้นย่อมมีผู้รับเคราะห์กรรมจากสงคราม ในสงครามการศึกษานี้เด็กเล็กๆเป็นผู้รับเคราะห์กรรม นักการศึกษา ครูบาอาจารย์ จึงควรจะนำมาไตร่ตรองหาเหตุผลและทำการค้นคว้าวิจัยในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในที่นี้ก็จะขอนำการศึกษาค้นคว้าและหลักฐานของความคิดแนวอื่นมาเสนอ

ซิดนี่ เล็ดสัน และ เกลนน์ ดอมแมน (Glenn Doman ผู้เขียนเรื่อง Teach Your Baby to Read) และรูดอฟ เฟลสช์ (Rudolph Flesch ผู้เขียนเรื่อง Why Johny Can’t Read) ต่างยืนยันว่าเท่าที่ค้นคว้าศึกษาอย่างละเอียด ไม่ปรากฏว่าเด็กที่เรียนหนังสือตั้งแต่เยาว์วัยนั้น มีอันตรายแต่ประการใดทั้งด้านร่างกายและจิตใจเลย และที่ดิวอี้ว่าจะทำให้เด็กปัญญาอ่อนนั้นกลับพบว่าเด็กที่เรียนหนังสือแต่อายุน้อยๆเป็นคนที่เฉลียวฉลาด และบางคนอยู่ในระดับอัจฉริยะ

ดร.แคทเทอรีน คอกซ์ (Catherine Cox ผู้เขียนเรื่อง A Genetic Study of Genius) ได้รายงานในหนังสือของเธอว่า มีบุคคลจำนวนมากที่เป็นนักปราชญ์ นักคิด และนักวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้เรียนหนังสือตั้งแต่อายุน้อยมากทั้งสิ้น เช่น

- เจเรมี่ เบนแทม (Jeremy Bentham 1748-1832) เป็นนักกฎหมาย และเป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษ เรียนรู้ตัวอักษรตั้งแต่ก่อนพูดได้ เมื่ออายุ 3 ขวบ อ่านหนังสือได้คล่องแคล่วและเริ่มเรียนภาษาลาตินแล้ว

- โทมัส แมคคอเลย์ (Thomas Macaulay 1800-1859) นักประวัติศาสตร์และรัฐบุรุษชาวอังกฤษ อ่านหนังสืออย่างคล่องแคล่วตั้งแต่อายุ 3 ขวบ และสามารถเล่าเรื่องนิทานต่างๆ ที่อ่านมาหรือคิดขึ้นเองอย่างคล่องแคล่วไม่ติดขัด

- บลาส์ ปาสคาล (Blaise Pascal 1623-1662) นักคณิตศาสตร์และนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส บิดาเขาสอนให้อ่านหนังสือตั้งแต่อายุ 3 ขวบ

- เซอร์ ฟรานซิส กาลตัน (Sir Francis Galton 1822-1911) เป็นลูกพี่ลูกน้องของชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin ผู้คิดทฤษฎีการวิวัฒนาการ Theory of Evolution) กาลตันเป็นนักมานุษยวิทยาและเป็นผู้คิดค้นวิธีใช้ลายมือเป็นหลักฐานการตรวจสอบทางอาชญากรรม ท่านผู้นี้จำตัวอักษรได้ตั้งแต่อายุ 18 เดือน อ่านหนังสือเล่มแรกเมื่ออายุเพียง 2 ขวบครึ่ง

- จอห์น สจวร์ต มิลล์ (John Stourt Mill) ในประวัติบอกว่าเรียนภาษากรีก เมื่ออายุ 3 ขวบ โดยบิดาเขียนคำแปลให้อ่านเป็นภาษาอังกฤษ เขาจึงจำไม่ได้ว่าเขารู้ภาษาอังกฤษเมื่ออายุเท่าใดและเรียนด้วยวิธีใด จำได้ว่าเรียนภาษาลาตินเมื่ออายุ 8 ขวบ ในอายุที่เด็กทั่วไปกำลังเริ่มต้นหัดอ่านหนังสือนั้น มิลล์ได้อ่านร้อยแก้วภาษากรีกไปหลายเล่มแล้ว เช่นที่แต่งโดย เฮโรโคตุส โซคราตีส และพลาโต

จะมีผู้เถียงได้ว่า อัจฉริยะก็คืออัจฉริยะ มีเพียงหนึ่งในล้านคน และจะมีชีวประวัติที่น่าตื่นเต้นเพียงใดก็ได้ และนำมาเทียบกับชีวิตจริงๆไม่ได้ แต่มีผู้ทำการทดลองในการสอนหนังสือเด็กเล็กเป็นจำนวนมาก และได้ผลดีอย่างน่าทึ่ง ผู้ที่สนับสนุนการอ่านหนังสือตั้งแต่อายุน้อยนี้มี

ดร.อาร์เทอร์ เกตส์ (Dr. Arthur I. Gates) ศาสตราจารย์ในสถาบันฝึกหัดครูมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี ค.ศ.1937 ได้เสนอแนะว่าเด็กควรจะหัดอ่านหนังสือได้ตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบ ทั้งนี้ได้มีการค้นคว้าทดลองได้ผลสนับสนุนความคิดของท่าน แต่ปรากฏว่าข้อสนองของดร.เกตส์มิได้มีผู้ใดสนใจเลย ทั้งที่ในช่วงค.ศ.1960-1966 ที่เมืองเดนเวอร์ได้ติดตามเด็กอนุบาล 4,000 คน ที่ได้ให้สอนหนังสือ และเมื่อเข้าเรียนชั้นประถมก็ปรากฏว่าเด็กกลุ่มนี้มีความสามารถในการเรียนดีเป็นพิเศษ การศึกษานี้เองทางอังกฤษกลายเป็นผู้รับฟังและนำไปปรับปรุงการศึกษาในวัยเด็กในประเทศอังกฤษคือเริ่มให้สอนหนังสือตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบ มาจนถึงปัจจุบันนี้

ดร.โอมาร์ เค.มัวร์
(Dr. Omar K. Moore) แห่งมหาวิทยาลัยคอนเนกติกัต ได้ทำการศึกษาทดลองในเรื่องนี้มาก คือได้ทดลองสอนหนังสือเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เป็นโครงการใหญ่ ปรากฏผลว่าเด็กในวันนี้เหมาะที่จะสอนให้อ่านหนังสือยิ่งกว่าเด็กโต เด็กเล็กจะรู้สึกสนุกเพลิดเพลินในการเรียนยิ่งกว่าเด็กโต

ดร.เกลนน์ ดอมแมน (Dr. Glenn Domman ผู้เขียนหนังสือเรื่อง How to Teach Your Baby to Read) มีความเห็นว่าเด็กสามารถสอนให้อ่านหนังสือได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี และเด็กควรจะอ่านหนังสือออกพร้อมกับพูดได้เพราะกลไกทางสรีรวิทยานั้นเหมือนกัน เด็กฟังเสียงเข้าใจโดยใช้หูรับเสียงและรายงานไปที่สมองเช่นเดียวกับดูตัวอักษรและคำต่างๆที่เป็นหนังสือด้วยตาและรายงานไปแปลความหมายที่สมองเช่นเดียวกัน

ดร.ดอมแมน ได้ทดลองสอนหนังสือเด็กที่ป่วยด้วยโรคสมองได้รับอันตรายเมื่อแรกเกิดหลายร้อยคน ต่อมาได้ทดลองสอนหนังสือเด็กเล็กที่มิได้ป่วยอีกหลายพันคน ปรากฏว่าเด็กอายุตั้งแต่ 1 ถึง 3 ขวบ สามารถอ่านหนังสือออกได้เป็นอย่างดี สามารถจะเรียนรู้ได้เร็วกว่าเด็กโต การอ่านหนังสือนั้นคล่องแคล่วเป็นธรรมชาติดีกว่าเด็กที่เรียนหนังสือเมื่อโตแล้ว ซึ่งมักจะอ่านตะกุกตะกักไม่เป็นธรรมชาติ

ดร.เกลนน์ ดอมแมน ยืนยันว่าการอ่านหนังสือออกตั้งแต่เล็กนั้น นอกจากจะอ่านได้ดี สอนได้ง่าย การอ่านหนังสือมีส่วนช่วยให้เด็กฉลาดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ เด็กบางคนที่ท่านศึกษาวิจัยมีไอคิวถึงระดับอัจฉริยะ การสอนให้เด็กอ่านหนังสือแต่เล็กนี้อาจเป็นเครื่องกระตุ้นสมองเด็กที่ในช่วงกำลังพัฒนาอยู่นั้นได้พัฒนาเร็วยิ่งขึ้น จึงทำให้เด็กฉลาดขึ้น ความคิดนี้ดูเหมือนจะไปล้มล้างทฤษฎีที่ว่าความเฉลียวฉลาดนั้นสืบทอดจากสายเลือด (Intact intelligence of Darwinism)
 

 

ข้อมูลสื่อ

99-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 99
กรกฎาคม 2530
อื่น ๆ
นพ.สันต์ สิงหภักดี