ผู้ป่วยด้วยโรคจากโรงงานอุตสาหกรรม และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นทุกปี รัฐยังแก้ไขไม่ได้
นายแพทย์สุจินต์ พลากรกุลรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ศุภชัย ฤกษ์งาม นายแพทย์ 7 จากกองระบาดวิทยา ร่วมกันแถลงว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น และแรงงานภาคเกษตรกรรมก็เริ่มกระจายตัวออกไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหาต่างๆในโรงงาน ที่พบมากคือจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคจากโรงงานอุตสาหกรรมและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นทุกปีประมาณร้อยละ 4 ของคนงานทั้งหมด หรือปีละกว่า 1 ล้านคน
กลุ่มที่พบว่าเป็นโรคจากโรงงานสูงมากคือ กลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับโลหะหนักทุกชนิด เพราะสารตะกั่วพิษของโลหะหนักอาจจะเข้าไปในร่างกายทีละน้อยจนอวัยวะภายในของร่างกายเสื่อมหน้าที่ไป ในระยะยาวอาจจะทำให้เกิดมะเร็งได้ ที่สำคัญอาจส่งผลไปถึงกรรมพันธุ์ได้อีกด้วย
กลุ่มที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน มักเป็นกลุ่มที่ทำงานขาดความระมัดระวังและขาดการใช้อุปกรณ์ในการป้องกัน
ขณะนี้ประเทศไทยมีโรงงานเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น ที่มีบริการตามกฎหมายกำหนด เช่น มีแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำโรงงาน เป็นต้น
รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ทำให้จำเป็นจะต้องยกระดับของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรู้เกี่ยวกับอาชีวอนามัย รู้สิทธิ์ที่ตนจะได้รับการคุ้มครองจากการทำงาน
นายแพทย์ศุภชัยกล่าวว่าการยกระดับนี้จะดำเนินการในรูปแบบของงานสาธารณสุขมูลฐานแบบผสมผสาน ให้มีอาสาสมัครจากคนงานในโรงงานทำหน้าที่ให้ความรู้กับเพื่อนร่วมงาน สังเกตความผิดปกติของเพื่อนร่วมงาน และประสานการส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงการจัดระบบการทำงานและการพักผ่อนที่เหมาะสม
- อ่าน 2,786 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้