• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปลาน้ำจืด พยาธิตัวจี๊ดหลายชนิดมี

ดร.จุมพล สวัสดิยากร เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า มีการวิจัยพบพยาธิตัวจี๊ดในปลาน้ำจืดหลายชนิด หากเข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆของร่างกายมนุษย์อาจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้ทุนสนับสนุนแก่ น.ส.รัตนาภรณ์ เกษมสุทธิ์ และคณะจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการวิจัย

จากการวิจัยด้วยการให้ปลาหมอเทศ ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ได้ทั้งในน้ำทะเลและน้ำจืด กินอาหารที่มีตัวอ่อนระยะที่ 3 ของพยาธิตัวจี๊ดเข้าไป และจำลองสภาพน้ำที่อยู่อาศัยของปลาให้คล้ายธรรมชาติที่ปลาสองน้ำมักจะย้ายที่อยู่กลับไปกลับมาระหว่างน้ำเค็มและน้ำจืด พบว่าพยาธิตัวจี๊ดสามารถติดต่อไปยังปลาหมอเทศได้ในอัตราสูงตั้งแต่ 59.52 ถึง 72.41% จากการให้พยาธิแก่ปลาในอัตราส่วนพยาธิประมาณ 10 ตัว ต่อปลา 1 ตัว

อวัยวะของปลาที่พบพยาธิตัวจี๊ดคือ ตับ ทางเดินอาหารและกล้ามเนื้อ

ผู้วิจัยได้เสนอแนะว่าผู้บริโภคควรบริโภคปลาทะเลด้วยความระมัดระวัง เช่นเดียวกับปลาน้ำจืดเพื่อป้องกันการได้รับพยาธิตัวจี๊ดจากปลา หากกินปลาดิบที่มีพยาธิตัวจี๊ดเข้าไป พยาธิจะไปอยู่ส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งถ้าเข้าไปอยู่ในกล้ามเนื้อจะทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ ถ้าอยู่ในสมองจะทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

ข้อมูลสื่อ

100-003-3
นิตยสารหมอชาวบ้าน 100
สิงหาคม 2530
ข่าว