• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อยากฉลาดจะทำอย่างไร (ตอนที่ 3)

อยากฉลาดจะทำอย่างไร (ตอนที่ 3)

"สวัสดีจ๊ะ หนูๆ วันนี้มากันพร้อมหน้าพร้อมตาทีเดียวนะ ติดใจเรื่องเล่าของป้าใช่ไหมล่ะ ความจริงป้าควรจะถามหนูๆ นะว่า
อยากฟังเรื่องอะไรกันบ้าง ป้าก็เอาแต่เล่าท่าเดียว เอาอย่างนี้นะจบคราวนี้แล้ว ป้าจะให้พวกหลานๆ ช่วยกันเสนอนะจ๊ะ ว่าอยากฟังเรื่องอะไรป้าก็จะไปค้นคว้าหามาเล่าให้ฟัง แต่วันนี้ต้องเล่าต่อจากเมื่อวานก่อน เพราะว่าเล่าไว้ค้างครึ่งๆ กลางๆ มันก็ไม่ดี หนูๆ ทุกคนก็คงอยากฟังต่อใช่ไหมละจ๊ะ ว่าหลังจากลูกๆ คลอดจากท้องแม่มาแล้ว
พ่อแม่จะช่วยกันอุ้มชูดูแลให้ฉลาด ได้อย่างไร...ก่อนอื่น ใครทำ การบ้านเสร็จแล้วบ้าง...โอ้โฮ เก่งมาก
เสร็จหมดทุกคนเลย แล้วใครช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้านแล้วบ้าง...แหม ทุกคนเลย ยกมือพร้อมกัน ป้าดีใจจริงๆนะ  ที่พวกหนูทุกคนเป็นเด็กน่ารักมาก มีความรับผิดชอบในงานบ้าน และงานโรงเรียนกันทุกคน ป้าคาดได้เลยว่า พวกเราทุกคนจะต้องโตขึ้นเป็นคนไทยที่ เก่ง ฉลาด และมีความรับผิดชอบ เป็นกำลังสำคัญของ เมืองไทยที่น่าอยู่ของเรา ...เอ้า ชมกันมากแล้ว มาฟังป้าเล่าต่อนะจ๊ะ"

คราวที่แล้ว ได้ปูพื้นฐานให้เข้าใจถึงพัฒนาการทาง สมองของเด็ก 3 ขวบแรกแล้ว และแนะนำคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ที่ต้องเลี้ยงดูเด็กวัยนี้ ว่าจะช่วยพัฒนาสมองของลูกได้อย่างไร ข้อเสนอแนะต่อไปก็คือ

ช่วยเหลือลูกน้อย 6 ขวบปีแรกให้พัฒนาสมองตามวัย
1.หลักการสำคัญที่สุดในทุกอายุตั้งแต่เล็กจนโตคือ แสดงความรัก ความอบอุ่น ใส่ใจอย่างยิ่งกับลูก ด้วยการอุ้ม กอดจูบ พูดคุยกับลูกทุกเวลาที่อยู่ด้วยกัน อย่าให้กิจกรรมอื่นมาแทรกแซง เช่น พ่อแม่ดูทีวีแล้วทิ้งลูกให้ดูดนมเล่น หรือพ่อแม่เพลิดเพลินกับภาพยนตร์จากวีดิโอ หรือวีซีดี ปล่อยลูกเล่นของเล่นอยู่คนเดียว บางทีลูกพูดด้วยก็ไม่พูด กลับไล่ลูกไปเล่น (เพราะกำลังดูหนังสนุก)
ถ้าปล่อยลูกเล่นคนเดียวนอกจากจะไม่ช่วยส่งเสริม พัฒนาการเด็กแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาทางอารมณ์กับเด็กด้วย คิดเปรียบเทียบกับลูกหมาก็ได้ ถ้าเลี้ยงลูกหมาด้วยการคลุกคลีเล่นด้วย กับเลี้ยงแบบทิ้งๆ ขว้างๆ หมาจะโตขึ้นเป็นอย่างไร
เด็กก็เหมือนกัน ต้องการให้พ่อแม่แสดงความรัก (พ่อแม่ที่บอกว่ารักลูก แต่เก็บความรักไว้ในใจ โดยไม่แสดงให้ลูกเห็น ให้ได้สัมผัส ก็ไม่ต่างกับการที่ "ไม่รักลูก" เพราะลูกจะไม่รู้และไม่สามารถสัมผัสความรักในใจของพ่อแม่ได้)

2.เมื่อลูกน้อยอายุเดือนครึ่งถึง 3 เดือน ลูกกำลัง หัดยิ้ม จะพยายามมองตาม
คุณพ่อคุณแม่ช่วยลูกให้สามารถเพ่งมองได้ด้วยการเล่นกับลูก คุณพ่อหรือคุณแม่ขยับศีรษะของตัวเองไปทางซ้ายทีขวาทีอย่างช้าๆ ช่วงแรกเด็กจะจับการเคลื่อนไหว ได้เฉพาะของใหญ่ที่เคลื่อนไหวช้าๆต่อมาก็จะเร็วขึ้น และจับรายละเอียดได้มากขึ้น ด้วยการที่ลูกใช้ประสาทสัมผัสของตัวเองทั้ง ตา หู และรับสัมผัสการเคลื่อนไหว แล้วลูกก็จะเก็บจำเป็นรอยประทับไว้ในสมอง
นี่คือจุดที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการประสานสัมพันธ์ระหว่างเซลล์สมองหลายระบบ เป็นรากฐานของความจำ และการเรียนรู้ อาจเสริมด้วยการใช้โมบายที่ปลอดภัยมี สีสันฉูดฉาดและรูปร่างแปลกๆ แขวนไว้เหนือที่นอนลูก เวลาลมพัดมีเสียงกรุ๋งกริ๋ง เด็กจะฝึกการมองตาม จะทำให้พัฒนาการของกล้ามเนื้อตา และการมองเห็นดีขึ้น และยังพัฒนาการรับฟังเสียงของลูกด้วย แต่ที่ดีกว่าโมบายก็คือ หน้าและเสียงคุณพ่อและคุณแม่ เพราะมีชีวิต มีอารมณ์ และสื่อความรักถึงกัน

3.ช่วงอายุ 3-6 เดือน ลูกเริ่มเรียนรู้ด้วยการสำรวจ
หากระป๋องพลาสติกแข็งแรงปลอดภัย มีฝาปิดที่ลูกเปิดได้ง่าย แล้วใส่สิ่งของหรือของเล่นแบบต่างๆ
(ต้องปลอดภัยไม่มีคมหรือแหลม ทำด้วยวัสดุที่ไม่แตกง่าย และใช้สีธรรมชาติ) เด็กจะสนุกมากในการเปิดและสำรวจดู เปลี่ยนของเล่นและสิ่งของในกระป๋องทุกวัน(ใส่ช้อนเด็กหรือของใช้ในบ้านที่ปลอดภัยก็ได้) ชมเชยลูกทุกวัน ชักชวนกระตุ้นให้เด็กสำรวจของในกระป๋องทุกวัน เพื่อให้เด็กเริ่ม มีนิสัยช่างสำรวจ ช่างอยากรู้อยากเห็น (เป็นสิ่งดีมาก หมายถึง ลูกจะพัฒนาการเรียนรู้และจะเป็นเด็กฉลาดในอนาคต)
เด็กอาจเปลี่ยนความสนใจมาที่ลิ้นชัก หรือกระเป๋า ของคุณพ่อคุณแม่บ้าง ก็ไม่เป็นไร สักพักเด็กก็จะหันกลับมาสำรวจกระป๋องอีก หากเราเปลี่ยนของในกระป๋อง ทุกวันเด็กก็จะเรียนรู้และอยากสำรวจทุกวัน เพราะรู้ว่า จะได้พบของใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำเดิม สักสัปดาห์ก็กลับเอาของ เดิมมาใส่ไว้ใหม่ได้

4.เมื่อลูกอายุ 6-9 เดือน เด็กจะค้นหาโลกกว้างรอบตัว
พ่อแม่กระตุ้นลูกด้วยการจัดหากล่องที่บรรจุของเล่น (ที่ปลอดภัย) หลากหลายชนิดให้เขาเปิดค้นหา
ให้เขาลองเขย่าสิ่งของในภาชนะแบบต่างๆ เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างของเสียงโดยพ่อแม่พูดเลียนเสียง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาของลูก เล่นซ่อนหา จ๊ะเอ๋ สมมุติโดยใช้ของเล่นตัวสัตว์ (หายไปกลับมา) เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าแม้เขาไม่เห็นของเล่น แต่ของเล่นก็อยู่ในโลกที่ไหนสักแห่ง

5.ช่วงอายุ 9-12 เดือน เด็กจะสนุกกับการได้ฝึกเล่นเกมภาษา เช่น ถามลูกเสมอๆ ว่า "หูอยู่ไหน" "แม่อยู่ไหน"
วิธีนี้จะทำให้เด็กพัฒนาภาษาขึ้นอย่างรวดเร็ว เด็กจะยังพูดไม่ชัด และอาจจะต่อต้านเมื่อคุณพยายามแก้ไขเขา วิธีที่ดีก็คือ เมื่อลูกตอบกลับ คุณย้ำคำพูดของลูกด้วย การออกเสียงถูกต้องชัดเจนทุกครั้ง
ในช่วงอายุที่เด็กกำลังพัฒนาภาษา เด็กจะพยายาม สื่อสารกับผู้ใหญ่หรือคนรอบข้าง เราอาจเข้าใจเด็กได้ยาก เพราะเด็กยังไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดยาวๆ ได้
สิ่งที่ไม่ควรทำก็คือ ไม่สนใจหรือแกล้งทำว่าเข้าใจ
สิ่งที่ควรทำคือ ให้ความสนใจว่าเด็กพยายามจะสื่อสารอะไรกับเราอย่างอดทนไม่แสดงท่าทีเบื่อหน่าย หรือพยายามเร่งรัดเด็กให้พูดค่อยเป็นค่อยไป เด็กจะสามารถสื่อสารกับเราได้มากขึ้นทุกทีนี่คือวิธีกระตุ้นพัฒนาการภาษาของเด็กอย่างได้ผลและรวดเร็ว ไม่แนะนำให้ฝึกลูกด้วยวีดิโอหรือเทปเสียง เพราะมันไม่มีชีวิต ลูกต้องการปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่วิทยุหรือเครื่องเสียงที่ไม่มีชีวิต

6.พ้นขวบปีแรกไปถึง 18 เดือน เด็กเริ่มพัฒนา "ความจำ"
เด็กชอบอะไร "ซ้ำๆ" เด็กจะเลียนแบบ เพื่อทบทวน ความจำในสิ่งต่างๆซึ่งเคยเรียนรู้มาก่อนไม่เหนื่อยหรือเบื่อที่จะฟังนิทานซ้ำๆ เล่นของเล่นโยนบอลซ้ำๆ การเรียนรู้หรือทำอะไรซ้ำๆ จะช่วยให้เซลล์ประสาทเชื่อมโยงกันแข็งแรงขึ้น
พ่อแม่ช่วยสนับสนุนส่งเสริม และค่อยๆ แนะนำสิ่งใหม่ๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น ยิ่งเซลล์สมองเชื่อมกันดีขึ้น
เด็กก็จะใช้เวลาน้อยลงในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จดจำเรื่องต่างๆ ได้เร็วขึ้น และอยากรู้อะไรใหม่ๆ มากขึ้น
นี่แสดงว่า ลูกกำลังก้าวไปสู่การพัฒนาสมองที่เป็นเด็กฉลาดแล้ว

7.จากอายุ 18 เดือนถึง 2 ขวบ เด็กจะเริ่มพัฒนาความเป็น "ตัวตน" และบางครั้งแสดงความ "เห็นแก่ตัว"
ไม่ต้องตกใจ การควบคุมจัดการตนเองจะค่อยพัฒนาไปตามสมองส่วนหน้า ช่วงแรกๆ เด็กจะไม่สามารถควบคุมความต้องการของตนเองได้ จึงจะชอบแย่งของเล่นจากเพื่อน
เด็กจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการ "แบ่งปัน"ซึ่งพ่อแม่หรือครูช่วยเด็กได้ โดยค่อยๆ สอนและอธิบายอย่างอ่อนโยน ไม่ควรใช้ความรุนแรง เช่น ตีหรือดุด่าด้วยเสียงดังเมื่อ เด็กแย่งของเล่นกัน เพราะนั่นคือ การปลูกฝังความรู้สึกหยาบกระด้างและเกลียดชังเด็กคนอื่น ค่อยๆ ปลอบและใช้วิธีฉันแบ่งปันเขา เขาก็แบ่งปันฉัน (เรื่องนี้ เอามาใช้กับ เด็กโตๆ ด้วยได้) และจะเป็นพื้นฐานในการปลูกฝัง "อีคิว"โดยเฉพาะด้านการเห็นอกเห็นใจคนอื่น เมตตา กรุณา และคุณธรรมด้านอื่นๆ ด้วย

8.จาก 2-3 ขวบ เด็กพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง และอยากมีส่วนร่วมทำกิจกรรมในบ้าน
ถึงวัยนี้สมองจะพัฒนาจุดเชื่อมเซลล์ประสาทในสมองเป็นล้านล้านตัว เพื่อให้เด็กเริ่มพัฒนาศักยภาพที่สำคัญมากๆ 2 ชนิดคือจุดยืนของเด็กในโลกใบนี้ กับความสามารถในกิจวัตรประจำวัน
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสมองในช่วงนี้ คือการเลือกว่า จะเก็บจุดเชื่อมเซลล์สมองใดไว้ และจะทิ้งอะไรไป โดยวิธี ง่ายๆ คืออะไรที่ใช้บ่อยๆ แข็งแรงก็จะถูกเก็บไว้ อะไรไม่ได้ใช้ หรือใช้น้อยก็อ่อนแอ ก็จะถูกทำลายไป ซึ่งแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป สมองเด็กแต่ละคนจึงมีลักษณะเฉพาะ ไม่เหมือนกัน
คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูช่วยเด็กได้มากก็คือเราเลือกทักษะที่สำคัญๆต่อการเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ คือการคิด วิเคราะห์ การเข้าใจเหตุผล การถามอยากรู้อยากเห็น การสังเกต การค้นคว้าหาเหตุผลและสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติและในบ้าน ซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้สำคัญต่อการ เป็นคนฉลาด

9.เมื่ออายุ 3-6 ปี เด็กเริ่มเรียนรู้คุณลักษณะที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ได้แก่ ความรับผิดชอบ ความนับถือตนเอง
ทัศนคติเกี่ยวกับการทำงาน และความเคารพผู้อื่น คุณลักษณะเหล่านี้จะก่อรูปขึ้นภายใต้บริบทที่อยู่รอบตัวเด็ก ยิ่งมีประสบการณ์มากขึ้นจะมีการปรับเปลี่ยนระบบของเซลล์สมอง หรือแม้แต่ทดแทนด้วยระบบใหม่ หมายความว่า ถ้าระบบใดที่ใช้บ่อยมากพอก็พร้อมที่จะปรับและพัฒนาสูงขึ้นในโอกาสต่อไป

"เอาล่ะจ๊ะ จบกันสักทีสำหรับเรื่องความฉลาด คิดว่าลูกๆ คงได้ความรู้เบื้องต้น และข้อแนะนำซึ่งลูกเอาไปใช้กับตัวเองก็ได้ ยังไม่สายเกินไปที่ลูกจะฝึกฝนการเรียนรู้ด้วยการสังเกตเฝ้าสนใจสิ่งรอบตัวทุกเรื่อง แล้วหัดตั้งคำถามว่า "...เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร" เอ๊ะ เวลาเราไปเที่ยวทะเล มีน้ำขึ้นแล้วก็น้ำลง ทำไมน้ำไม่อยู่ในระดับเดียวกันตลอดเวลา ทำไมปูมันจึงเดินเฉๆ ทำไมหอยเสฉวนถึงมีเปลือกหลายๆ ชนิดไม่เหมือนกัน...

" โอ๊ย มีเรื่องสารพัดที่น่ารู้น่าค้นคว้า นี่คือหนทางช่วยพัฒนาสมองของเราให้มีความสามารถ ใครที่ติดทีวีก็เปลี่ยนนิสัย ใช้เวลากับการอ่านหนังสือดีกว่านะจ๊ะ... ไปนอนกันได้แล้ว สวัสดีจ๊ะลูก"

ข้อมูลสื่อ

305-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 305
กันยายน 2547
พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ