• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยารักษามะเร็งที่สมองชนิดฝัง

ยารักษามะเร็งที่สมองชนิดฝัง

วิธีการฝังยารักษามะเร็งนี้มีประสิทธิภาพสูง เพราะว่ายาจะถูกปลดปล่อยออกมาในบริเวณที่มีความสำคัญ ทำให้เซลล์ทุกเซลล์บริเวณที่เป็นโรคได้รับตัวยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้โดยการให้ยาทางหลอดเลือดดำแบบเดิม

ได้มีการทดลองใช้ยารักษามะเร็งบรรจุในหลอดพลาสติกที่สลายตัวได้สำหรับการรักษามะเร็งที่สมอง พลาสติกชนิดนี้ทำด้วยสารอินทรีย์เคมีโดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซท สหรัฐอเมริกา แพทย์จะฝังยารักษามะเร็งที่บรรจุอยู่ในหลอดพลาสติกมีรูปร่างคล้ายแท่งสบู่ไว้ในร่างกายผู้ป่วย แล้วให้ยาค่อยๆ สลายตัวออกมา ทำนองเดียวกับการที่พื้นผิวนอกของก้อนสบู่ค่อยๆ สลายออกไปในอัตราความเร็วที่คงที่

ดร.แลงเกอร์ผู้ประดิษฐ์กล่าวในที่ประชุมสมาคมเคมีแห่งอเมริกาว่า หลอดพลาสติกนี้สามารถใช้ได้กับยาที่มีขนาดโมเลกุลเท่าใดก็ได้ นอกจากนั้น พลาสติกและยาจะสลายตัวหมดในเวลาเดียวกัน พลาสติกสามารถออกแบบให้สลายตัวได้ภายในวันเดียว จนกระทั่งนานถึง 6 ปี

จากการทดลองฝังยาในผู้ป่วยจำนวน 8 คน ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ บัลติมอร์ และอีก 13 คน ณ มหาวิทยาลัยอลาบามา โดยใช้หลอดพลาสติกขนาดเท่าเหรียญขนาดเล็ก บรรจุตัวยาคาร์มัสตีน (Carmustine) ภายหลังการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งออกแล้ว โดยฝังหลอดบรรจุยานี้ไว้ในสมองแล้วปล่อยให้ตัวยาค่อยๆซึมออกไปรอบๆ ป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งเจริญขึ้นมาใหม่อีก

คณะผู้ทำการทดลองกล่าวว่า วิธีการฝังยารักษามะเร็งนี้มีประสิทธิภาพสูง เพราะว่ายาจะถูกปลดปล่อยออกมาในบริเวณที่มีความสำคัญ ทำให้เซลล์ทุกเซลล์บริเวณที่เป็นโรคได้รับตัวยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้โดยการให้ยาทางหลอดเลือดดำแบบเดิม นอกจากนั้น การให้ยาทางหลอดเลือดดำจะทำให้เป็นพิษต่อไขกระดูกและปอดอย่างมากด้วย แต่การฝังยาในสมองทำให้เป็นพิษต่อไขกระดูกและปอดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยที่ยาจะสลายตัวหมดภายใน 1 เดือน และพลาสติกก็ไม่เป็นพิษต่อร่างกายด้วย ส่วนผลการรักษาของตัวยาคาร์มัสตีนยังต้องรอการประเมินในอีก 1-2 ปี

นอกจากนั้น หลอดพลาสติกนี้ยังมีศักยภาพสำหรับการให้วัคซีน ค่อยๆ ปลดปล่อยออกมาในร่างกายด้วย จากการทดลองในหนูพบว่า วิธีนี้สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น ถ้าหากผลการทดลองในหนูสามารถใช้ได้ผลดีในคนด้วย น่าจะสามารถนำมาใช้ในการเตรียมวัคซีนป้องกันโรคไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี และเอดส์ ได้ผลดีด้วยในอนาคต

(จาก Drug implant keeps brain cencer at bay. Far East Health 1989;4:22-3.)

ข้อมูลสื่อ

124-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 124
สิงหาคม 2532
รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์