• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลนส์สัมผัส (ตอนที่ 1)

“แม่...หนูไม่อยากใส่แว่นเลย เพื่อเขาล้อหนูว่ายายแว่น”
“ผมใส่แว่นทีไร เขาบอกว่าหน้าผมแก่ไปทุกที”
“เกะกะดั้งจมูกและใบหน้า อยากหาอะไรใส่แทนจังเลย”
“รู้สึกใส่แว่นแล้ว เหมือนมีปมด้อย”

ฯลฯ

หลายๆคนคงเคยได้ยินคนบ่นเหมือนข้างต้น หรือตัวท่านก็บ่นเอง
อันที่จริงการใส่แว่นเพื่อช่วยสายตานั้นเป็นเรื่องปกติ

ถ้าคนคิดจะล้อเล่นกันก็มีได้ทั้งนั้น คือไม่ใส่แว่นก็อาจเป็นยายเม้า ยายอ้วน ยายผอม อยู่ดี
ใส่แว่นแล้วหน้าแก่หรืออ่อนก็แล้วแต่การมอง บางคนก็อยากให้หน้าแก่ บางคนก็อยากให้หน้าอ่อน เพราะว่าหน้าอ่อนไปคนก็ไม่เกรงใจไม่ใช่หรือครับ

เรื่องเกะกะดั้งจมูกหรือใบหน้า แน่นอนก็เอาของมาใส่ที่ดั้งจมูกก็คงต้องเกะกะเป็นธรรมดา แต่ใส่ๆไปก็ชินไปเอง

คุณคิดบ้างไหมว่าหูว่างๆคนยังเอาตุ้มหูไปถ่วงโดยไม่รู้สึกรำคาญเลย บางคนอันเดียวไม่จุใจ ใส่ 2-3 อันในหูข้างเดียว

การใส่แว่นแล้วรู้สึกมีปมด้อยนั้นเป็นสิ่งที่เราคิดมากเกินไป คุณทราบไหมว่า ร้านแว่นตาที่ขายแว่นมีคนสายตาปกติเดินเข้าไปซื้อแว่นมาใส่โก้เป็นจำนวนมาก

เอาละครับ...คุยนอกเรื่องไปนาน เรากลับมาว่าเรื่องเลนส์สัมผัสกันเสียที
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เลนส์สัมผัสหรือเรียกตามภาษาอังกฤษว่าคอนแทคท์เลนส์ สามารถใช้ใส่แทนแว่นตาได้อย่างสบาย เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาที่ผิดปกติ หรือปัญหาดังกล่าวข้างต้น แต่เชื่อว่าอีกหลายท่านคงยังไม่ทราบว่า เลนส์สัมผัสมีรายละเอียดอะไรบ้าง

เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ “หมอชาวบ้าน” ได้เรียนสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชลธี สมบัติบูรณ์ จากภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในเรื่องเลนส์สัมผัส ตอนที่ 1... เลนส์สัมผัสคืออะไร มีกี่ชนิด

เลนส์สัมผัสคืออะไร

การใช้เลนส์สัมผัสนั้นเริ่มในราวปี ค.ศ.1930 ก็ประมาณ 57 ปีมาแล้ว
เลนส์สัมผัส หรือที่เราชอบเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า คอนแทคท์เลนส์ (Contact lens) นั้น หมายถึงวัตถุที่ช่วยในการมองเห็นชนิดหนึ่ง ใส่ติดบนตาดำ

สมัยก่อนทำด้วยแก้วใส มีลักษณะคล้ายๆกระจกนาฬิกากลมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอาจจะยาวหรือสั้นกว่าตาดำประมาณ 1 ม.ม. มีหลายขนาดแล้วแต่ว่าบริษัทนั้นๆจะผลิตขนาดไหน โดยทั่วๆไปแล้วรูปร่างของเลนส์สัมผัสจะคล้ายๆกระจกนาฬิกากลมๆอันหนึ่ง ความโค้ง ความใส ก็คล้ายกระจกนาฬิกาแบบกลม

แก้วที่ทำเลนส์สัมผัสนั้นในระยะต่อมาพบว่าคุณภาพไม่ดี จึงมีการคิดค้นใหม่โดยใช้สารตัวหนึ่งชื่อว่า โพลีเมทิลเมทาครัยเลต(Polymethymethacrylate) ตัวย่อคือ PMMA แทน

สารตัวนี้เป็นพลาสติกใสชนิดพิเศษที่สังเคราะห์ขึ้นมา มีคุณสมบัติดีกว่าแก้วมาก คือ เบาและใส ปฏิกิริยาที่จะเกิดกับดวงตาน้อยกว่าเลนส์ที่ทำด้วยแก้ว

วัตถุที่นำมาทำเลนส์สัมผัสจะต้องเป็นวัตถุที่ทำให้สายตาดีขึ้น ปลอดภัย ไม่เป็นพิษ ไม่มีปฏิกิริยาใดๆโดยเฉพาะกับเนื้อเยื่อของดวงตา คงทนพอสมควร สามารถจะให้ก๊าซออกซิเจนหรืออากาศผ่านเข้า-ออกได้ ไม่สลายตัว ไม่เป็นวัตถุที่จับหรือห่อหุ้มต่อเชื้อโรคได้ง่าย และวัตถุนั้นสามารถเปียกน้ำได้ เพราะต้องอยู่กับของเหลว ดวงตาของเรามีน้ำตาหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลาและต้องมีน้ำตาหล่อเลี้ยงพอดีๆ ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป

ถ้าดวงตามีน้ำตาหล่อเลี้ยงน้อย เมื่อใส่เลนส์สัมผัสเข้าไปจะทำให้รู้สึกระคายเคืองได้ง่าย เกิดอาการผิดปกติ ส่วนคนที่มีน้ำตามากเกินไปทำให้เลนส์สัมผัสลอยตัวหลุดออกมาง่าย ไม่เกาะติดกระจกตา
เพราะฉะนั้นคนที่มีน้ำตาแห้งผากและคนที่มีน้ำตามากๆ ไม่เหมาะที่จะใส่เลนส์สัมผัส

เลนส์สัมผัสมีกี่ชนิด

ปัจจุบันเลนส์สัมผัสนิยมใช้กันมากมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิดคือ
1. เลนส์สัมผัสชนิดแข็ง (Hard Contact lens)
ชนิดนี้ทำด้วยพลาสติกแข็ง และใส น้ำซึมผ่านได้ยาก
เลนส์ชนิดนี้มีรูปร่างคงที่ มีขนาดเล็กกว่าตาดำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมีตั้งแต่ 7.5-9 มิลลิเมตร มีความหนาประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น มีประโยชน์ในคนที่สายตาเอียงมาก

ปกติตาดำจะอาศัยออกซิเจนจากอากาศเพื่อช่วยในการดำรงชีวิตของเซลล์ของตาดำ เมื่อใส่เลนส์สัมผัสชนิดนี้แล้วออกซิเจนไม่สามารถผ่านเลนส์เข้าไปสู่ตาดำได้เพียงพอกับความต้องการ

ดังนั้น การใส่เลนส์สัมผัสชนิดนี้จะต้องมีการจำกัดเวลาว่าวันหนึ่งควรจะใส่นานเท่าใด โดยทั่วๆไปแล้ว ใส่ติดต่อกันได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง

2. เลนส์สัมผัสชนิดครึ่งแข็งครึ่งนิ่ม
(Semi-hard Contact lens)
เลนส์ชนิดนี้ออกซิเจนสามารถผ่านเข้าไปถึงตาดำได้มากกว่า ทำให้ใส่ได้นานกว่าเลนส์สัมผัสชนิดแข็ง

3. เลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม
(Soft Contact lens)
ชนิดนี้ทำด้วยสารที่สามารถดูดซึมน้ำได้ ทำให้เลนส์มีลักษณะนิ่ม รูปร่างไม่คงที่ ฉีกขาดได้ง่าย ทำให้ใส่สบาย การระคายเคืองมีน้อยมาก

น้ำตาและออกซิเจนจากอากาศสามารถซึมผ่านได้ดี
ระยะเวลาที่จะใส่ ใส่ได้นานกว่าเลนส์ชนิดแข็ง มีเลนส์สัมผัสชนิดนิ่มพิเศษ (Extended wear lens) สามารถที่จะใส่ได้นานกว่า 1 วัน อาจ 7-15 วัน หรือบางรายใส่ได้นานกว่านี้ เลนส์ชนิดนี้มีลักษณะพิเศษก็คือ บางมาก เพื่อยอมให้ออกซิเจนผ่านเข้าออกได้สะดวก แต่มีข้อเสียคือ ใส่ยาก ฉีกขาดง่าย ใส่หลายวันติดต่อกันจะอมความสกปรกไว้ได้มาก ถ้าเป็นไปได้ควรถอดล้างบ่อยๆกว่าที่กำหนดไว้

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านก็คงเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเลนส์สัมผัสบ้างแล้วใช่ไหมครับ ฉบับหน้าเราจะมาว่าถึงประโยชน์ ข้อควรปฏิบัติในการใส่เลนส์สัมผัส และข้อดี-ข้อเสียเปรียบเทียบกับแว่นตา
 

 


 

ข้อมูลสื่อ

100-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 100
สิงหาคม 2530
อื่น ๆ
นพ.ชลธี สมบัติบูรณ์