• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ก่อนจะถึงวาระสุดท้าย

ก่อนจะถึงวาระสุดท้าย

การยอมรับวาระสุดท้ายของชีวิตนั้นเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนทั่วไป แพทย์รักษาโรคเอง เล่าเรียนมาด้วยความมุ่งหมายจะรักษาโรคให้หายและจะพยายามเต็มที่เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยอย่างไม่ยอมแพ้ ผู้ป่วยเองส่วนมากจะไม่ยอมรับว่าตนใกล้ตายแม้ปากจะยอม แต่ในใจก็อดที่จะเก็บความหวังที่จะมีชีวิตรอดไว้ไม่ได้ โดยมีผู้ใกล้ชิดรอบตัวให้กำลังใจสนับสนุน

เมื่อสภาพการณ์ทั่วไปเป็นอย่างนี้ ผู้ป่วยที่ใกล้ตายจริงๆจึงได้รับการดูแลพยาบาลให้รู้สึกเหมือนว่าจะไม่มีการตายเกิดขึ้น เป็นความร่วมมือกันระหว่างแพทย์ ญาติมิตร ผู้ดูแล พยาบาล และผู้ป่วย ทั้งๆ ที่ในใจของแต่ละฝ่ายอาจรู้ดีว่าวาระสุดท้ายใกล้เข้ามาแล้ว

ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ได้ดูแลพยาบาลแม่ของตนเองในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้กระทำแบบเดียวกับคนทั่วไป คือ เลี่ยงประเด็นความตาย พูดให้กำลังใจว่าจะได้อยู่กับลูกหลานไปอีกนาน เมื่อคิดย้อนหลังดูแล้วนึกเสียดายช่วงเวลานั้นว่า ถ้าผู้ป่วย ญาติมิตร แพทย์ ได้สื่อสารถึงกันอย่างตรงไปตรงมาบ้าง ใช้จิตวิทยาในการพูดให้นิ่มนวล ยอมรับความจริงว่า วาระสุดท้ายใกล้มาถึงแล้ว เราจะทำช่วงเวลานั้นให้มีค่าขึ้นได้มากสำหรับผู้ป่วยและญาติมิตร

ปัญหาที่ว่าผู้ป่วยควรได้รับการดูแลพยาบาลอย่างไรในช่วงสุดท้ายของชีวิต การรักษาพยาบาลแบบใด จะเกิดผลดีแก่ผู้ป่วยทั้งกายและใจ

มีหลักการที่ควรรู้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยหนักอยู่หลายประการ ดังนี้

1. ผู้ป่วยต้องการผู้ดูแลที่ได้รับการฝึกฝนสำหรับดูแลพยาบาลผู้ป่วยหนัก มีเมตตาจิต และประสิทธิภาพสูง ถ้าเป็นญาติมิตรที่ตนรักเป็นผู้รู้ในการดูแลรักษาพื้นฐาน รู้จิตใจผู้ป่วยด้วยเป็นดีที่สุด

2. ผู้ป่วยไม่อยากได้รับความทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวดจนทำให้หมดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงควรได้รับการรักษาบรรเทาความเจ็บปวดที่เหมาะสม

3. ผู้ป่วยอยากได้มีโอกาสพูดซักถาม ระบายความทุกข์ ความกังวลกับคณะผู้รักษาพยาบาล ในบรรยากาศที่สงบ ไม่เร่งร้อนวุ่นวาย การปิดโอกาสนี้โดยกลบเกลื่อนความจริงในผลวินิจฉัยโรคอาจมีผลให้ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกแยกจากสังคมมากขึ้น

4. ผู้ป่วยควรมีสิทธิ และทางเลือกที่จะรู้ความจริงของโรค ผู้รักษาพยาบาลควรให้โอกาสได้รู้อย่างละมุนละม่อม พูดความจริงต่อผู้ป่วยเมื่อเขาต้องการ แต่จะพูดอย่างไรนั้นขึ้นต่อบุคลิกนิสัยใจคอของผู้ป่วยซึ่งญาติสนิทควรประสานงานกับแพทย์ผู้รักษาโรค

แพทย์อาจเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ซักถาม โดยพูดนำว่า “มีอะไรจะซักถามหมอบ้างไหม?”

ผู้ป่วยมักจะตอบว่า “ผมเป็นโรคอะไรแน่ จะหายไหม”

หรือถามหยั่งเชิงแพทย์ “ผมคงเป็นโรคหนักล่ะคราวนี้ ใช่ไหมครับ”

คำตอบของแพทย์ควรจะนิ่มนวล เพราะผู้ป่วยคงไม่ต้องการคำตอบที่ตรงเป้าในทันที อาจจะเป็นการกล่าวนำถึงอาการโรค ให้ผู้ป่วยถามตอบด้วย จนผู้ป่วยสามารถสรุปผลของโรคได้เองว่าหนักขนาดไหน โดยมีแพทย์อธิบายเพิ่มเติมด้วยภาษาง่ายๆ ถึงผลวินิจฉัยโรคและสาเหตุของโรค ผู้ป่วยที่กลัวตายจะยังไม่อยากถามแพทย์โดยปิดโอกาสตนเองว่า “ผมไม่มีอะไรจะถามแล้ว” แต่ผู้ป่วยอาจเปลี่ยนใจถามใหม่ในโอกาสต่อไปได้

5. ผู้ป่วยไม่ต้องการฟังเวลาที่แน่นอนว่าตนจะตายภายในกี่วัน กี่เดือน กี่ปี เพราะแพทย์อาจผิดได้ ทำให้เกิดความทุกข์แก่ทุกฝ่ายโดยไม่จำเป็น แพทย์ควรตอบในแง่ดีไว้ก่อน ให้ความหวังเล็กน้อยที่ใกล้ความจริงที่สุดแก่ผู้ป่วย

6. หลังจากรู้ผลวินิจฉัยโรคแน่นอนแล้ว ผู้ป่วยยังต้องการเวลาสำหรับถามคำถามเพิ่มเติมในเรื่องวิธีการรักษา จำเป็นมากที่แพทย์ต้องให้เวลาแก่ผู้ป่วยบ้าง เพื่อปรึกษาหารือ สำหรับผู้ป่วยหนักแล้ว การที่มีแพทย์มานั่งใกล้ๆ เตียงผู้ป่วยโดยไม่พูดเลย ก็ช่วยเป็นกำลังใจผู้ป่วยได้

7. ผู้ดูแล พยาบาล และญาติมิตรที่ช่วยดูแล ควรรู้อาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้ป่วยในระยะช่วงสุดท้าย ผู้ป่วยส่วนมากที่รู้ตัวว่าจะไม่มีทางหาย มักจะมีอารมณ์แปรเปลี่ยนต่างๆ กัน เช่น มีความรู้สึกกลัวตาย ไม่ยอมรับความจริง โกรธเคืองโชคชะตา รู้สึกผิดว่าตนกำลังชดใช้กรรม เกิดอาการซึมเศร้าเสียใจอาลัยผู้ที่ตนรัก หรือบางคนอาจแสดงอารมณ์ป้ายความผิดให้ผู้อื่น ว่าทำให้ตนต้องตาย (เช่นรักษาผิด พยาบาลผิด) ผู้ถูกป้าย คือ แพทย์ พยาบาล ญาติมิตรรอบข้างนั่นเอง เมื่อผู้ดูแลรักษารู้ถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้น จะได้เข้าใจผู้ป่วยและหาทางปลอบโยนตามความเหมาะสม

8. ผู้ป่วยควรมีกิจกรรมที่สนใจทำวันต่อวัน เพื่อลืมความตายที่จะมาถึง การมีญาติมิตรมาเยี่ยมรับฟังความคิดความกังวลจะช่วยจิตใจผู้ป่วยได้มาก สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ นำเรื่องที่ไม่จริงมาคุยหลอกซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่า “หายคราวนี้เราจะได้ไปเที่ยวกันอีก” ซึ่งไม่เกิดผลดีแก่ใคร เนื้อหาที่พูดควรให้ผู้ป่วยได้พูดถึงความหลังในชีวิต ความกังวลใจ กิจกรรมที่อยากทำในช่วงเวลาที่มีเหลืออยู่

9. ผู้ป่วยไม่ต้องการยาระงับประสาทที่ให้มากเกินไป จนไม่ได้สติ มึนงง สับสนอยู่ตลอดเวลา ควรได้รับยาบรรเทาความเจ็บปวดต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ ควรให้ผู้ป่วยอยู่อย่างมีสติให้มาก และนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

10. ผู้ป่วยไม่อยากอยู่โดยลำพัง ต้องการญาติมิตรให้ความรักความอบอุ่น หรือมีผู้ดูแล พยาบาลที่ให้ความเมตตาเอาใจใส่อยู่ใกล้

หลักเกณฑ์บางประการของแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยหนักที่ไม่มีทางหาย ไม่ว่าแพทย์จะใช้วิธีรักษาผู้ป่วยแบบใด ควรตั้งคำถามถามตนเองไว้ก่อน ดังนี้

1. การรักษาแบบนี้ จำเป็นสำหรับผู้ป่วยหนักในช่วงนี้หรือไม่ จุดมุ่งหมายเพื่อให้กำลังใจ ความอบอุ่นใจแก่ผู้ป่วย หรือเพื่อลดอาการเจ็บปวดทรมานทางร่างกาย

2. การรักษาแบบนี้จะทำให้เกิดผลข้างเคียงในทางเสียหายต่อผู้ป่วยหรือไม่ จะทำให้มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้หรือไม่

3. ถ้าผลข้างเคียงเป็นข้อเสีย มีทางจะช่วยลดการทรมานจากผลข้างเคียงนี้หรือไม่

4. ถ้าแพทย์จะตัดสินใจให้การรักษาในแบบที่มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อผู้ป่วย ควรให้คำอธิบายต่อผู้ป่วยและญาติสนิทของเขาอย่างจะแจ้งเต็มที่ เพื่อให้โอกาสผู้ป่วยหรือญาติได้มีส่วนออกความคิดเห็น ตัดสินใจที่จะรับหรือปฏิเสธการรักษาแบบที่หมอต้องการ

ข้อมูลสื่อ

124-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 124
สิงหาคม 2532
อื่น ๆ
ธนพรรณ สิทธิสุนทร