• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะ กับการกินอย่างสมดุล(มิตาหาระ)

โยคะ กับการกินอย่างสมดุล(มิตาหาระ)


ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปสัมมนาที่นครนายกทางทีมผู้จัดก็ต้อนรับอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินอาหารมื้อหลักครบ อาหารว่างคั่นตลอดทั้งวันมิหนำซ้ำ ยังแถมข้าวต้มรอบดึกอีกต่างหาก เรียกว่างานนี้มีแต่กินกับกินเลยทีเดียว

มนุษย์เราต้องกินกันขนาดนี้เลยหรือ? เคยอ่านเจอในหนังสือธรรมะ พระท่านกล่าวว่า ความหิวเป็นทุกข์อย่างยิ่ง หลายคนอ่านแล้วนึกภาพไม่ออกเนื่องเพราะเราอยู่ในสังคมศิวิไลซ์ที่มีการจัดสรร จนทำให้คนส่วนใหญ่มีอาหารการกินอย่าง "เหลือเฟือ" นั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งควรจะตั้งอยู่บนความ สมดุล ซึ่งโยคะ ศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความ สมดุลก็ได้กล่าวถึงเรื่องการกินอาหารที่เหมาะสมไว้อย่างชัดเจน(ก่อนเข้าเรื่องโยคะ มีแนวคิดของคนอินเดียโบราณ ที่น่าสนใจคือ คำอธิบายสรีรวิทยาของมนุษย์ แบบปัญจโกษะทฤษฎีนี้ แบ่งร่างกายมนุษย์ออกเป็น 5 ชั้น (โกษะก็คือภูษา) โดยชั้นนอกสุด ชื่อว่า อันนามายาโกษะ อันนาแปลว่าอาหาร ซึ่งหมาย ความว่า เนื้อ หนัง กระดูก อวัยวะ ของมนุษย์ ทำมาจากอาหารที่เรากินเข้าไปนั่นเอง)

ในตำราโยคะ หฐปฏิปิกะ (เขียนขึ้นราวปี พ.ศ.1990) อธิบายเรื่องการกินไว้ดังนี้
1.15 (บทที่ 1 ประโยคที่ 15) การฝึกโยคะ (การพัฒนาตนเอง) จะไม่ได้ผล หากผู้ฝึกกินมากเกินไป เพียรมากเกินไป พูดมากเกินไป เคร่งครัดเกินไป พบปะผู้คนมากเกินไป จิตฟุ้งซ่านมากเกินไป

1.38 มิตาหาระ หมายถึงการกินอาหารแต่พอประมาณ เป็นวัตรปฏิบัติสำคัญที่สุด ในบรรดาการควบคุมตนเองทั้งหลาย ...

1.58 มิตาหาระคือ การกินอาหารไม่ถึงกับอิ่ม เหลือที่ว่าง ไว้ 1 กระเพาะ (เพื่อให้การย่อยดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ) มิตาหาระคือ การกินด้วยความระลึกถึงบุญคุณของธรรมชาติ ไม่กินเพียงเพื่อความอร่อย

1.59 เว้นอาหารบางประเภทที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารรสจัด แอลกอฮอล์ กระเทียม เป็นต้น ที่มีผลต่อจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเกิน หรือทำให้เฉื่อยเนือย เซื่องซึม

1.60 หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่อุ่นแล้วอุ่นอีก (เนื่องเพราะคุณค่าของอาหารเหลือน้อยเต็มที)

1.62 กินอาหารที่เหมาะสม เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้ เป็นต้น

1.63 กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการนอกจากนั้นในตำราอัษฎางค์โยคะ(เขียนขึ้นราวปี พ.ศ. 2300) ซึ่งเป็นเหมือนอรรถาธิบาย ขยายความ โศลกต่างๆ ในตำราโยคะโบราณให้ละเอียดมากขึ้น ได้อธิบายเรื่องการกินไว้ดังนี้

1.38 มิตาหาระ ซึ่งเป็นหลักข้อที่ 9 ของการควบคุมตนเองทั้ง 10 ข้อ คือการกินอาหารอย่างมีเป้าหมาย เพื่อนำเราไปสู่สภาวะแห่งสัตตวิก อันเป็นสภาวะอันบริสุทธิ์ ตื่นรู้ เบิกบาน

1.39 กินอาหารด้วยความตระหนักรู้ ว่าอาหารที่เรากินนี้ เหมาะสมหรือไม่ อาหารที่เรากินนี้ได้มาโดยชอบหรือไม่ เพราะอาหารเป็นอย่างไร เราผู้กินก็เป็นอย่างนั้น

1.40 กินอาหารเบา ย่อยง่าย ไม่ถึงกับอิ่ม เหลือที่ว่างไว้ 1 ของกระเพาะเสมอผู้ที่ยังอยู่เนื่องกับเรื่องทางโลก กินอาหารได้มากคือมื้อละประมาณ 32 คำ ส่วนผู้ที่ปล่อยวางจากเรื่องทางโลก กินอาหารเพียงครึ่งหนึ่ง หรือมื้อละ 16 คำ เหตุผลก็ เพื่อความสมดุล การกินอาหารมากเกิน ทำให้เกิดความง่วงหาว เซื่องซึมการกินอาหารมากเกินทำให้ลมหายใจถี่กระชั้นมากกว่าปกติ

4.12 ให้กินอาหารขณะที่รูจมูกขวาของเราโล่ง ให้ดื่มน้ำขณะที่รูจมูกซ้ายของเราโล่ง สำหรับผู้ที่จะฝึกการงดอาหาร ให้เริ่มงดตอนรูจมูกซ้ายโล่ง (โยคีเชื่อว่า ขณะที่รูจมูกขวาของเราโล่ง สภาวะของร่างกายกำลังตื่นตัวเหมาะแก่การทำกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงาน ในทางตรงข้าม ขณะที่รูจมูกซ้ายของเราโล่ง สภาวะของร่างกายกำลังผ่อนคลาย เหมาะแก่การทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้พลังงาน)

สังคมยุคปัจจุบัน ปรับเปลี่ยนวิถีการกิน ของเราไปมาก เรากินตามนาฬิกาเรากินตามความอร่อย เรากินตามอำเภอใจ หากหยุดสักนิด ได้ลองพิจารณาไตร่ตรอง เราจะเห็นได้ว่า การกินนั้นเป็นกระบวนการของชีวิตอันประณีต ผู้ที่สนใจโยคะ ฝึกโยคะ น่าจะสร้างทัศนคติต่อการกินอย่างสมดุล กินแต่พอดี กินอย่างมีสติ

อยากจะขอทิ้งท้ายไว้สักเล็กน้อย เพราะเห็นว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจดี เพื่อนครูโยคะคน หนึ่งต้องสอนโยคะตอน 5 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม ต่อเนื่องกันเป็นเดือนๆ ก็เลยลองงดข้าวเย็นไปด้วย แกเล่าให้ฟังว่า 2 วันแรกนั้นกลางคืนตอนก่อนนอนมีความรู้สึกหิวโดยเฉพาะคืนที่ 3 ที่หิวมาก เป็นทุกข์มาก รุ่งเช้าตื่นมาทำโยคะเสร็จนั่งกินข้าว เกิดความรู้สึกว่าข้าวที่กินมีความอร่อยเป็นพิเศษมีความรู้สึกว่ามันเป็นข้าวที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมาเลยพลอยเห็นว่า ทุกข์-สุข มันเป็นอันเดียวกัน หรืออย่างที่เขาอธิบายว่า 2 ด้านของเหรียญเดียวกัน พอเห็นอย่างนั้นแล้วมันก็เลยพ้นจากการยึดติดใน ทุกข์-สุข กล่าวคือ งดข้าวเย็นแล้ว "เห็นอนิจจัง"ซึ่งเป็นสิ่งที่วิเศษอย่างยิ่งที่แกได้รับ จากการงดกินข้าวเย็นถึงกับตั้งใจว่า แม้การสอนตอนเย็นสิ้นสุดแล้วก็ยังจะงดข้าวเย็นต่อไป แกแถมท้ายด้วยว่าการงดข้าวเย็นยังช่วยให้การฝึกสมาธิตอนเช้าทำได้ดีขึ้นอีกด้วย

ข้อมูลสื่อ

305-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 305
กันยายน 2547
โยคะ