• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไปเบิ่งแพทย์ลาวที่เวียงจันทน์ (ตอนที่ 4)

ไปเบิ่งแพทย์ลาวที่เวียงจันทน์ (ตอนที่ 4)

สิ่งที่พวกเราได้ฟังจาก ดร.พรมเทพ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะโหสถนั้น นอกจากจะได้ฟังเรื่องราวของโรงพยาบาลมะโหสถและแพทย์ในโรงพยาบาลแล้ว ความรู้สึกที่อยู่ในใจลึกๆ ของ ดร.พรมเทพ มักสะท้อนออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกที่มีต่อฝรั่งเศส รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย และน่าเชื่อได้ว่า ความรู้สึกต่อไทยที่มีส่วนร่วมในสงครามอินโดจีนคงมีอยู่ไม่น้อย แต่ด้วยมารยาทกระมัง จึงมิได้ปริปากบ่นในเรื่องนี้

ผมได้รับความรู้จากการอ่านหนังสือเรื่อง “ลาว 10 ปี หลังปฏิวัติ” ซึ่งเขียนโดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ นรนิติ เศรษฐบุตร และสุจิตต์ วงษ์เทศ ความรู้จากหนังสือเล่มนี้ช่วยประกอบการเขียนบทความนี้ของผมมาก และจากหนังสือเล่มนี้ทำให้ทราบว่า สงครามอินโดจีนนั้นเป็นสงครามที่มีการทิ้งระเบิดกันมากที่สุด มากเสียยิ่งกว่าการบอมบ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กับสงครามเกาหลีรวมกันเสียอีก ประมาณกันว่า สหรัฐอเมริกาเอาระเบิดไปทิ้ง (ภาษาลาวว่าเอาไป “ทิ่ม” ) ในเวียดนาม เขมร และลาวกว่า 6 ล้านตัน เทียบกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทิ่มกันเพียง 2 ล้านตันเท่านั้น และประมาณกันว่าผลของระเบิดครั้งนี้ทำให้คนเวียดนาม เขมร ลาว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตามตายไป 300,000 คน บาดเจ็บกว่า 1 ล้านคน ที่สำคัญคือ การทิ้งระเบิดเหล่านี้ สหรัฐอเมริกาใช้ฐานทัพของตนในอีสานของไทย กับสนามบินที่สัตหีบ

หากทำใจให้เป็นกลางแล้ว คนไทยจะมีความรู้สึกอย่างไร ถ้าเวียดนามหรือรัสเซียใช้ฐานทัพในลาว แล้วมาทิ่มระเบิดใส่คนไทย ดังที่ผมได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นว่า เมื่อจบแพทย์ใหม่ๆ ได้ไปทำงานที่โรงพยาบาลมุกดาหาร ในตอนนั้นต้องทำการผ่าตัดเกือบทุกคืน ผู้ป่วยเป็นทหารรับจ้างจากฝั่งไทยข้ามไปโจมตีลาว บางคนหนีตายจากฝั่งลาวมาในสภาพที่น่าสังเวชมาก เพราะเหยียบกับระเบิดจนขาขาดทั้งสองข้าง

เรามีความรู้สึกอย่างไรหากถูกกระทำเช่นนี้ ลาว (ดร.พรมเทพ) คงมีความรู้สึกไม่แตกต่างกัน แต่ถึงแม้ว่า ดร.พรมเทพ จะมีความรู้สึกอย่างไรต่อรัฐบาลไทยในอดีต ก็มิได้นำความรู้สึกนั้นมาทำลายบรรยากาศอันม่วนซื่นของคณะแพทย์ไทย-ลาวในครั้งนี้ อาจารย์หมอประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะแพทย์ไทยในครั้งนี้เล่าให้ฟังว่า

“ก่อนที่ไทยกับจีนจะเปิดสัมพันธไมตรีกัน ก็อาศัยการแพทย์นำการทูตและการเมือง โดยที่ส่งคณะแพทย์จากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ไปเยือนจีน ซึ่งต่อมาภายหลังจีนก็ส่งคณะแพทย์มาเยือนไทย”

การมาเยือนลาวของคณะแพทย์ไทยในครั้งนี้ก็คงเช่นกัน การแพทย์เป็นเรื่องของมนุษยธรรม เมตตาธรรม แพทย์ไทย แพทย์ลาว หรือแพทย์ชาติไหนๆ ก็มีความรู้สึกเช่นนี้ จริยธรรมของแพทย์ทุกชาติทุกภาษามีเหมือนกันหมด คือ แพทย์จะต้องปฏิบัติต่อผู้ป่วยโดยไม่เลือกชาติ ศาสนา ภาษา วรรณะ หรือลัทธิทางการเมือง ก่อนที่คณะแพทย์ของเราจะมาลาวในครั้งนี้ ทีมผ่าตัดซึ่งนำโดยอาจารย์หมอศัลยเวทย์ ได้นำคณะแพทย์ทางหู คอ จมูก ไปทำการผ่าตัดผู้ป่วยหูน้ำหนวก ผู้ป่วยแก้วหูทะลุก่อนแล้ว ซึ่งนำความชื่นชมมายังแพทย์และผู้ป่วยลาวเป็นอย่างยิ่ง จนมีการพูดกันในลาวว่า โครงการนี้เป็นโครงการ “หูพี่ หูน้อง หูไทย หูลาว”

อาจารย์หมอประดิษฐ์ ก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่า หากคณะสูติแพทย์ไทยมาช่วยผู้ป่วยลาว จะตั้งชื่อโครงการว่าอะไรดี เมื่อคณะของเราเดินดูการปฏิบัติงานแต่ละตึก ก็พบกับสภาพเช่นที่ ดร.พรมเทพ บรรยายให้ฟัง โรงพยาบาลมะโหสถขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์เกือบทุกอย่าง เครื่องมือที่มีอยู่ก็อยู่ในสภาพชำรุด ในห้องไอซียู ซึ่งทางลาวเรียกว่าห้องมรสุม (สื่อความหมายได้ตรงความรู้สึกจริงๆ) มีเครื่องตรวจคลื่นหัวใจซึ่งไม่แน่ใจว่าใช้งานได้หรือไม่อยู่ 1 เครื่อง เครื่องดูดเสมหะ 2 เครื่อง และเครื่องช่วยหายใจ 1 เครื่อง

สภาพเช่นนี้น่าเป็นห่วงว่าจะต้านมรสุมไหวบ่ โรงพยาบาลทั่วไปในระดับจังหวัดในเมืองไทยมีอุปกรณ์พร้อมกว่าที่นี่ ในตึกอุบัติเหตุซึ่งทางลาวเรียกว่า ตึกกระทบ ซึ่งก็สื่อความหมายได้ตรงดีเช่นกัน (กล่าวคือ อุบัติเหตุทั้งหลายทั้งปวงจะต้องเกิดจากการกระทบกระแทกแม่นบ่) สภาพวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือก็ค่อนข้างเก่า เพราะใช้งานมานาน พอเดินผ่านตึกศัลยกรรม อาจารย์แพทย์บางคนสะดุ้งเมื่อทราบว่า แผนกศัลยกรรมทางลาวเขาเรียกว่า แผนกปาด คือ ปาดกันจริงๆ (หรือใครว่ามีผ่าตัดบริเวณใดที่ไหนบ้างที่ไม่ต้องปาด ก็ให้เว่ามา)

ภาษาของลาวมีเสน่ห์ดีแท้ สื่อสารเข้าใจง่าย ชัดตรง เช่นเดียวกับนิสัยใจคอของคนลาว และคนไทยในอีสาน ใช่หรือไม่ จะใช่หรือไม่ก็ตาม กำแพงกั้นทางภาษาระหว่างไทย-ลาวแทบจะไม่มีเอาเลย แผนกการแผนโบราณเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะทางลาวยังผสมผสานการรักษาแผนดั้งเดิม (แผนลาว) กับแผนปัจจุบัน (ตะวันตก) โดยยังเอาส่วนดีของแผนดั้งเดิมมาใช้ มีเรือนผู้ป่วยรักษาโดยสมุนไพร ในลาวมีสมุนไพรจำนวนมาก เป็นของพื้นบ้านพื้นเมืองที่หาได้ง่าย ราคาถูก ประหยัด เงินตราไม่ไหลออกไปต่างประเทศ ข้างเรือนผู้ป่วยมีกระทะใบใหญ่ เข้าใจว่ามีไว้สำหรับเคี่ยวปรุงยาสมุนไพร

น่าเสียดายที่การแพทย์แผนไทยได้ถูกละเลยเพิกเฉยมาร่วม 100 ปี เมื่อเรารับเอาวิทยาการทางการแพทย์จากตะวันตก เราก็ทอดทิ้งของเดิม ซึ่งมีผลกระทบต่อมาภายหลังอย่างมาก เราต้องซื้อยาระบายจากต่างประเทศปีละนับ 100 ล้านบาท! ขณะที่บรรพบุรุษของไทยเราก็เคยกินง่ายถ่ายคล่องด้วยใบมะขามแขก แกงดอกขี้เหล็ก การมาเริ่มฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยกันใหม่ จึงนับว่าเป็นเรื่องน่าอนุโมทนายิ่ง

คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ (โดยการเสนอของกระทรวงสาธารณสุข) ได้อนุมัติให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานทางการแพทย์และเภสัชกรรมไทย เพื่อทำหน้าที่พัฒนาและฟื้นฟูการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทยให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางสังคม ได้มีการเผยแพร่พันธุ์สมุนไพรไปทั่วประเทศ การผลิตยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคและส่งเสริมวิจัยสมุนไพร ซึ่งเชื่อว่าหากดำเนินการอย่างจริงจังแล้ว จะเป็นการประหยัดเงินตราของประเทศเป็นอย่างมาก และพัฒนาไปสู่การพึ่งพิงตนเองมากขึ้น

คณะของเรามีความรู้สึกร่วมกันประการหนึ่ง ก็คือ โรงพยาบาลมะโหสถ นอกจากมีสภาพเก่า ขาดการดูแลรักษาแล้ว ยังมีสภาพที่ค่อนข้างจะไม่สะอาดหากเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลระดับจังหวัดของไทยแล้ว แทบจะเทียบกันไม่ได้เอาเลยทีเดียว ดังที่ได้บอกให้ทราบในตอนต้นแล้วว่า โรงพยาบาลแห่งนี้มี 450 เตียง อาจารย์แพทย์บางท่านได้ข้อมูลมาว่ามีถึง 600 เตียง แต่เท่าที่ผมสังเกตดูตามเรือนผู้ป่วย มีความรู้สึกว่าผู้ป่วยไม่มาก ไม่น่าจะถึง 300 เตียงด้วยซ้ำไป อาจารย์หมอสันต์ หัตถีรัตน์ก็มีความเห็นตรงกัน

ที่พูดมาทั้งหมด เป็นการพูดจากสิ่งที่ได้ปรากฏต่อตาได้ยินกับหู ไม่ได้มีความรู้สึกดูถูกดูแคลนแต่ประการใด และเมื่อยิ่งทราบว่างบประมาณของโรงพยาบาลมะโหสถที่ได้รับมีเพียง 4 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น จึงทำให้รู้ว่า เงินจำนวนน้อยนิดเช่นนี้ ย่อมยากที่จะบริหารงานให้มีประสิทธิภาพได้ นอกจากโรงพยาบาลมะโหสถแล้ว ในกรุงเวียงจันทน์ยังมีโรงพยาบาลใหญ่อีก 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลไชยเชษฐาธิราช ขนาด 200 เตียง เป็นโรงพยาบาลของคาทอลิกชาวฟิลิปปินส์ (ขณะนี้ไม่มีชาวคาทอลิกอยู่แล้ว) โรงพยาบาลทหารบก ขนาด 150 เตียง และโรงพยาบาลมิตรภาพลาว-โซเวียต ขนาด 150 เตียง เป็นโรงพยาบาลระดับวีไอพีของลาว มีไว้รักษาพวกคนชั้นสูงในลาวและคณะทูตเท่านั้น ค่าห้องวันละ 5 ดอลล่าร์สหรัฐฯ

คณะของเราไม่มีโอกาสได้ไปดูโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งนี้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลไชยเชษฐาธิราช เพื่อจะให้ได้เปรียบเทียบกับโรงพยาบาลมะโหสถ ซึ่งจะทำให้การมองภาพของระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในลาวได้ชัดขึ้น เช่นเดียวกับคณะของเราไม่มีโอกาสได้ไปดูโรงพยาบาลระดับแขวง (จังหวัด) ระดับเมือง (อำเภอ) และระดับตาแสง (ตำบล) เพราะข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานการณ์นอกกรุงเวียงจันทน์ยังไม่สามารถรับรองความปลอดภัยได้อย่างเต็มที่

พระนาม “ไชยเชษฐาธิราช” ที่นำมาตั้งเป็นชื่อของโรงพยาบาลนั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของลาวมาก แต่มาบัดนี้เราไม่แน่ใจว่ารัฐบาลลาวยังให้ใช้ชื่อนี้หรือไม่ ลาวถือว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในสมัยศักดินา มีความยิ่งใหญ่พอๆ กับพระเจ้าฟ้างุ้มผู้สถาปนาเมืองหลวงพระบาง
และพระเจ้าไชยเชษฐ์องค์นี้นี่แหละ ที่ทำให้พระเจ้าบุเรงนองไม่ได้เป็น “ผู้ชนะสิบทิศ” สมคำร่ำลือ เพราะไม่สามารถตีลาวได้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระเจ้าไชยเชษฐ์ที่ใช้สงครามจรยุทธและอาศัยภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา ทำให้พม่ายึดกรุงเวียงจันทน์ไม่ได้ แต่พระเจ้าบุเรงนองยึดอยุธยาได้ ทำให้ไทยต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่ 15 ปี

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ยังมีอีกมาก เพราะในยุคนั้นสมัยนั้น นอกจากจะเป็นกษัตริย์ครองเมืองหลวงพระบางแล้ว ยังขยายอาณาเขตของลาวไปถึงอาณาจักรเชียงใหม่อีกด้วย และเป็นผู้นำพระแก้วมรกตจากเชียงใหม่มาไว้ที่กรุงเวียงจันทน์ รวมทั้งการย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์อีกด้วย ถึงแม้ว่าคณะของเราไม่มีโอกาสได้ไปดูงานในโรงพยาบาลไชยเชษฐาธิราช แต่ผมและพวกเราบางคนก็ได้มีโอกาสมาชมอนุสาวรีย์ของพระเจ้าไชยเชษฐ์ ซึ่งเข้าใจว่าสร้างขึ้นหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูสภาพของอนุสาวรีย์แล้ว เห็นได้ว่าไม่ค่อยได้รับการบำรุงรักษานัก อนุสาวรีย์ตั้งอยู่หน้าเจดีย์ธาตุหลวง ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางแห่งจิตใจและวิญญาณของคนลาวเลยทีเดียว เจดีย์ธาตุหลวงนี้ก็สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเช่นกัน

คณะของเราใช้เวลาตั้งแต่เช้าจรดเที่ยง ในการดูงานที่โรงพยาบาลมะโหสถ กำหนดการในตอนบ่ายเป็นการไปดูงานที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งกรุงเวียงจันทน์ สำหรับอาหารเที่ยงคณะของเราแยกย้ายกันไปตามอัธยาศัย เพราะหลีกเลี่ยงที่จะรบกวนเจ้าภาพ มีร้านอาหารไทยในกรุงเวียงจันทน์บนถนนแทบทุกสาย คนขายก็คนไทยนั่นแหละ เพราะพูดได้ทั้งภาษาไทยและลาว อาหารก็เป็นอาหารไทย น้ำดื่มน้ำอัดลมต่างๆ ก็ขนมาจากฝั่งไทย กินกันตั้ง 10 กว่าคนจ่ายแค่ 200 กว่าบาท ราคาอาหารถูกจนใจหาย พวกเราบางคนจึงแย่งกันเป็นเจ้าภาพ แต่ด้วยความเกรงใจอาจารย์หมอปรีดาทัศนประดิษฐ์ รองอธิการบดีจุฬาฯ จึงยอมให้อาจารย์เป็นเจ้าภาพด้วยความเต็มใจ

หลังจากอิ่มหนำสำราญอาหารไทยในลาวแล้ว คณะของเราก็มาถึงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในตอนบ่าย ที่นั่นเราได้รับการต้อนรับด้วยความอบอุ่น รองคณบดีซึ่งเป็นแพทย์หญิงนำนักศึกษาแพทยศาสตร์มาเข้าแถวรอรับอยู่ แพทย์หญิงบุญยงค์ บุปผา เป็นรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากโซเวียต และศึกษาต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้ รวมเวลาศึกษาอยู่ในโซเวียตทั้งสิ้น 10 ปี เมื่อแรกเห็นรองคณบดีผู้นี้ ผมรู้สึกประทับใจในบุคลิกภาพของท่านมาก ทำให้นึกถึงอาจารย์ปรียา เกษมสันต์ฯ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพราะมีบุคลิกละม้ายคล้ายกัน และเมื่อได้ฟังการบรรยายสรุปและการตอบคำถามของคณะเราแล้ว จึงไม่แปลกใจเลยว่าท่านมีความสามารถเหมาะกับตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดในคณะแพทยศาสตร์ของลาว

ที่ผมบอกว่าต้องรับผิดชอบมากที่สุด ก็เพราะว่า ตำแหน่งระดับรองทั้งหลายในประเทศลาวจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องและทำหน้าที่รับผิดชอบงานในหน้าที่นั้นๆ มากกว่าตำแหน่งสูงสุด กล่าวคือ ดร.พรมเทพ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะโหสถ เป็นผู้รู้เรื่องโรงพยาบาลมะโหสถมากที่สุด ส่วนผู้อำนวยการโรงพยาบาลตัวจริงจะตั้งจากพรรคเข้ามาบริหาร ที่คณะแพทยศาสตร์นี้ก็เช่นกัน แพทย์หญิงบุปผาเป็นผู้ทำหน้าที่ต้อนรับบรรยายสรุป โดยที่เราไม่มีโอกาสได้พบคณบดีตัวจริงเลย

ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้เป็นแพทย์ แต่เป็นคนของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว รัฐมนตรีช่วยว่าการฯเป็นแพทย์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งจากแขวงสุวรรณเขต ชื่อ ดร.วันนะเลดราชะโพ คณะของเราก็ได้มีโอกาสพบท่านก่อนเดินทางกลับ และได้มีโอกาสเลี้ยงต้อนรับท่านที่กรุงเทพฯ ด้วย ต่อมาภายหลัง การจัดโครงสร้างการบริหารบุคคลเช่นนี้ ไม่ทราบว่าช่วยเกื้อหนุนหรือเป็นตัวถ่วงการพัฒนา อันที่จริงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย คือ นายชวน หลีกภัย ก็ไม่ได้เป็นแพทย์ แต่เมื่อข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขทราบว่าจะมารับผิดชอบหน้าที่ในกระทรวงนี้ ก็รู้สึกดีใจและภูมิใจ เพราะด้วยความใจซื่อ มือสะอาด ตลอดจนการเอาใจใส่ในหน้าที่การงาน ยากที่จะหานักการเมืองอื่นใดเทียบเคียงได้

ในทางตรงข้ามกับบางกระทรวง บางทบวง เมื่อข้าราชการในกระทรวง ทบวงนั้นๆ รู้ว่าจะมาเป็นรัฐมนตรีก็ร้องยี้ ซึ่งต่อมาภายหลังก็มีข่าวใหญ่โตจนสภาฯ ของข้าราชการในกระทรวงนั้น เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนตัว ประเด็นที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ก็คือ ความไม่ชอบมาพากล และการรวบอำนาจ ตลอดจนใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐมนตรีผู้นี้ ที่เสียเวลาพูดถึงรัฐมนตรีผู้นี้เพราะท่านมามีส่วนในการใช้อำนาจในการอนุมัติให้เปิดโรงเรียนแพทย์เอกชนขึ้นครั้งแรกในเมืองไทย โดยผ่านการประชุมเพียง 3 ครั้ง แถมยังให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์อีกว่า หากวิทยาลัยเอกชนแห่งใดต้องการเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตอีก ให้ยื่นเสนอมาได้ท่านจะอนุมัติอีก

นับว่าเป็นการตัดสินใจที่เหี้ยมหาญมาก! ก่อนที่จะมีการพิจารณาเปิดโรงเรียนแพทย์เอกชนแห่งแรกในประเทศไทย ข่าวเล่าว่า ประธานกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้แจ้งต่อที่ประชุมในการประชุมครั้งแรกว่า “รัฐมนตรีท่านนี้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” เรียกว่าอนุมัติกันตั้งแต่ก่อนพิจารณา ดังนั้นในการประชุมครั้งแรก ที่ประชุมก็อนุมัติในหลักการทันที

ในเรื่องโรงเรียนแพทย์เอกชนนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดในที่ประชุมสัมมนาเรื่อง “วิทยาลัยแพทย์เอกชน : ผลกระทบต่อสังคมไทย” ว่า
“การเกิดโรงเรียนแพทย์เอกชนต้องสนองและสอดคล้องต่อความต้องการด้านกำลังคนของชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การศึกษาแพทยศาสตร์ไทยมีเป้าหมายหลักเพื่อสนองความต้องการของสังคม มิใช่สนองความประสงค์ของผู้ต้องการจะเป็นแพทย์โดยเฉพาะผู้มีฐานะดี หรือมีอิทธิพลที่อาจฝากคนเข้าศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างในสังคมมากขึ้น

นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ หนึ่งในกรรมการแพทยสภา ที่ลาออกเพราะเรื่องนี้ได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมครั้งนั้นด้วยว่า“หากผลิตแพทย์โดยไม่คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงในการแก้ปัญหาของประเทศเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก การอ้างแต่เพียงว่าให้เอกชนเข้ามาช่วยรับผิดชอบ และแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการผลิตแพทย์โดยไม่คำนึงถึงความต้องการใช้กำลังคนต้านการแพทย์ของประเทศว่าต้องการที่ไหน ต่อไปหากเอกชนต้องการผลิตทหาร ตำรวจก็ย่อมได้ เพราะไม่ต้องคำนึงถึงการวางแผนกำลังคนว่าจบแล้วจะต้องไปทำงานกันที่ไหนอย่างไร คนไทยจะได้ยิงปืนกันเป็นทั้งบ้านทั้งเมือง”

“และที่บอกว่า เอกชนมาช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐฯนั้น จริงหรือ เพราะต้องอาศัยโรงพยาบาลของรัฐฯ เป็นที่ฝึกงาน ต้องดึงอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐฯ ไปช่วยสอน สิ่งที่ต้องถามก็คือ เอกชนอุ้มรัฐฯ หรือรัฐฯ ต้องอุ้มเอกชน”

เอ๊ะ! ทำไมพูดเรื่องโรงเรียนแพทย์ลาวดีๆ มาจบลงที่วิทยาลัยแพทย์เอกชนในไทยได้ก็ไม่รู้

ข้อมูลสื่อ

125-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 125
กันยายน 2532
อื่น ๆ
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์