• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หอบหืดหายได้ไม่ยาก

หอบหืดหายได้ไม่ยาก

05.00 นาฬิกาตรงของวันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 เสียงปืนสัญญาณปล่อยตัวนักวิ่ง Bangkok Marathon ออกจากจุดปล่อยตัว ณ สนามไชย จำนวนนักวิ่งทั้งหญิงและชายประมาณ 1,600 คน ต่างวิ่งออกไปด้วยจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน บ้างก็เพื่อรางวัล บ้างก็เพื่อทำลายสถิติเดิมของตนที่เคยทำไว้ ส่วนตัวของผู้เขียนเองวิ่งเพื่อสุขภาพเป็นจุดประสงค์หลัก และมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความตั้งใจเดียวกัน ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ถ้าคิดออกมาเป็นเมตร จะได้ 42,195 เมตร ถ้าวิ่ง 1 เมตรต่อ 2 ก้าว จะต้องวิ่งถึง 84,390 ก้าว จะมีสักกี่คนที่วิ่ง 1 เมตรต่อ 2 ก้าวได้ตลอดระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ผู้เขียนคำนวณว่าตัวเองวิ่งไม่น้อยกว่า 1 แสนก้าวแน่นอน เมื่อถึงเส้นชัยหัวเข่าขยับเป็นหมื่นๆครั้ง จะเจ็บจะปวดเมื่อยล้า ร่างกายจะเหนื่อยอ่อนแค่ไหน เหงื่อที่ไหลออกมาเป็นจำนวนกี่ลิตรกัน เมื่อคิดถึงอย่างนี้แล้วจะเรียกว่าวิ่งเพื่อสุขภาพได้จริงหรือ หรือน่าที่จะเรียกว่า วิ่งเพื่อทำลายสุขภาพกันแน่

ถ้าย้อนหลังไปเมื่อปี 2524 ประมาณเดือนพฤษภาคม ก่อนที่ผู้เขียนจะมาวิ่งมาราธอนได้นั้น ผู้เขียนมีอาการหอบหืดโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อไปโรงพยาบาลหมอบอกว่าเป็นหืด จิตใจตอนนั้นหดหู่ วิตกกังวล กลัวไปสารพัด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หมอเองก็ไม่ได้บอกว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ร่างกายของผู้เขียนซูบผอมลง ไม่กล้าที่จะทำงานอะไรที่เกี่ยวกับการใช้กำลังใดๆ เลย เพราะกลัวจะเหนื่อยและทำให้หอบขึ้นมา จะเดินทางไปไหนก็วิตกกังวล ยิ่งวันไหนลืมนำยาติดตัวไปทำงานด้วย วันนั้นจะเกิดอาการหอบหืดขึ้นมาทันที

ผู้เขียนมีอาการอย่างนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2527 ผู้เขียนได้อ่านบทความของคุณหมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ในนิตยสารหมอชาวบ้าน ในหัวเรื่อง “วิ่งสู่วิถีชีวิตใหม่” แรงบันดาลใจในการวิ่งจึงเกิดขึ้น ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะทดลองวิ่ง แล้วดูซิว่าอาการหอบหืดจะดีขึ้นหรือไม่ ผู้เขียนเสียเงินซื้อยามารักษาตนเอง ทั้งยาไทย จีน ฝรั่ง ใครว่าอะไรดีก็ทดลองเกือบทุกอย่างแม้กระทั่งตับอูฐ (ตับอูฐแห้งฝนผสมกับเหล้าโรง) ก็ยังอุตส่าห์ฝากเพื่อนบ้านที่ไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบียซื้อมาทดลองกิน ผลก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น

วันแรกที่ผู้เขียนเริ่มต้นวิ่ง เป็นเวลาเช้าประมาณตีห้าครึ่ง มีรองเท้าผ้าใบที่ซื้อไว้นานแล้วนำมาใส่วิ่ง ในขณะนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องรองเท้าวิ่งหรือการวิ่งที่ถูกวิธีใดๆ ทั้งสิ้น พอผู้เขียนเดินออกจากบ้านไปที่ถนนก็เห็นมีคนวิ่งอยู่ก่อนแล้ว 2-3 คน ปล่อยให้เขาวิ่งไปก่อน นึกอยู่ในใจเพราะเกิดความรู้สึกอายอย่างบอกไม่ถูก พอเขาวิ่งผ่านไปแล้วตัวเองก็เริ่มวิ่งทันที ไปได้แค่ 2 ช่วงเสาไฟฟ้าเท่านั้น เหนื่อยแทบขาดใจ อาการหอบทำท่าจะเกิดทันที ผู้เขียนรีบเดินกลับบ้านกินยา นึกในใจว่าแค่วิ่งวันแรกก็ไม่ได้เรื่องแล้ว เกิดอาการท้อใจขึ้นมา ไม่อยากวิ่ง ขาก็เริ่มปวด เท้าก็เจ็บ จะไหวหรือ ถ้าผู้เขียนท้อใจตั้งแต่วันแรกและหยุดวิ่งก็คงไม่มีวันนี้ วันที่ผู้เขียนวิ่งมาราธอนได้ คุณหมออุดมศิลป์เขียนไว้ว่า “ถ้าเดินได้ก็วิ่งได้”

วันที่สองผู้เขียนออกมาวิ่งอีก คราวนี้พบเพื่อนบ้านที่แสนดี คือคุณพี่วีระ ลิ้มสวัสดิ์ และคุณพี่สมบูรณ์ วัฒนพานิชย์ โดยเฉพาะคุณพี่วีระมีอาการของโรคไซนัสเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคสาขาเดียวกับผู้เขียนด้วย คุณพี่วีระได้ช่วยแนะนำการวิ่ง รวมทั้งคุณพี่สมบูรณ์ ซึ่งป่วยมีอาการปวดศีรษะอยู่ตลอดเวลา ทั้งสองท่านได้เล่าให้ฟังว่า อาการโรคได้หายไปหลังจากการวิ่ง

กำลังใจของผู้เขียนเริ่มมีเพิ่มขึ้นมาอีก หลังจากนั้นทุกๆวันผู้เขียนจะออกมาวิ่ง และหาหนังสือเกี่ยวกับการวิ่งทั้งของคุณหมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม และของคุณหมอกฤษฎา บานชื่นมาอ่าน การวิ่งได้ผลดีเพราะอาการหอบหืดได้ค่อยๆ ดีขึ้นมาเป็นลำดับ แต่ผู้เขียนไม่ได้ละเลยการไปพบหมอที่รักษาประจำแต่อย่างใด คงไปพบหมอตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ฉีดยาตามที่หมอสั่งไม่เคยขาด

การวิ่งระยะไกลเริ่มขึ้นเมื่อคุณพี่วีระมาชวนให้ไปวิ่ง 10 กิโลเมตรของ UNO ผู้เขียนตัดสินใจไปทันที เตรียมยาไปด้วยทั้งยากิน ยาพ่นคอ วิ่งครั้งแรกในปี พ.ศ.2528 ผู้เขียนวิ่งถึงเส้นชัยด้วยเวลาที่ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ความมั่นใจเกิดขึ้นเรื่อยๆ อาการหอบหืดก็ค่อยๆ ขาดหายไป จนในที่สุด เมื่อมีการจัดวิ่ง Bangkok Marathon คุณพี่วีระและคุณพี่สมบูรณ์ชวนให้ไปวิ่ง ผู้เขียนคิดหนัก เพราะระยะทาง Half Marathon 21 กิโลเมตรยังไม่เคยวิ่ง วิ่งแค่ 10 กิโลเมตรมาตลอด จะอาจหาญไปวิ่ง 42.195 กิโลเมตรได้อย่างไร คุณพี่สมบูรณ์ก็ไม่เคยวิ่ง 21 กิโลเมตร ยกเว้นคุณพี่วีระ ผู้เขียนคิดอยู่หลายสัปดาห์ แต่ก็เบาใจ เพราะอย่างไรก็มีคุณพี่สมบูรณ์เป็นเพื่อน จึงตัดสินใจไปสมัครเป็นสมาชิกคลินิกมาราธอน แต่เป็นสมาชิกที่ไม่เคยไปซ้อมวิ่งที่สวนจตุจักรเลยแม้แต่ครั้งเดียว สาเหตุเพราะกลัวภรรยาจะรู้ว่าคิดจะไปวิ่งมาราธอน ต้องถูกเธอขัดขวางแน่นอน เธอต้องไม่ยินยอมแน่ เพราะกลัวผู้เขียนจะเกิดอันตราย แค่วิ่ง 10 กิโลเมตรยังไม่ค่อยจะยอมเลย ผู้เขียนจึงปิดเงียบไม่ให้รู้ แอบเอาตารางการฝึกซ้อมวิ่งมาราธอนมาฝึกซ้อมเอง วิ่งตามถนนในหมู่บ้าน ภรรยาของผู้เขียนมาทราบเอาสัปดาห์สุดท้ายที่จะมีการวิ่ง แต่ก็ขัดขวางผู้เขียนไม่ได้แล้ว

คืนก่อนวันจะไปวิ่ง เธอต้องกินยานอนหลับเพราะวิตกกังวลแทนตัวผู้เขียน แต่ผู้เขียนมั่นใจตัวเองว่าวิ่งได้แน่นอน และก็ทำได้จริงๆ โดยไม่ได้ใช้ยาใดๆ ช่วยเลย และวิ่งเข้าเส้นชัยด้วยเวลาที่ไม่ถึง 5 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ เลย มันเป็นความภูมิใจที่อยากจะประกาศให้คนที่เป็นโรคหอบหืดทั้งหลายได้ทราบว่า โรคนี้ไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป ไม่มียาใดจะรักษาได้เท่ากับการวิ่งเพื่อสุขภาพ สร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายและจิตใจของตนเอง

ผู้เขียนเคยอิจฉาคนปกติที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย ที่เขานอนหลับอย่างเป็นสุข โดยเฉพาะเวลาตี 3 ตี 4 ผู้เขียนต้องตื่นขึ้นมานั่งหอบหายใจไม่ออก นอนไม่ได้ ต้องเอาหมอนพิงฝา เอาหน้าผากพิงหมอน ขาดความสุขทั้งกายและใจมาเป็นเวลาหลายปี ในที่สุดผู้เขียนก็กลับมานอนอย่างมีความสุขเหมือนคนอื่นๆ หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป ร่างกายที่ซูบผอมก็มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าคนปกติ (ก่อนที่จะมาวิ่งน้ำหนัก 49 กิโลกรัม ปัจจุบัน 56 กิโลกรัม ผู้เขียนสูง 160 เซนติเมตร)

ทั้งหมดที่เกิดขึ้น และทำให้ผู้เขียนมีวันนี้ ก็เพราะคุณหมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ผู้ชี้ทางสว่างให้กับผู้เขียนโดยแท้ และข้อความที่ผู้เขียนได้เขียนมาทั้งหมด ก็เป็นแรงสนับสนุนของคุณหมออุดมศิลป์ ที่ผู้เขียนได้ไปพบ และขอบคุณคุณหมอในวันปิดคลินิกมาราธอนที่สวนจตุจักร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2531 คุณหมอได้บอกให้ผู้เขียนช่วยเขียนเรื่องนี้ขึ้นเพื่อคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ หรือญาติมิตรของผู้ป่วยจะได้อ่าน และจะได้ช่วยกันแนะนำต่อไป

ข้อมูลสื่อ

125-028
นิตยสารหมอชาวบ้าน 125
กันยายน 2532
ชัยพร วงศ์วรรณ