• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นครจักรยาน 2 ล้อ

นครจักรยาน 2 ล้อ

กรุงเทพมหานครของเราเวลานี้เต็มไปด้วยรถยนต์ทุกชนิด 4 ล้อ 6 ล้อ 8 ล้อ 10 ล้อ แน่นไปหมดทุกถนน จากประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก ส่วนมากเป็นของญี่ปุ่น นอกจากนั้นมีของจากยุโรป เช่น เยอรมัน อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

ตามสถิติกองทะเบียนรถยนต์จนถึงสิ้นเดือนกันยายน พ.ศ.2532  มีรถยนต์ทุกชนิด 1,636,770 คัน จักรยานยนต์ 77,538 คัน  มีถนนยาว 2,800 กิโลเมตร ประมาณร้อยละ 8 ของพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพฯ รถยนต์เหล่านี้เพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 1 หมื่นคัน ท่านจะเดินทางไปไหน รถติดแน่นจนเสียเวลาเดินทางวันละหลายชั่วโมงเพื่อไปทำงาน หรือประกอบกิจการอื่นที่จำเป็น ยกเว้นวันเดียว คือ วันอาทิตย์ที่รถเกือบไม่ติด การเดินทางค่อนข้างสะดวก เพราะเป็นวันพักผ่อน ประชาชนชาวกรุงเทพฯพากันไปกินอากาศบริสุทธิ์ตามชายทะเล รอบๆกรุงเทพมหานคร เช่น พัทยา ระยอง หรือหัวหิน ชะอำ ประจวบคีรีขันธ์

กรุงเทพมหานคร แปลว่า เมืองใหญ่ของเทพ คงจะเอาแบบมาจากเมืองสวรรค์ กรุงเทพฯ มีประชากรประมาณ 6 ล้านคน เปรียบได้กับมหานครใหญ่ในโลกได้แต่เพราะสร้างแบบเมืองสวรรค์ (ซึ่งผู้เขียนก็ไม่เคยเห็น) จึงไม่มีสถานที่พักผ่อน และไม่มีทางรถจักรยานซึ่งในเมืองที่พัฒนาแล้วในยุโรปและสหรัฐฯ มีอยู่เป็นอันมาก โดยเฉพาะทางรถจักรยานในนครปักกิ่ง เขาใช้ถนนใหญ่ที่ใช้ในกรุงเทพฯ เป็นทางจักรยาน เพราะรถยนต์ของเขาหายากเต็มที

กรุงเทพฯ ไม่เคยมีแผนผังสำหรับคนจน นักเรียน นักศึกษาเลย เคยคิดให้คนเหล่านี้ใช้จักรยานไปทำงาน ไปเรียนหนังสือบ้างแต่ไม่สำเร็จ การขี่จักรยานเป็นการออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่งที่ควรจะส่งเสริม ถ้ามีทางจักรยานไว้โดยเฉพาะ การขี่จักรยานก็คงปลอดภัย เกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ เราสามารถผลิตจักรยานได้ปีละหลายแสนคันด้วยราคาถูก ถ้าผลิตไว้ใช้ในกรุงเทพฯ ก็จะเพิ่มรายได้ให้บริษัททำจักรยานอีกมหาศาล รถประจำทางแน่นต้องอัดกันเวลาเช้าและเย็นเพราะต้องเอาคนจน นักเรียน นักศึกษาไปทำงานหรือไปโรงเรียน แม้แต่ช่วงใกล้ๆ ก็ไม่ยอมเดินกัน

ตามที่ผมเรียนให้ทราบตอนต้น กรุงเทพฯ มีรถจักรยานยนต์ 77,538 คัน จำเป็นสำหรับคนฐานะปานกลาง มีครอบครัวเล็ก เช้าๆ จะต้องพาภรรยาไปทำงาน พาบุตรไปโรงเรียน เห็นครอบครัวเล็กๆ อยู่บนรถจักรยานยนต์แล้วน่าสงสาร พ่อบ้านที่เป็นห่วงลูกห่วงเมีย เอาภรรยา 1 ลูกอีก 2-3 คนนั่งท้ายรถ อยู่ระหว่างพ่อแม่ แม่บางคนก็อุ้มลูกคนเล็กไว้ด้วย เป็นภาพที่น่าประทับใจ ไม่ทราบว่าลูกๆ เหล่านี้จะคิดถึงพ่อแม่เมื่อโตขึ้นทำงานได้แล้วบ้างหรือเปล่า

ในหนังสือวารสารเยอรมันสกาลาฉบับพฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ.2531 เขาเขียนไว้ดังต่อไปนี้

ในเมืองมุนสเตอร์นครหลวงแห่งแคว้นเวสต์ฟาเลีย (Westfalia) ทั้งๆที่มีรถยนต์เบ่งบานไม่แพ้กรุงเทพฯ แต่จักรยานกลับกลบรัศมีรถยนต์อย่างไม่เห็นแสง เพราะมีครอบครัวซึ่งขี่จักรยานไป อาจารย์ไปสอนนักศึกษา ข้าราชการไปทำงาน ล้วนแต่ใช้จักรยานทั้งสิ้น ตามสถิติชาวมุนสเตอร์ ทุกคนมีจักรยานซึ่งเวลานี้มี 260,000 คัน หนึ่งในสามไม่ได้ตั้งไว้เฉยๆ แต่ขี่ทำให้เกิดกำลังขา

นักศึกษาขี่จักรยานกันถึง 2 ใน 3 ผู้ที่ไปทำงานมีทั้งแพทย์ และศาสตราจารย์ 450 คนไปมหาวิทยาลัย พนักงานไปรษณีย์ใช้จักรยาน ตำรวจ ผู้ว่าการเทศบาล คนทำขนมปัง แม่ชี ล้วนแต่พากันขี่จักรยาน
คำขวัญของมุนสเตอร์ “รถยนต์ออกไป จักรยานเข้ามา” ผู้ชำนาญกล่าวว่า ก่อนสิ้นศตวรรษนี้ คือ อีก 11 ปี นครมุนสเตอร์จะหายใจไม่ออก เพราะการจราจรของรถยนต์

เวลานี้ เทศบาลมุนสเตอร์ได้สร้างทางจักรยานที่ใช้ได้สะดวก ไม่มีที่กีดกันยาว 200 กิโลเมตร ในเวลา 10 ปีหลังนี้ ในเยอรมันตะวันตก การขี่จักรยานสบายขึ้น ผู้ที่ขี่รถจักรยานในกลางเมืองเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 การซื้อจักรยานเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าของการซื้อรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันมี 400,000 คัน แต่มีรถจักรยานถึง 40 ล้านคัน

การขโมยจักรยานมิได้มีในเมืองไทยเท่านั้น ที่มุนสเตอร์ก็มีคนขโมยปีละ 7,000 คัน ได้มีวิศวกรคิดสร้างรถ 2 ล้อหลายแบบ รถบางคันใช้ถีบกึ่งนอนเชื่อว่า จะวิ่งได้เร็วกว่า นอกจากนั้นก็มีรถถีบข้างหลัง ข้างหน้าให้คนโดยสาร ตอนนี้ขอเชิญมาศึกษาการสร้างรถ 2 ล้อเมืองไทยดีกว่า มีแบบดีๆ กว่าเยอรมนีมาก

ทำอย่างไรเมืองไทยถึงจะเอาแบบของมุนสเตอร์มาใช้บ้าง ไม่ต้องถึงกับมีคำขวัญว่า “รถยนต์ออกไป รถจักรยานเข้ามา” เอาแต่เพียงว่า : รถยนต์อย่าเข้ามาเดือนละหมื่นคัน จักรยานเข้ามาแทนที่หรือมากกว่าเป็นแสนคัน เรื่องนี้มิใช่เรื่องง่าย ต้องใช้แรงหลายฝ่าย

1. แรง กรุงเทพมหานครซึ่งมีผู้ว่าราชการ จำลอง ศรีเมืองเป็นคนสำคัญ

2. แรง นักเรียน นักศึกษาคนหนุ่มๆ ที่ต้องโหนรถเมล์ทุกวันให้ช่วยกันหันมาขี่รถจักรยาน

3. แรง นายช่างจาก MÜnster ที่จะมาช่วยชี้แนะวิธีทำกรุงเทพฯ เป็นเมืองจักรยาน

จะต้องขอแรงเอกอัครราชทูตเยอรมันตะวันตก หรืออาจให้จีนรัสเซียช่วยทำให้ถนนใหญ่ เช่น สุขุมวิทและเพชรบุรีตัดใหม่ แบ่งออกได้เป็น 7 ช่อง แล้วแบ่งให้รถจักรยานใช้สักช่อง เมื่อมีช่องเฉพาะสำหรับรถจักรยาน ความปลอดภัยจะมีมากกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้ เพราะคนที่อาจหาญขี่จักรยานนั้นหาได้น้อยมาก เมื่อมีช่องให้รถประจำทางวิ่ง ทำไมไม่มีช่องสำหรับรถจักรยานวิ่งบ้าง จะอ้างว่า รถจักรยานเกะกะ จะทำให้รถยนต์วิ่งไม่ได้ เวลานี้รถยนต์ก็เกือบจะวิ่งไม่ได้อยู่แล้ว อีกไม่กี่ปี รถยนต์จะติดกันจนวิ่งไม่ได้แน่นอน สร้างถนนเท่าไรก็ไม่พอ แต่รถยนต์เพิ่มขึ้นเดือนละ 10,000 คัน

การสร้างถนนแบบเมืองไทยไม่มีทันรถที่เพิ่มขึ้น เรามาลองคำนวณดูเล่นๆ ก็ได้ รถเก๋งเฉลี่ยมีความยาวคันละ 4.50 (โตโยต้าเก๋ง ยาว 4.15 เมตร โตโยต้าไฮเอด 4.60 เมตร เบนซ์ 4.80 เมตร) รถยนต์ 10,000 คัน จะมีความยาวเป็น 450 กิโลเมตร ซึ่งก็หมายความว่า ในแต่ละเดือน (ที่มีรถเก๋งเพิ่มขึ้น 10,000 คัน) จะกินถนนเพิ่มขึ้นเป็นระยะทาง 45 กิโลเมตร

สมมติว่าวิ่งเพียงร้อยละ 50 ต่อวัน รถยนต์จะกินถนนไป 23.5x12 เดือน = 270 กิโลเมตร ที่จริงการคำนวณรถบนถนนคงแสนจะยุ่งยาก มิได้ง่ายอย่างนี้ แต่ภายใน 5 ปี รถยนต์ก็เดินไม่ได้แน่นอน

ข้อมูลสื่อ

125-030
นิตยสารหมอชาวบ้าน 125
กันยายน 2532
อื่น ๆ
นพ.อุดม โปษะกฤษณะ