• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บาดเจ็บทางกีฬาที่พบบ่อยและแนวทางการช่วยเหลือ

บาดเจ็บทางกีฬาที่พบบ่อยและแนวทางการช่วยเหลือ

ปัจจุบันนี้คนไทยเราตื่นตัวกันมากเกี่ยวกับการกีฬาและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เพราะทราบกันดีแล้วว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย จิตใจ สังคม และส่งเสริมคุณภาพชีวิต แต่บางครั้งนักกีฬาหรือผู้ออกกำลังกายอาจเกิดการบาดเจ็บได้จากอุบัติเหตุและขาดการเตรียมพร้อมในด้านสมรรถภาพทางกาย ถ้าหากผู้เป็นนักกีฬา ผู้ฝึกนักกีฬา หรือผู้ออกกำลังกาย มีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกัน และช่วยเหลือเบื้องต้นเกี่ยวกับบาดเจ็บทางกีฬาที่พบบ่อย ก็จะเป็นประโยชน์มากต่อตนเองและเพื่อนนักกีฬา

บาดเจ็บทางกีฬาที่พบบ่อยๆ มีอะไรบ้าง

ผู้ที่เป็นนักกีฬาหรือผู้ออกกำลังกายหนักมักจะรู้ดี อย่างน้อยก็เคยประสบกับตนเองมาบ้างแล้ว หากปฏิบัติตัวไม่ถูก เช่น บีบนวดทันที หรือประคบน้ำร้อน ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้เป็นมากขึ้นหรือหายช้าไปอีก การบาดเจ็บดังกล่าว ได้แก่

1. ช้ำหรือห้อเลือด

2. เอ็นข้อยืดหรือฉีกบางส่วน ที่เราเรียกกันว่า ข้อเคล็ดหรือซ้น

3. กล้ามเนื้อล้าและเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

การบาดเจ็บเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

หากพิจารณาตามลักษณะกลไกของการบาดเจ็บก็จะพอแบ่งได้ 3 ลักษณะดังนี้ คือ

1. กระแทกโดยตรง เช่น หกล้มเข่ากระแทกพื้น หรือเตะฟุตบอลพลาด สันหน้าแข้งกระแทกกับเข่าอีกคนหนึ่ง ลักษณะนี้มักทำให้เนื้อเยื่อผิวหนังและชั้นใต้ผิวหนังได้รับบาดเจ็บเส้นเลือดฝอยแตกอาจมีอาการช้ำ ห้อเลือด ปวด บวม เป็นแผล หรืออาจมีกระดูกหักได้ (ถ้ารุนแรง)

2. แรงกระทำทางอ้อม เช่น วิ่งสะดุดหลุมแล้วข้อเท้าบิดเข้าด้านใน ทำให้เอ็นข้อหรือเอ็นกล้ามเนื้อถูกยืดเกินช่วงปกติหรือฉีกขาดบางส่วน จะมีอาการคล้ายกับแบบแรก แต่มักจะอยู่บริเวณใกล้ข้อ

3. แรงกระทำซ้ำๆ จนเกินความทนทานของเนื้อเยื่อ ลักษณะนี้จะพบได้บ่อยในกีฬาที่ใช้เวลานานและต่อเนื่องกันในการแข่งขัน เช่น วิ่งระยะไกล หรือกายบริหารบางท่าที่ยืดข้ออย่างแรงและซ้ำๆกันทุกวัน เป็นต้น ซึ่งปกติเนื้อเยื่อร่างกายจะมีความทนทานต่อแรงกระทำซ้ำๆ ในลักษณะยืดหรือกดขนาดหนึ่ง หากเริ่มเกินภาวะนี้แล้ว เราจะเริ่มรู้สึกปวดหรือเจ็บขัดๆ ถ้ายังฝืนต่อไปก็จะบาดเจ็บเพิ่มขึ้น มีอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน และเคลื่อนไหวไม่สะดวก หากเป็นบ่อยๆ ก็จะเรื้อรังทำให้ยากแก่การรักษา

เราจะป้องกันการบาดเจ็บดังกล่าวนี้ได้อย่างไร

การป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไขเป็นไหนๆ จากบทเรียนที่ได้รับบาดเจ็บจากการกีฬาและประสบการณ์ทางอ้อม พอจะสรุปเป็นแนวทางในการป้องกันการบาดเจ็บได้ ดังนี้

1. นักกีฬา ผู้ฝึกนักกีฬาหรือผู้ออกกำลังกายควรศึกษาวิธีการ กติกา และฝึกให้ถูกต้อง เพราะผู้ที่ค้นคิดกีฬาหรือการออกกำลังกายต่างๆ มักจะได้ศึกษาถึงข้อดี ขณะเดียวกันก็มีข้อเสียน้อยที่สุด หากว่านักกีฬาปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้มาก

2. ควรมีการอุ่นเครื่องและเบาเครื่อง เช่น กายบริหารยืดข้อ กล้ามเนื้อ และออกกำลังกายเบาๆ ก่อนและหลังการแข่งขัน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้ทันทั้งระบบประสาท ระบบหายใจ ระบบหัวใจ และระบบข้อและกล้ามเนื้อ ซึ่งมีความสำคัญต่อการออกกำลังกายทุกรูปแบบ

3. มีและใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันภยันตรายตามชนิดของกีฬา เช่น สวมรองเท้าพื้นนิ่มและกระชับสำหรับนักวิ่งระยะไกล สวมหน้ากากและเสื้อนวมในการซ้อมหรือแข่งฟันดาบ เป็นต้น

4. รับการตรวจร่างกายและทดสอบสมรรถภาพทางกายก่อนฤดูกาลแข่งขันอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์ เพื่อให้มีช่วงเวลาพอที่จะฟื้นฟูสภาพถ้าต่ำกว่าเกณฑ์ ข้อนี้จำเป็นสำหรับผู้ที่แข่งขันกีฬาที่ปะทะกันบ่อยๆ เช่น นักรักบี้ นักฟุตบอล นักมวย เป็นต้น

นอกจากนี้นักกีฬาประเภทที่ไม่ปะทะกันแต่มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันกีฬาก็อาจมาขอรับการตรวจหรือทดสอบได้ สำหรับการตรวจร่างกายทั่วไป ท่านอาจปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลจังหวัด และสำหรับการทดสอบสมรรถภาพทางกายท่านอาจขอรับบริการได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ และสาขาต่างจังหวัด หรือที่วิทยาลัยพลศึกษาทุกแห่ง

5. รักษาสุขภาพและสมรรถภาพทางกายให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน

6. ฝึกซ้อมกีฬาให้ชำนาญ

สิ่งต่างๆ ดังกล่าวมานี้จะช่วยลดอัตราการเสี่ยงต่อบาดเจ็บจากการกีฬาได้อย่างมาก

ถ้าเกิดการบาดเจ็บจะทำอย่างไร

เมื่อเกิดการบาดเจ็บขึ้นขณะแข่งกีฬาหรือขณะซ้อมกีฬา ผู้ได้รับบาดเจ็บมักจะตกใจหรือโกรธก่อนที่จะรู้สึกเจ็บปวด ดังนั้นสิ่งสำคัญก่อนอื่นต้องตั้งสติให้ได้เสียก่อน ทั้งผู้ช่วยเหลือและผู้ได้รับความช่วยเหลือ แล้วจึงดำเนินการอย่างอื่นต่อไป

1. ตรวจประเมินสภาพการบาดเจ็บเสียก่อน ถ้ารุนแรงควรส่งต่อไปโรงพยาบาลโดยด่วนและระมัดระวัง
การตรวจประเมินง่ายๆ สำหรับนักกีฬาและผู้ช่วยเหลือก็อาศัยการสังเกต การถามผู้บาดเจ็บเกี่ยวกับอาการ และลองให้ขยับแขนขาดู ไม่ควรรีบร้อนตรงเข้าไปบีบนวดเขย่าตัวหรือศีรษะผู้บาดเจ็บ โดยเฉพาะบาดเจ็บที่ศีรษะ คอ และลำตัว

ในสถานการณ์ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่แพทย์สนามอยู่ด้วย นักกีฬาหรือผู้ช่วยเหลืออาจต้องใช้สามัญสำนึกร่วมกับประสบการณ์บ้างพอสมควร อย่างไรก็ตามเกณฑ์ต่อไปนี้พอเป็นแนวทางในการตัดสินใจส่งต่อไปโรงพยาบาลโดยเร็ว คือ

- เมื่อผู้ได้รับบาดเจ็บหมดสติ หรือหยุดหายใจ

- เมื่อมีการบาดเจ็บต่อศีรษะ

- เมื่อมีบาดเจ็บต่ออกและช่องท้อง

- เมื่อสงสัยว่ามีกระดูกหักหรือข้อเคลื่อน

- เมื่อมีบาดเจ็บต่อคอและสันหลัง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการชาและอ่อนแรงร่วมด้วย

- เมื่อมีแผลฉีก

- เมื่อสงสัยว่าบาดเจ็บรุนแรง เช่น ปวดมากแม้อยู่นิ่งๆ ก็ไม่หาย มีเลือดออกมาก เป็นต้น

การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บภาวะนี้ถ้ามีเจ้าหน้าที่แพทย์สนามก็ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่แพทย์สนามดำเนินการทันที ถ้าไม่มีก็อาจตะโกนเรียกผู้ที่อยู่ใกล้เคียงให้ช่วยเหลือ เพื่อว่าอาจมีผู้รู้อยู่บริเวณใกล้เคียงจะได้ช่วยกัน หรือช่วยโทรศัพท์ตามรถพยาบาลได้โดยเร็ว

แต่ถ้าไม่มีผู้รู้ที่จะช่วยเหลือได้ก็ควรจะเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บอย่างระมัดระวัง บางครั้งอาจต้องใช้ไม้กระดานช่วยดามแขน ขา ศีรษะ หรือลำตัวที่ได้รับบาดเจ็บนั้นให้อยู่นิ่งๆ ขณะนำส่งโรงพยาบาล และถ้าผู้บาดเจ็บหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นก็ต้องผายปอดและกดนวดหัวใจขณะนำส่งโรงพยาบาลด้วย ภาวะบาดเจ็บรุนแรงนี้อาจไม่พบบ่อยนัก แต่ก็ควรทราบไว้เพื่อว่าบางครั้งอาจจำเป็นต้องช่วยเหลือ

2. ถ้าเป็นแต่เพียงช้ำ เอ็นยืดหรือฉีกบางส่วน กล้ามเนื้อล้า ข้อเคล็ด หรือซ้น ซึ่งผู้บาดเจ็บจะมีอาการปวดชั่วขณะที่เคลื่อนไหว เมื่ออยู่นิ่งจะบรรเทาบวม ช้ำ หรือห้อเลือด กล้ามเนื้อเกร็ง และเคลื่อนไหวลำบาก ท่านสามารถช่วยเหลือได้โดย

- พักการใช้งานในส่วนที่บาดเจ็บเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว อาจต้องงดการแข่งขันจนกว่าจะหายเป็นปกติ สำหรับส่วนอื่นของร่างกายที่ไม่บาดเจ็บ ก็สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติเพื่อคงสภาพความสมบูรณ์ของระบบหัวใจ ระบบหายใจ และระบบควบคุมการเคลื่อนไหวให้เป็นปกติ

- ประคบด้วยผ้าห่อน้ำแข็งหรือถุงน้ำแข็งทันทีนาน 10-15 นาที แล้วเอาออกและสามารถประคบได้อีกวันละหลายๆ ครั้งจนกว่าจะหยุดบวมและลดปวด การประคบด้วยความเย็นนี้ไม่ควรใช้นานเกิน 3 วันหลังจากได้รับบาดเจ็บ ถ้าใช้นานเกินไปการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อจะเป็นไปช้ากว่าปกติ แต่การใช้ความเย็นประคบบริเวณที่บาดเจ็บภายใน 3 วันแรกหลังจากบาดเจ็บจะทำให้เส้นเลือดฝอยที่ผิวหดตัว ลดบวม และลดปวดได้ดี

- พันผ้ายืดบริเวณที่บาดเจ็บ โดยพันให้แน่นกระชับจากส่วนปลายแขนหรือขาที่บาดเจ็บให้คร่อมเลยส่วนที่บาดเจ็บไปส่วนโคนเล็กน้อย เพื่อป้องกันและลดบวม

- รองส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้การไหลเวียนกลับของเลือดได้ดีและลดบวม

3. ถ้าอาการปวดและบวมยังไม่หายภายใน 3 วันควรรีบไปปรึกษาแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลที่ท่านอยู่ใกล้

4. ผู้บาดเจ็บควรงดสิ่งต่อไปนี้จนกว่าจะหายเป็นปกติ

- การบีบนวดทันทีตรงบริเวณที่เจ็บเพราะอาจทำให้บาดเจ็บมากขึ้น

- การประคบด้วยความร้อนภายในวันแรก เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้นจากการขยายตัวของเส้นเลือดฝอย

- การบีบนวด และประคบร้อนควรกระทำเมื่ออาการบวมและห้อเลือดลดลงแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปจะกระทำเมื่อเลย 3 วันไปแล้ว

- การดื่มเหล้าหรือเบียร์ เพราะจะกดระบบประสาททำให้เซและอาจบาดเจ็บเพิ่ม ขณะเดียวกันมีผลให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว เลือดจะออกได้มากขึ้น

การรีบลงแข่งขันต่อทั้งที่ยังไม่หายดี เพราะเนื้อเยื่อที่ยังซ่อมแซมไม่ดีจะบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก

5. ก่อนลงแข่งขันหรือออกกำลังกายเช่นเดิมอีก ควรไปรับการตรวจร่างกายและทดสอบสมรรถภาพทางกายอีกครั้งหนึ่ง

6. นักกีฬาควรฝึกฟื้นสมรรถภาพทางกายและฝึกทักษะกีฬาเพิ่มขึ้นทีละน้อย จนร่างกายและจิตใจพร้อมที่จะแข่งขันต่อไปได้จึงลงแข่งขันจริง

ข้อมูลสื่อ

125-032
นิตยสารหมอชาวบ้าน 125
กันยายน 2532
อื่น ๆ
ผศ.ดร.วิชัย อึ้งพินิจพงศ์