• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การรักษามะเร็งโดยทางวัฒนธรรม

การรักษามะเร็งโดยทางวัฒนธรรม

ผู้ป่วยมะเร็งมีมากขึ้นเรื่อยๆ และขณะนี้ไต่อันดับขึ้นมาเป็นลำดับ 3 ของสาเหตุการตายของคนไทยแล้ว การแพทย์แผนปัจจุบันรักษามะเร็งได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ที่เด่นชัด ก็คือ ผู้ป่วยมะเร็งและญาติมีความวิตก กังวล และโทมนัสอุปายาสมาก หรือรวมเรียกว่า สุขภาพจิตเสียขนาดหนัก แพทย์ก็ยุ่งเกินไปไม่มีเวลามาสนใจกับสุขภาพจิตของผู้ป่วยและญาติในเรื่องต่างๆ

การรักษาโรคมีวิธีการมากมายหลายอย่าง การแพทย์แผนปัจจุบันมุ่งเน้นการวินิจฉัยโรคมาก แต่รักษาน้อย การแพทย์แผนโบราณหรือแผนพื้นเมืองเน้นการรักษามากแต่วินิจฉัยน้อย การแพทย์แผนพื้นบ้านใช้การรักษามากมายหลายรูปแบบ เช่น การนวด การพยายามช่วยเหลือ และการให้กำลังใจโดยครอบครัว เพื่อนบ้าน หมอยา หมอพระ ฯลฯ ซึ่งอาจสรุปว่าคงไม่ค่อยมีผลโดยตรงต่อโรค แต่ให้ผลอันยิ่งใหญ่ทางสุขภาพจิต ซึ่งเกิดจากความพึงพอใจ (satisfaction) การรักษาที่ช่วยให้สุขภาพจิตดีย่อมเพิ่มคุณภาพชีวิต

การเพิ่มคุณภาพชีวิตควรเป็นเครื่องวัดผลของการรักษาโรค แน่นอนการรักษาโรคให้หายเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิต แต่การรักษาโรคที่ไม่หายก็อาจรักษาโดยการเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ การรักษาโดยไม่คำนึงถึงการเพิ่มคุณภาพชีวิตก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยและครอบครัวเพิ่มขึ้น ในการรักษามะเร็ง ควรมีการรักษาทางสุขภาพจิตควบคู่ไปด้วย โดยกลุ่มคนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ อาจเป็นพยาบาล เป็นอาสาสมัคร เป็นพระ ที่ให้กำลังใจผู้ป่วย แนะนำวิธีทำจิตให้เป็นปภัสสร ( transcendence) จากการทดลองกันมาแล้วพบว่า เมื่อผู้ป่วยมีจิตปภัสสร และมีความรู้สึกว่ามีคนร่วมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (socialization) ไม่เดียวดาย ผู้ป่วยจะมีความสุขอย่างยิ่ง อาจเป็นความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน เป็นคุณภาพชีวิตอย่างยิ่ง และถึงกับทำให้หายจากมะเร็งก็มี ดังปรากฏในหนังสือเรื่อง เปลี่ยนชีวิต-พิชิตมะเร็ง ที่ ‘หมอชาวบ้าน’ ได้จัดพิมพ์ขึ้น

นี้เป็นตัวอย่างว่า ในสภาพที่เลวร้าย ก็สามารถส่งเสริมสุขภาพจิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตได้

ขอให้แพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล พระภิกษุสงฆ์ อาสาสมัคร ให้ความสนใจในเรื่องนี้ และส่งเสริมให้มีกลุ่มอาสาสมัครช่วยผู้ป่วยมะเร็งกันมากๆ เถิด จะเพิ่มคุณภาพชีวิต ทั้งของผู้ป่วย และของกลุ่มอาสาสมัครเอง ก่อให้เกิดความสุขในสังคม เพราะมนุษย์จะมีความสัมพันธ์กันในรูปใหม่

ข้อมูลสื่อ

126-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 126
ตุลาคม 2532
ศ.นพ.ประเวศ วะสี