• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สัดส่วนของโต๊ะทำงานกับการจัดวางของบนโต๊ะทำงาน

สัดส่วนของโต๊ะทำงานกับการจัดวางของบนโต๊ะทำงาน


นอกจากการจัดจอคอมพิวเตอร์ แป้นพิมพ์ และเมาส์ให้พอเหมาะพอดีแล้ว พบว่าบนโต๊ะทำงาน ยังมีอุปกรณ์อีกจำนวนหนึ่งที่วางอยู่บนโต๊ะ ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น มีทั้งใช้บ่อยและนานๆ ครั้งจะถูกนำมาใช้ และมีทั้งน้ำหนักมากและน้อย จึงต้องจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นให้เหมาะสม มิเช่นนั้นอาจทำให้การทำงานของเราผิดพลาด หรือไม่สะดวก ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุจากการทำงานเนื่องจากการยกหรือหยิบของเหล่านั้นได้

⇒ สัดส่วนของโต๊ะเพื่อการทำงาน
ในกรณีที่ต้องทำงานร่วมกันหลายๆ คน หรือในการออกแบบโต๊ะให้เหมาะสมกับคนทั่วไป สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ความสูง ความกว้างและความลึกของโต๊ะ ข้อมูลในการออกแบบนั้นนำมาจากการใช้ค่าสัดส่วนมาตรฐานของคนในแต่ละประเทศนั้นๆ โดยใช้ค่าประมาณของคนตัวเตี้ย และคนตัวสูงแล้วแต่กรณี อย่างไรก็ตาม การออกแบบโต๊ะในประเทศไทยอาจไม่เป็นไปตามที่กล่าวมา เนื่องจากค่าสัดส่วนมาตรฐานของคนไทยยังมีไม่ครบในทุกกลุ่มอายุและภูมิภาค และเป็นข้อมูลเก่ามากกว่า 10 ปี สัดส่วนของโต๊ะ และอุปกรณ์ต่างๆ จึงมาจากสัดส่วน ของคนต่างชาติ ที่อาจไม่เหมาะสมกับคนไทย

สำหรับความสูงของโต๊ะ จะถูกออกแบบให้คนตัวสูงเป็นหลัก เพราะตามหลักการคนสูงไม่สามารถสอดขา เข้านั่งได้ถ้าโต๊ะนั้นเตี้ย และจะไปตัดขาคนสูงเพื่อให้นั่งได้ ก็ไม่สามารถทำได้อีก แต่ในทางตรงกันข้าม คนที่ตัวเตี้ย ถ้าใช้โต๊ะที่สูง ก็สามารถที่จะปรับเก้าอี้ให้สูงแล้วหาที่ พักเท้ามารองได้
ถ้าพิจารณาความลึกของโต๊ะ และความสูงของชั้นวางของที่อาจมีประกอบเข้ามาในโต๊ะบางตัว ความลึกของโต๊ะและความสูงของชั้นวางนั้นจะต้องถูกออก แบบให้คนที่เตี้ยหรือคนที่มีแขนสั้น เหตุผลเพราะคนตัวสูงแขนยาวสามารถหยิบของได้ในทุกจุด (ถ้าโต๊ะนั้นออกแบบให้คนตัวสูง) คนที่ตัวเตี้ย จะไม่สามารถเอื้อมหยิบของในโต๊ะที่ลึกหรือในชั้นที่สูงๆ ได้ การต่อเก้าอี้อาจทำให้การทำงาน ล่าช้าได้อย่างไรก็ตาม ถ้าโต๊ะหรืออุปกรณ์ต่างๆ มีผู้ที่ใช้อยู่เพียง ผู้เดียว สัดส่วนที่นำมาใช้ก็คือ สัดส่วนของผู้ที่ใช้โต๊ะหรืออุปกรณ์ ต่างๆ นั้น

⇒ ความลึกและความกว้างของโต๊ะ

ความลึกและความกว้างของโต๊ะพิจารณาจาก
1. พื้นที่ทำงานใกล้ตัวที่เหมาะสม
สามารถหาได้ง่ายโดยการวาดมือไปบนโต๊ะขณะที่ศอกชิดลำตัวเป็นรูปครึ่งวงกลม (ดังภาพที่ ๑) ระยะจากศอกถึงบริเวณข้อนิ้วที่เมื่อกำมือแล้วหยิบของได้พอดี จะยาวประมาณ 35-45 เซนติเมตร เมื่อวาดเป็นครึ่งวงกลมจะได้ระยะเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70-90 เซนติเมตร เมื่อรวมระยะเส้นผ่าศูนย์กลางของครึ่งวงกลม ของแขนอีกข้าง รวมกับระยะที่ทับซ้อนด้วย จะได้ระยะทำงานใกล้ตัวประมาณ 100-130 เซนติเมตร ตามที่ได้กล่าวมาว่า ระยะที่เอื้อมจะให้ใช้ระยะของคนตัวเตี้ย จึงใช้ค่าน้อยเป็นหลัก ดังนั้นระยะทำงานหลักของพื้นที่ทำงานใกล้ตัวจะประมาณ 100 เซนติเมตร ส่วนความ ลึกนั้น เมื่อหักจากการที่ข้อศอกไม่ได้วางอยู่บนโต๊ะโดยตรง จะเหลือระยะในพื้นที่ที่ทำงานในส่วนลึกประมาณ 25 เซนติเมตร

 


2. พื้นที่ครึ่งวงกลมสำหรับหยิบเอื้อม
เป็นพื้นที่ถัดไป แนวพื้นที่จะเป็นรัศมีของแขนที่เหยียดยาวออก (ดังภาพที่ 1) ในทำนองเดียวกับข้อ 1 แต่เปลี่ยนมา เป็นระยะที่เหยียดแขน จะทำให้ความกว้างของโต๊ะประมาณ 160 เซนติเมตร และมีความลึกที่ 50 เซนติเมตร
3. ความกว้างและลึกของโต๊ะ
อาจมีขนาดเพิ่ม จากขนาดที่กล่าวตามข้อ 1 และ 2 แต่ต้องเข้าใจว่าพื้นที่ ที่เพิ่มขึ้นมานั้นก็เพื่อการวางของ
4. การเพิ่มพื้นที่เพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการหยิบและการใช้งาน
สามารถทำได้โดยออกแบบให้โต๊ะทำงานอยู่ในรูปตัว L ซึ่งผู้ใช้สามารถที่จะหมุนเก้าอี้ และหยิบของบนพื้นที่ของโต๊ะได้ง่าย

⇒การจัดวางของบนโต๊ะ
อุปกรณ์ เช่น เมาส์ แป้นพิมพ์ โทรศัพท์ ปากกา ดินสอ และอุปกรณ์สำนักงานอีกหลายชนิด เป็นอุปกรณ์ ที่ใช้บ่อย การจัดวางอุปกรณ์ที่ใช้บ่อยมีหลักการง่ายๆ ดังนี้ (ภาพที่ 2)



1. ของที่ใช้งานบ่อยควรอยู่ในพื้นที่ทำงานใกล้ตัว
เช่น พนักงานรับโทรศัพท์ ต้องรับโทรศัพท์ตลอดเวลา ตำแหน่งของโทรศัพท์ควรอยู่ในพื้นที่ทำงานนี้

2. หากอุปกรณ์นั้นมีน้ำหนักเบาและใช้บ่อย แต่ไม่ถึงขนาดบ่อยมาก
เช่น ปากกา และอุปกรณ์สำนักงานบางอย่าง อาจวางไว้ในพื้นที่ครึ่งวงกลมหยิบเอื้อมได้ โดยไม่ต้องลุกยืนเพราะเวลาจะใช้สามารถเอื้อมหยิบได้โดยไม่มีผลกระทบต่อกล้ามเนื้อและข้อต่อไหล่

3. อุปกรณ์ที่หนักแม้ไม่ใช้บ่อย
ควรอยู่บริเวณพื้นที่ใกล้ขอบโต๊ะซ้ายหรือขวาใกล้ตัวผู้ใช้ไม่ควรให้อยู่ ลึกเข้าไปบนโต๊ะ เพราะการเอื้อมหยิบของหนักมีผลทำให้ไหล่ต้องทำงานหนัก และแรงกดต่อหมอนรองกระดูกสันหลังมากขึ้น ดังนั้นเวลาจะหยิบใช้สามารถลุกขึ้นยืนหรือเลื่อนเก้าอี้เข้าใกล้ซึ่งจะสะดวกแก่การหยิบได้

4. ของที่เบาแต่ขนาดใหญ่สามารถวางไว้บนส่วนลึกด้านในของโต๊ะได้
เพราะการเอื้อมหยิบสามารถทำได้ โดยมีผลต่อไหล่และหลังไม่มากนัก

5. การจัดวางควรให้เหมาะกับลำดับของการทำงาน
เช่น ถ้าต้องอ่านแล้วพิมพ์หรือเขียน ให้วางงานที่ต้องอ่านไว้ด้านซ้าย และอุปกรณ์ที่ใช้เขียนหรือพิมพ์ อยู่ตรงกลาง เพราะลักษณะของภาษาไทยต้องอ่านจากซ้ายมาขวา เวลาเขียนหรือพิมพ์ ก็จากซ้ายมาขวาเช่นกัน

6. วางอุปกรณ์ตามการใช้งานของมือ
เช่น ถ้าใช้มือขวาเป็นหลัก อุปกรณ์ในการเขียน โทรศัพท์ อุปกรณ์ที่ใช้มือขวา ควรวางไว้ด้านขวา

⇒ การจัดวางของบนชั้นหรือตู้
บนชั้นหรือตู้ ที่ใช้เก็บของหรือเอกสารในการทำงาน ก็มีความสำคัญในการจัดวางเช่นกัน โดยพิจารณาได้ ดังนี้ (ภาพที่ 2)
1. ความสูงของชั้นต้องถูกออกแบบสำหรับคนตัวเตี้ย เพราะตำแหน่งที่คนตัวเตี้ยเอื้อมถึง คนตัวสูงก็เอื้อมถึงเช่นกัน ถ้าต้องใช้บันไดจะมีผลเรื่องของความปลอดภัยและไม่สะดวกในการทำงาน

2. ของที่ใช้บ่อยควรวางในชั้นที่มีความสูงที่ระดับเอวถึงระดับสายตา

3. ของที่มีน้ำหนักมากควรอยู่ในชั้นระดับเอวหรือ ต่ำกว่านั้นลงมาเล็กน้อยแต่ไม่ต่ำกว่าระดับกำปั้นในขณะกำมือยืนตรงแขนอยู่แนบกับลำตัวหรือถ้าหนักมากๆจนไม่สามารถยกได้ ก็ให้อยู่ในระดับต่ำสุด เพื่อสะดวกต่อการดึงลาก

4. ของที่น้ำหนักเบาอาจไว้ในชั้นบนสุดได้

การจัดวางของบนโต๊ะและบนชั้ มีผลต่อการทำงาน ประสิทธิภาพของการทำงาน ตลอดจนปัญหาการบาดเจ็บจากการทำงาน เมื่อจัดวางตามที่ได้แนะนำแล้วพึงระลึกเสมอว่าอย่าได้ประมาท ให้ยกของเอื้อมหยิบของอย่างระมัดระวังจะทำให้ปัญหาการบาดเจ็บจากการทำงานห่างไกลจากท่าน

ข้อมูลสื่อ

306-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 306
ตุลาคม 2547
คนกับงาน
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา