• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคโรงงานอีกแบบหนึ่ง

โรคโรงงานอีกแบบหนึ่ง


โรคภัยไข้เจ็บหรือภยันตรายที่เกิดกับคนงานที่ทำงานในโรงงาน ที่ทราบกันดีอยู่แล้วมีหลายอย่าง เช่น
1. อุบัติเหตุ
เช่น ตกจากที่สูง โดนเครื่องจักรบดขยี้ โดนสายพานตี หม้อน้ำระเบิด ฯลฯ เป็นเหตุให้เสียชีวิต และพิการเป็นอันมาก

2. ได้รับสารพิษ
โรงงานหลายชนิดปล่อยสารที่เป็นพิษหรือเปรอะเปื้อนด้วยสารที่เป็นพิษ โดยไม่มีการรู้เท่ากัน หรือควบคุมที่พอเพียง เช่น ตะกั่วที่เกี่ยวกับแบตเตอรี่ โรงพิมพ์ สีทาบ้าน และอื่น ๆ
แมงกานีส ในโรงงานทำถ่านไฟฉาย เคยทำให้คนงานสมองเสื่อม เป็นอัมพาตเกร็งกันมาแล้วปรอทในโรงงานหลายอย่างสารพวกเบนซิน (ไม่ใช่น้ำมันเบนซิน) ในโรงงานฟอกหนังและอื่น ๆฯลฯ

3. ฝุ่นละอองเข้าปอด
เช่น ผงแร่ ผงอ้อย ผงแป้ง ถูกสูดเข้าไป ทำให้เป็นโรคปอด

4. อันตรายจากเสียง
คนงานที่ทำงานที่มีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา หูจะค่อย ๆ ดึงเข้า ๆ จนหนวกได้และก่อให้เกิดปัญหาทางจิตประสาท เพราะความกดดันจากเสียง

นอกจากโรคและภยันตรายเหล่านี้แล้ว โรคโรงงานยังมีอีกชนิดหนึ่ง ที่ยังไม่ค่อยรู้จักกันดี ผู้ป่วยจะ
มาโรงพยาบาลด้วยอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ใจสั่น นอนไม่หลับ ท้องอืด ผู้ป่วยพวกนี้ มักจะเป็นชาวนามาจากต่างจังหวัด มาทำงานในโรงงานทอผ้า และโรงงานประเภทต่าง ๆ เมื่อถามว่า เมื่อก่อนทำนาเคยมีอาการอย่างนี้ไหม จะบอกว่าไม่เป็นเพิ่งมาเป็นหลังจากทำงานในโรงงาน

ถ้าผู้ใดยังไม่เข้าใจว่าทำไมคนงานในโรงงาน จึงมีอาการดังกล่าว ก็ลองไปทำงานในโรงงานสักพัก
หนึ่งจะทราบงานซ้ำ ๆ ซาก ๆ คุมเครื่องก็คุมมันอย่างเดียว ตลอด 8 ชั่วโมง
แกะกุ้ง ก็แกะอยู่อย่างเดียว ตลอดทั้งวัน เห็นแต่กุ้ง ๆ ๆ ๆ
การที่มนุษย์ต้องทำอะไรซ้ำ ๆ อยู่ตลอดเวลา จะทำให้เบื่อและประสาทเครียด ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ
ดังกล่าวขึ้น ที่เรียกว่า โรคโรงงาน

อีกประการหนึ่ง งานในโรงงานหลายอย่าง เช่น โรงงานทอผ้า หรืองานปิดเปิดสวิทช์คุมเครื่อง เป็น
งานเบา ๆ เมื่อก่อนทำนาไม่มีอาการอ่อนเพลีย เวียนหัว หรือท้องอืด แต่คนที่ทำงานเบา จะมีอาการเหล่านี้

การมีรายได้น้อย และสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี ก็ทำให้โรคโรงงานกำเริบ
ถ้าลองทำแล้วได้วันละ 200-300 บาท คนงานก็จะบอว่า “เบื่อก็ทนได้โว้ย”ที่สำคัญก็คือ ความไม่รู้
เมื่อมีอาการดังกล่าว คนงานก็คิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ โรคปอด หรือโรคอะไรสักอย่าง
เมื่อไปหาหมอ หมออาจไม่ทราบว่าเป็นโรคโรงงาน ไปฉีดหยูกฉีดยาเข้า เลยไปกันใหญ่ (คนงานเสีย
เงิน และเจ็บตัว) หรือซวยหนักขึ้น หมอเถื่อนชวนให้น้ำเกลือ ยิ่งแย่เข้าไปอีก

ฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จักโรคโรงงานวิธีรักษาและป้องกันโรคนี้ ที่ง่ายที่สุดและถูกที่สุดคือ การออกกำลังระหว่างที่คุมเครื่อง หรือทำงานเบาในโรงงานนั้น ให้ออกกำลังสลับฉาก เช่น วิคพื้น หรือกระโดดเชือก เป็นครั้งคราว และพยายามหายใจลึก ๆ ระบายความเบื่อไปพร้อมกับลมหายใจเสียบ้าง จะช่วยได้มาก

การแก้วิธีอื่นยังมีอีก เช่น
1. จัดลักษณะงานอย่าให้จำเจ น่าเบื่อ
2. ให้มีการหยุดเป็นระยะ ๆ อย่าได้ครบ 8 ชั่วโมง แล้วให้ไปออกกำลังเสีย
3. ให้รายได้และสวัสดิการคนงานเพิ่มขึ้น
สามประการหลังนี้ เขาเรียกว่า จัดให้ทำงานแบบพัฒนามนุษย์ แต่เห็นจะเป็นไปได้ยาก เพราะวัตถุ
ประสงค์ของโรงงานเขา ไม่ใช่เพื่อพัฒนามนุษย์ แต่เพื่อพัฒนากำไร


ในสังคมปัจจุบัน เพราะการทำอะไรโดยไม่ค่อยคำนึงถึงมนุษย์ มนุษยธรรมจึงเสื่อมลง ๆ แม้โรคโรงงานก็เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้

 

ข้อมูลสื่อ

13-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 13
พฤษภาคม 2523
อื่น ๆ
ศ.นพ.ประเวศ วะสี