• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไปเบิ่งแพทย์ลาวที่เวียงจันทน์ (ตอนที่ 5)

ไปเบิ่งแพทย์ลาวที่เวียงจันทน์ (ตอนที่ 5)

แพทย์หญิงบุญยงค์ บุปผา รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ได้บอกให้คณะของเราทราบว่า คณะแพทยศาสตร์ แห่งกรุงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นคณะแพทย์ฯ แห่งเดียวในประเทศนี้ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2512 ได้ผลิตแพทย์ชั้นสูง (ระดับปริญญา) ไปแล้ว 13 รุ่น จำนวน 607 คน รุ่นที่ 14 กำลังจะจบอีก 107 คน ดังนั้นจำนวนแพทย์ชั้นสูงทั่วประเทศมีจำนวน 900 คนเศษ มีจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูแพทย์สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และในจำนวนแพทย์ 900 คนเศษนี้ กว่า 700 คนอยู่ในกรุงเวียงจันทน์ ที่เหลืออยู่ตามแขวงต่างๆ อีก 16 แขวง (ระดับจังหวัด) ซึ่งมีโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงอยู่ทุกแขวง

สำหรับในระดับเมือง (อำเภอ) นั้น ผมทราบข้อมูลในภายหลังจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขผู้หนึ่งว่า มีโรงพยาบาลเมือง (โรงพยาบาลระดับอำเภอ) อยู่เกือบครบทุกเมือง คือ มีประมาณร้อยละ 70 ของเมืองทั้งหมดซึ่งมีอยู่ 117 เมือง เธอบอกผมว่าเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ตัวเลขเหล่านี้อาจคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากไม่ได้พูดคุยกับผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง

สำหรับในระดับตาแสง (ตำบล) นั้น เธอบอกว่า ภายใน 2 ปีข้างหน้าจะมีโรงพยาบาลระดับตาแสงครบทุกแห่ง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสถานีอนามัยตำบลเหมือนบ้านเรา สำหรับโครงสร้างพื้นฐานของระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในบ้านเรานั้นนับว่าดีทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ ในระดับตำบลเรามีสถานีอนามัยตำบลถึง 7,865 แห่ง ซึ่งมีครบทุกตำบลแล้ว บางตำบลมีถึง 2 แห่ง ในระดับอำเภอมีโรงพยาบาลชุมชนถึง 579 แห่ง ซึ่งมีแพทย์ระดับปริญญาอยู่ในทุกแห่ง อย่างน้อยแห่งละ 2 คน ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีโรงพยาบาลระดับอำเภอเพียง 200 แห่ง และมีแพทย์ประมาณ 300 คนเศษเท่านั้น (ขณะนี้มีจำนวน 1,542 คน)

สำหรับในระดับจังหวัดนั้น มีโรงพยาบาลทั่วไป (ขนาด 250 เตียง) จำนวน 72 แห่ง และอีก 17 แห่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ (ขนาด 500 เตียง) ซึ่งเรามีแพทย์ประจำอยู่ในระดับจังหวัดประมาณ 2,500 คน ขณะที่ลาวและประเทศอื่นๆ ในเอเซียอาคเนย์ยังต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอยู่นั้น ไทยก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาคุณภาพของระบบบริการฯ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการจัดสรรงบประมาณไปยังภูมิภาค และกระจายบุคลากรไปปฏิบัติงานในชนบทมากขึ้น

ทั้งนี้โดยอาศัยนโยบายของรัฐฯ และกลไกการบังคับให้แพทย์ไปชดใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาเป็นระยะเวลา 3 ปีในชนบท ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบทได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งมีการกระจายแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางในระดับโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป โดยให้ทำสัญญาชดใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาเป็นเวลา 6 ปีเช่นกัน ซึ่งมีผลให้คุณภาพของระบบบริการฯ ดีใกล้เคียงกับโรงพยาบาลในเมืองใหญ่หรือกรุงเทพฯ ประชาชนในต่างจังหวัดไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารักษาตัวในกรุงเทพฯ โดยไม่จำเป็นอีกต่อไป

ลาวมีปัญหาการกระจายแพทย์ไปอยู่ในชนบทอยู่มาก ด้วยเหตุนี้กระมัง จึงมีการผลิตแพทย์ชั้นกลางโดยคัดเลือกจากนักเรียนระดับมัธยมกลาง มาเรียนแพทย์ชั้นกลาง 3 ปี และเมื่อจบแล้วก็ให้ไปทำงานในชนบท 2 ปี เข้าใจว่าจะไปทำงานในระดับตาแสง (ตำบล) และระดับเมือง (อำเภอ)

หากต้องการจะเรียนต่อเป็นแพทย์ชั้นสูง จะต้องใช้เวลาเรียนอีก 5 ปี (หลักสูตรแพทย์ชั้นสูงใช้เวลาเรียน 6 ปีเช่นเดียวกับไทย) การคัดเลือกนักเรียนมาเรียนแพทย์นั้น กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้คัดเลือก ไม่ต้องสอบ โดยดูคุณสมบัติทั้งทางวิชาการ (ผลการเรียน) และคุณสมบัติในด้านอื่นๆ เช่น ความรักชาติ เจตคติที่ดีต่อชุมชน หรือมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ตายเพราะเสียสละเพื่อการปฏิวัติ เป็นต้น

อาจารย์แพทย์ของไทยท่านหนึ่งสงสัยว่าจะมีคุณภาพดีหรือไม่ จึงได้ถามแพทย์หญิงบุญยงค์ ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า “ร้อยละ 20 ดีแท้ ร้อยละ 15 ดี ร้อยละ 50 ปานกลาง อีกร้อยละ 15 ค่อนข้างแย่” ซึ่งก็คงพอๆ กับนักศึกษาแพทย์ไทยนั่นแหละ

แต่ระบบคัดเลือกแตกต่างจากของไทย เพราะของไทยถือเอาคุณสมบัติทางด้านวิชาการเป็นหลัก ใครมีความสามารถสอบผ่านระบบคัดเลือก (สอบเอนทรานซ์) ของทบวงมหาวิทยาลัยได้ ก็เข้ามาเรียนแพทย์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ยุติธรรมที่สุดในเวลานี้ มีระบบการคัดเลือกอีกระบบหนึ่ง คือ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โดยไม่ต้องผ่านระบบคัดเลือก แต่ผ่านการสอบของทางคณะแพทย์แต่ละแห่งที่มีโครงการนี้ โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขไปคัดเลือกนักเรียนในชนบทที่เรียนดี มีเจตคติที่ดีต่อชุมชนแต่ยากจน ให้ได้มีโอกาสมาเรียนแพทย์ และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็กลับไปทำงานชดใช้ทุนในจังหวัดของตนเอง ซึ่งเชื่อว่าสามารถอยู่ทำงานได้นาน และทำงานร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถเข้าใจวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ

ขณะนี้มีแพทย์ที่สำเร็จจากโครงการนี้ปีละประมาณ 150 คน นับว่าเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส และเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาโดยแท้ แต่ตอนหลังๆ ทราบว่า หลักการที่ดีของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทได้ถูกคนที่มีโอกาสดีอยู่แล้วทางสังคมฉกฉวยไปอีก เช่น ลูกของข้าราชการระดับสูงในจังหวัดนั้นๆ ได้เป็นนักเรียนแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

ทางคณะแพทย์ฯ และทางกระทรวงสาธารณสุขน่าจะหาทางแก้ไขปัญหานี้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ ขณะนี้กำลังมีระบบการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์อีกระบบหนึ่ง คือ การคัดเลือกนักศึกษาแพทย์ของวิทยาลัยเอกชน โดยทางวิทยาลัยเป็นผู้คัดเลือกเอง ผู้ที่จะมาสอบเข้าจะต้องรู้ว่าตัวเองจะต้องมีเงินสำหรับเสียค่าเล่าเรียน 1 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกในระหว่างเรียน คนจนที่รู้ตัวว่าไม่มีเงิน ก็ถูกคัดออกไปโดยปริยาย

ดังนั้นการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์ด้วยระบบนี้ จึงคำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ความรู้ความสามารถเป็นด้านรอง ที่อันตรายยิ่งกว่านั้น ก็คือ สอบไม่ผ่าน แต่อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว หรืออำนาจทางการเมืองและการเงิน ทำให้สามารถเข้าไปเป็นนักศึกษาแพทย์ได้ เรื่องนี้ผมทราบจากอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ 2 ท่าน นักศึกษาแพทย์ทั้งของไทยและลาวที่สำเร็จการศึกษาใหม่ๆ จะต้องออกไปชดใช้ทุนในชนบทเช่นเดียวกัน

นักศึกษาแพทย์ของลาว หากต้องการทำงานชดใช้ทุนในกรุงเวียงจันทน์ ก็ต้องทำงานถึง 5 ปี และหากไปทำงานในชนบทก็ใช้เวลาเพียง 2 ปี สำหรับนักศึกษาแพทย์ของไทยนั้น จะต้องออกไปอยู่ในภูมิภาคเท่านั้น ไม่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอ ก็ต้องปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลทั่วไประดับจังหวัด จะมียกเว้นบ้างก็เพียงส่วนน้อย สำหรับผู้ที่ประสงค์จะมาเรียนต่อเป็นแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทาง ก็อนุญาตให้มาเรียนเฉพาะสำหรับสาขาที่ขาดแคลนเท่านั้น เมื่อจบแล้วก็มักจะไปทำงานในภูมิภาค หรือเป็นอาจารย์แพทย์ในภาควิชาที่ขาดแคลน

หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตของลาวคล้ายคลึงกับของไทย คือใช้เวลา 6 ปี เรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 2 ปี ปรีคลินิก 2 ปี และคลินิก 2 ปี แล้วยังมีการฝึกปฏิบัติงานเป็นแพทย์ฝึกหัดอีก 1 ปี เป็น 7 ปี ซึ่งแต่เดิมของไทยก็ใช้เวลาทั้งสิ้น 7 ปี ตอนหลังได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเหลือ 6 ปี โดยลดการเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานเหลือ 1 ปี

แพทย์หญิงบุญยงค์เล่าว่า นักศึกษาแพทย์จะต้องออกไปฝึกงานในชนบท โดยเริ่มตั้งแต่ปีที่สอง โดยไปทำงานในระดับสถานีอนามัยตำบล เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ไปเรียนรู้สภาพปัญหาสาธารณสุขในชนบท เรียนรู้เรื่องวิธีการปฐมพยาบาลและการรักษาอย่างง่ายๆ พอขึ้นปีที่ 3 ก็ได้พบผู้ป่วยเรียนซักประวัติ ตรวจร่างกาย ปลายปีของทุกชั้นปีการศึกษาจะต้องส่งไปต่างจังหวัด ซึ่งระบบการศึกษาแพทยศาสตร์ของลาว สอดคล้องกับระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวคือ นักศึกษาแพทย์มีโอกาสไปเรียนรู้และฝึกปฏิบัติงานในสถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปแล้วจะทำให้เข้าใจสภาพปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างแท้จริง และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทางคณะแพทยศาสตร์ของลาวสามารถทำเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุที่คณะแพทยศาสตร์อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในระบบบริการฯด้วย ด้วยระบบกระบวนการเรียนการสอนเช่นนี้ ลาวก็คงผลิตแพทย์ได้เหมาะสมกับระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ และสอดคล้องกับการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศลาว จะได้มาตรฐานทางสากลหรือไม่ เรื่องนี้คงไม่ใช่เป็นเรื่องที่สำคัญนักสำหรับการศึกษาแพทยศาสตร์ของลาวในขณะนี้

จากการที่คณะของเราได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ ในระหว่างที่มีการสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีต่างๆ พบว่า ในการสอนกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) อาศัยการบรรยายเป็นส่วนใหญ่ นักศึกษาต้องอาศัยการจดคำบรรยาย และการวาดรูปของอาจารย์ โอกาสที่จะได้เรียนจากศพ (หรือที่เรียกว่า “อาจารย์”) นั้นแทบจะไม่มี ทราบว่าอาจารย์แพทย์จะทำการชำแหละศพให้ดูเป็นตัวอย่าง สำหรับนักศึกษาแพทย์ 130 คน โดยที่นักศึกษาแพทย์ไม่มีโอกาสได้ลงมือชำแหละเองเลย เพราะคนลาวไม่นิยมบริจาคศพให้ ซึ่งต่างจากคนไทยเรา ที่มีผู้อุทิศร่างกายให้ รวมทั้งศพที่ไม่มีญาติให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้

นักศึกษาแพทย์ไทยจึงได้มีโอกาสลงมือชำแหละเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ โดยมี “อาจารย์” (ศพ) 1 ต่อนักศึกษาแพทย์ 4 คน ในห้องปฏิบัติการอื่นๆ เช่น ห้องทดลองทางเคมี ก็พบว่า มีสภาพเก่า น้ำยาที่ค้างอยู่ในขวด ก็พอรู้ได้ว่าไม่ได้ใช้งานมานานแล้ว อาจเป็นเพราะสภาพบ้านเมืองที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของบ้านเมืองยังมีกลิ่นอายของสงครามหลงเหลืออยู่กระมัง สภาพความขาดแคลนสิ่งต่างๆ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา

นักศึกษาแพทย์ไทยซึ่งร่วมเดินทางไปด้วยจำนวน 10 คนจากทั้งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เห็นสภาพเช่นนี้แล้ว มีความรู้สึกอย่างไรไม่อาจทราบได้ แต่เท่าที่สังเกต ทุกคนสนุกสนานร่าเริง ร่วมสังสรรค์เสวนากับนักศึกษาแพทย์ลาวได้อย่างสนิทแน่นแฟ้นราวกับรู้จักกันมาหลายปี และอาจกล่าวได้ว่านักศึกษาแพทย์ไทยกลุ่มนี้เป็นผู้ที่เริ่มต้นสร้างบรรยากาศแห่งมิตรภาพไมตรีจิตให้เกิดขึ้นโดยแท้

ผมได้ทราบข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับนักศึกษาแพทย์ลาวจากนักศึกษาแพทย์ไทยหลายเรื่องด้วยกัน เช่น
นักศึกษาแพทย์ของลาวนั้นไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนใดๆ ทั้งสิ้น แถมยังได้เงินเดือนจากรัฐบาลอีกต่างหาก ได้เดือนละ 1,800 กีบ (100 กีบ = 6 บาท) ได้ข้าวเหนียวคนละ 15 กิโลกรัมต่อเดือน และค่าปึ้ม (คูปอง) สำหรับซื้อของอีก 1,500 กีบต่อเดือน นักศึกษาแพทย์ปี 6 มีการอยู่เวรเหมือนเรา แต่ได้ค่าอยู่เวรด้วยคืนละ 50 กีบ หรือประมาณ 3 บาท

นักศึกษาแพทย์ลาวอาศัยการจดคำบรรยายจากอาจารย์เป็นหัวใจสำคัญ ตำราแพทย์ที่มีก็เป็นภาษาลาวทั้งหมด (เข้าใจว่ามีไม่มาก) หากแปลไม่ได้ก็ใช้ทับศัพท์ไปเลย เรื่องหนังสือตำรับตำราภาษาไทยในวิชาทางการแพทย์ ในสมัยที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์มีไม่มากเช่นกัน ต้องอาศัยตำราต่างประเทศ มาบัดนี้ตำราแพทย์ภาษาไทยมีจำนวนหลายร้อยเล่ม เข้าใจว่าโครงการตำรา-ศิริราช จะเป็นจุดเริ่มต้นในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และบุคคลสำคัญที่ทุ่มเทเสียสละให้โครงการนี้เจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ คือ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ภูเก็ต วาจานนท์ ซึ่งในขณะนี้ท่านเกษียณแล้ว แต่ยังมาทำงานให้กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอยู่ อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของแพทยสภาด้วย

ปัจจุบันนี้ นักศึกษาแพทย์ไทยจึงไม่ต้องจดคำบรรยายของอาจารย์เช่นแต่ก่อน การไม่ต้องอาศัยการจดคำบรรยายจากอาจารย์ อาจเป็นเหตุให้มีการโดด (หนี) เรียนกันมากขึ้นหรือไม่ แต่สำหรับนักศึกษาแพทย์ลาวแล้ว ไม่มีการหนีเรียน พอถูกนักศึกษาแพทย์ไทยถามคำถามนี้ ก็ได้แต่เป็นงง อาจเป็นเพราะเขาคงอยู่ในระเบียบวินัยที่ดี เห็นการหนีเรียนเป็นเรื่องน่าละอาย หรือเป็นเพราะหากหนีเรียนก็อาจสอบตกเพราะตำรามีให้อ่านไม่มาก หรือหากหนีเรียนแล้วไม่รู้จะหลบไปเที่ยวที่ไหน เพราะไม่มีสยามสแคว์ ห้างสรรพสินค้า หรือโต๊ะสนุ้กเกอร์ให้เล่น ดังนั้น เรื่องนี้จึงสู้นักศึกษาแพทย์ไทยไม่ได้อย่างแน่นอน แม่นบ่

ข้อมูลสื่อ

126-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 126
ตุลาคม 2532
อื่น ๆ
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์