• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มรรควิถีของโยคะจากอดีตถึงปัจจุบัน

มรรควิถีของโยคะจากอดีตถึงปัจจุบัน


คอลัมน์โยคะ นิตยสารหมอชาวบ้าน ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เราได้พูดกันถึงเทคนิคท่าโยคะอาสนะ เทคนิคปราณยามะ ได้มีการพูดถึงการประยุกต์เทคนิคโยคะเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาโรค เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรับทราบกัน เราจะมาลองดูเรื่องราวของโยคะที่ละเอียดลงไปอีก บ้างยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือบ้างก็เป็นที่รับรู้จากศาสตร์สาขาอื่นๆ โดยหลายคนไม่รู้ว่ามันมีระบุอยู่ในตำราโยคะด้วย
ดังที่ทำความเข้าใจมาโดยตลอดว่าโยคะเป็นศาสตร์โบราณ ที่มีมากว่า 5,000 ปี ตำราเล่มแรกที่เรียบเรียงโยคะอย่างเป็นระบบคือ ปตัญชลีโยคะสูตร ซึ่งเกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 200 และตำราแม่บทเล่มนี้นี่เองที่ระบุว่า กระบวนการเข้าสู่เป้าหมายสูงสุดของโยคะ ไปสู่สภาวะแห่งโมกษะหรือความหลุดพ้น วางอยู่บนมรรควีถี 8 ประการ อันได้แก่ 1. ศีล 2. วินัย 3. ร่างกายที่สมดุล 4. ลมหายใจที่สงบ 5. การสำรวมอินทรีย์ 6. การเพ่งจ้อง 7. ฌาน และ 8. สภาวะจิตสูงสุด ซึ่งตำราใช้คำว่า สมาธิ
 
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้การฝึกโยคะมีรายละเอียดปลีกย่อย ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับร่างกาย ซึ่งได้มาจากตำราอีกเล่มหนึ่งคือ หฐปฏิปิกะรวบรวมโดยสวาทมารามาเขียนขึ้นในราว พ.ศ.1990ตำราเล่มนี้สืบมาจากการปฏิบัติโยคะตามแนว ทางหฐโยคะ ในแถบประเทศทิเบต มีจุดเด่นคือ ว่าด้วยเรื่องของการฝึกร่างกายไว้อย่างมากมาย หฐปฏิปิกะกำหนดมรรควิถีไว้เพียง 4 ประการ ได้แก่
1. อาสนะ 2. ปราณยามะ 3. มุทรา-พันธะ 4. นาดานุสันทนา โดยระบุว่าก่อนมรรคที่ 2 ปราณยามะ ต้องฝึก กริยา (การชำระล้าง) แต่ไม่ได้แยกกริยาไว้เป็นมรรคต่างหาก สำหรับนาดานุสันทนา คือ การเพ่งจ้องไปยังเสียงที่เกิดขึ้นจากภายในตนเอง ซึ่งจัดเป็นการฝึกสมาธิแบบ หนึ่งของวัฒนธรรมทิเบต

สิ่งสำคัญประการหนึ่ง ที่พวกเราผู้สนใจ โยคะต้องทำความเข้าใจก็คือ โยคะที่พวกเราฝึกปฏิบัตินี้ เป็น
" โยคะยุคใหม่ " กล่าวคือ เป็น การผสมผสานกันของโยคะหลายๆ สาย จากตำราหลายๆ เล่ม ซึ่งโยคะยุคใหม่นี้ เพิ่งจะเริ่มขึ้นจากช่วง พ.ศ.2465 ประมาณ 80 ปีที่ผ่านมานี่เอง
โยคะยุคใหม่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มโยคี ผู้ตระหนักถึงคุณค่าของศาสตร์โยคะโบราณ แต่ขณะเดียวกันก็เข้าใจถึงลักษณะของมนุษย์ในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างไปจากคนสมัยโบราณมาก เช่น ความแข็งแรงของร่างกายลดน้อยลง วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป วิธีคิดที่ตั้งอยู่บนวัตถุ ความเป็นรูปธรรม เป็นต้น ดังนั้น จึงได้ทำการปรับ ประยุกต์ ผสมผสาน เพื่อให้เหมาะสม สอดคล้องกับคนสมัยปัจจุบัน ทุกวันนี้ ดร.กาโรเต้ ที่ปรึกษาทางวิชาการของโครงการเผยแพร่โยคะฯ ได้จัดกลุ่มมรรควิถีของการฝึกโยคะ ให้สอดคล้องกับพวกเรา คนยุค ศตวรรษที่ 21 ซึ่งดูได้จากตารางข้างล่างนี้



ยิ่งศึกษาโยคะลึกลงมาก ก็ยิ่งตระหนักว่า มรรควิถีของโยคะ คือกระบวนการที่ค่อยๆ ขัดเกลาจิต ยกระดับจิตมนุษย์ขึ้นสู่ เป้าหมายสูงสุด จากตารางเราจะพบว่าในแต่ละยุคสมัย รายละเอียดอาจจะปรับเปลี่ยน แต่เป้าหมายยังคงเป็นหนึ่งเดียว
พวกเราคนไทย ประเทศที่มี " การฝึกจิต " เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ประเทศที่มี " นิพพาน " เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตอยู่แล้ว จะตระหนักว่า " วิถีแห่งโยคะ " สามารถนำไปใช้อย่างสอดคล้องกันกับวิถีชีวิตของเรา โดยลักษณะเด่นของโยคะที่เรานำมาใช้คือกลุ่มเรื่องทางกายภาพ อารมณ์ และเทคนิคเสริม ที่ได้เน้นมาตลอด และขอกล่าวไว้ในที่นี้อีกครั้งก็คือ โยคะไม่ใช่เรื่องของการ ฝึกกายแต่เพียงลำพัง ทั้งไม่ใช่ศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการฝึกกายไปเพื่อกาย ผู้ฝึกโยคะพึงตระหนักอยู่เสมอว่า พวกเราฝึกกายเป็นองค์ประกอบย่อยๆ อยู่ในองค์ประกอบใหญ่ ที่เป็นแก่นแท้ของโยคะ คือการบริหารจิต

ฉบับหน้าเป็นต้นไป เราจะเริ่มดูเทคนิค กริยา มุทรา-พันธะ ซึ่งเป็นเทคนิค โยคะที่คนยังไม่ค่อยรู้จักกัน

ข้อมูลสื่อ

306-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 306
ตุลาคม 2547
โยคะ