• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกหัก

กระดูกหัก


น้องชายของผมเอง อายุเวลานั้นสัก 9 ขวบเห็นจะได้ ตกม้าและแขนหักตรงข้อศอก มีอาการปวดบวม ขณะนั้นพวกเรายังอยู่ที่หมู่บ้านในชนบท บิดาไปเอาใบพลับพลึงมาลนไฟ และพันแขนน้องไว้ มีผู้รู้จักคุ้นเคยกันในหมู่บ้านเอายาเป็นผงมาให้ทาบ้าง น้ำมันมนต์มาทานวด ฯลฯ เท่าที่ผมจำได้ น้องชายผมก็ไม่ได้มีความเจ็บปวดอะไรมากนัก เช้าขึ้นมาก็เอาน้ำมนต์มาทา บิดาเอาใบพลับพลึงพันแขนแล้วก็เอาผ้าพันคอลูกเสือคล้องคอห้อยแขนไปโรงเรียนได้ ไม่ช้าก็หายดี เวลานี้ก็ผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว แขนหักที่หายนั้นไม่มีร่องรอยของความพิการเหลืออยู่อีกเลย

ในเด็กกระดูกหักติดง่ายกว่าในผู้ใหญ่ และเมื่อติดแล้ว แม้จะไม่ตรงทีเดียวในตอนเริ่มแรก แต่กระดูกเด็ก จะเจริญเติบโตและแก้ไขตัวมันเองได้ ข้อสำคัญคือการอยู่นิ่ง ให้ส่วนที่กระดูกหักได้พัก ไม่เคลื่อนที่อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อกระดูกติดดีแล้ว คือประมาณ 1-2 เดือน ก็เริ่มให้มีการเคลื่อนไว้ ตั้งแต่น้อยไปหามาก ยาผงก็ดี น้ำมันที่ใช้ทาก็ดี หรือใบพลับพลึงลนไฟก็ดี มีส่วนช่วยโดยตรงและโดยทางอ้อมในการให้กระดูกติดเร็วขึ้น



กระดูกหักมีหลายอย่าง


1. กระดูกร้าว
พวกนี้ก็เหมือนชามร้าว แก้วร้าว (รูปที่ 1) ผิดกันแต่ว่าพวกชามร้าว แก้วร้าวนั้นไม่มีวันจะกลับดีขึ้นมาได้ แต่กระดูกร้าวจะติดได้เองในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องรักษาอะไร เพียงแต่คอยระวังไม่ให้ไปกระแทกอะไรอีก เพราะกระดูกที่ร้าวอยู่แล้วถ้าถูกกระทบกระแทกจะหักได้ง่าย โดยทั่วไป กระดูกร้าวจะติดได้ดีภายในเวลา 1 เดือน เรารู้ว่ากระดูกร้าว โดยที่มีอาการบวม และเจ็บตรงตำแหน่งที่กระดูกร้าว แต่จะไม่มีกระดูกโก่ง งอให้เสียรูป เวลาเคลื่อนไหว อาจมีอาการเจ็บมากขึ้นบ้าง แต่ไม่มากนัก โดยมากกระดูกร้าว วินิจฉัยได้จากการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ แต่ไม่มีความจำเป็นเลย ซึ่งจะกล่าวถึงอีกทีหนึ่งในเรื่องเอ็กซเรย์


 


2. กระดูกหัก
แต่ยังติดอยู่ที่เดิม พวกนี้มีอาการมากกว่าพวกแรก เพราะแนวการหักเกิดตลอด แต่ว่าไม่เคลื่อนหลุดออกจากกัน (รูปที่ 2) อาการปวด บวม และเจ็บปวดขณะเคลื่อนไหวมีมาก พวกนี้ถ้าคลำดูจะไม่พบเสียงกรอบแกรบที่เกิดจากปลายกระดูกที่หัก กระทบกัน ไม่มีรอยโก่งของกระดูก และส่วนที่หักยังติดกันแน่นพอสมควร
การปฐมพยาบาล และการรักษาคล้ายคลึงกัน คือให้กระดูกอยู่กับที่ เช่น ถ้าเป็นที่ข้อศอกหรือต้นแขน อาจคล้องแขนเอาไว้ ถ้าเป็นที่กลางแขน หรือที่ขา ควรใส่เฝือกดามไว้
เฝือกอาจจะเป็นไม้บรรทัด ไม้กระดาน แขนงไม้ไผ่ สุดแต่จะหาได้ เพียงแต่ให้มีความแข็งแรง พอที่จะตรึงส่วนที่หักอยู่กับที่ และใส่ง่าย กระชับกับเนื้อ และไม่ก่อให้เกิดความรำคาญหรือความเจ็บปวดขณะใส่ ถ้ามาโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลนิยมใส่เฝือกปูนปลาสเตอร์ (รูปที่ 3) เพราะใส่ได้กระชับดี เบา และ ถ้าเรียนรู้วิธีใส่สักเล็กน้อยก็พอทำได้

 


ข้อเสียของการใส่เฝือกปูนก็มี โดยเฉพาะในประเทศไทย อากาศร้อน เหงื่อออกทำให้คันอยู่ภายใน เกาไม่ถึง นับเป็นความทุกข์ทรมานอย่างหนึ่ง ในรายที่ไม่ได้ทำความสะอาดผิวหนังก่อนใส่เฝือก หลาย ๆ วันเข้ามักมีกลิ่นเหม็น เป็นที่น่ารังเกียจ และในกรณีที่ใส่แน่น (พันแน่น) เกินไป หรือพันไว้พอดี แต่อวัยวะที่ใส่บวม ก็ทำให้คับปวด บางคราวถึงกับมีความพิการอย่างถาวร เกิดจากการใส่เฝือกก็มีตามปกติ สถานพยาบาลที่ดี เมื่อใส่เฝือกไปแล้ว ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ และให้กลับมาตรวจติดตามอาการ ถ้ากระทำให้ถูกวิธี การใส่เฝือกปูนจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไรเลย

 

 















 


3. กระดูกหักและเคลื่อนออกจากกัน

อาจหักแล้วปลายยังชนกัน แต่โก่ง หรือปลายที่หักหลุดออกจากกันเลย ในรายเช่นนี้บอกได้ไม่ยาก เพราะเพียงแต่ตาเห็นก็รู้แล้ว (รูปที่ 4)
ทำโดยผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาในการนี้โดยเฉพาะ การช่วยเหลือทำได้วิธีเดียว คือ การใส่เฝือกชั่วคราว โดยการเลือกใช้ ไม้ดาม หรือผ้าห่ม ผ้านวมห่อ (รูปที่ 5) อย่าพยายามดัดกระดูก เพราะการทำโดยไม่รู้อาจก่อให้เกิดโรคแทรก เช่น หลอดเลือดฉีกขาด เลือดออกมาก หรือปลายกระดูกหักไปกดประสาท ทำให้เป็นอัมพาต เป็นต้น



4. กระดูกหักและทิ่มทะลุออกมานอกเนื้อ
เป็นกระดูกหักที่รุนแรงที่สุด เพราะมีแผลร่วมด้วย ในกรณีที่เส้นประสาทยังอยู่ ผู้ได้รับบาดเจ็บจะมีความปวดมาก ควรค่อย ๆ ทำ โดยใช้ผ้าสะอาดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปิดแผล เพื่อกันไม่ให้สิ่งสกปรกเข้าไป ถ้ามีเลือดออกมาก และเลือดพุ่งออกมา ต้องห้ามเลือด โดยวิธีที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องการห้ามเลือด (ดู “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 5 ใน “การรักษาขั้นต้น" เรื่องบาดแผล ถ้าเป็นที่ปลายแขนปลายขา อาจใช้ผ้าพันเป็นก้อนเล็ก ๆ วางลงบนด้านในของแขนหรือขา ตรงตำแหน่งที่มีหลอดเลือดใหญ่ แล้วพันให้แน่น
 


เพื่อให้ผ้ากดทับและรัดหลอดเลือดให้ตีบ เลือดจะได้ไม่ออกอีก (รูปที่ 6)เสร็จแล้วใส่เฝือกชั่วคราว เช่นเดียวกับที่กล่าวในตอนต้น ควรทำด้วยความนุ่มนวล ถ้าทำได้ถ้าเลือดออกไม่มาก ยกแขนหรือขาให้สูง โดยใช้ของนุ่ม ๆ รอง ก็จะหยุดไหลเองได้เรียบร้อย การขนย้ายผู้บาดเจ็บทำได้สะดวกมาก และมีความเจ็บปวดน้อย ในกรณีเช่นนี้ควรส่งผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์ผู้รักษาโดยเร็วที่สุด


 

ข้อมูลสื่อ

14-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 14
มิถุนายน 2523
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์