• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความรู้สึก ที่ทุกคนควรจะได้สัมผัส

ความรู้สึก ที่ทุกคนควรจะได้สัมผัส

เมื่อถึงช่วงเวลาที่พระสงฆ์เข้าพรรษาคราใด ทำให้ข้าพเจ้าอดที่จะรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วมาไม่ได้ เป็น “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ซึ่งมีคุณค่า เป็นความรู้สึกที่ฝังใจ ควรแก่การจดจำและอยากจะให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นทุกขณะจิตที่มีลมหายใจเข้า-ออก

อันว่าพุทธศาสนิกชนที่เป็นชายไทยทั่วไป มักจะหาโอกาสสักครั้งหนึ่งเพื่อที่จะ “บวชเรียน” ในบวรพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้าก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น

ข้าพเจ้าได้ขออนุญาตทางราชการลาอุปสมบทเป็นเวลา 120 วัน เรียกว่า ลากันเต็มที่ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะว่า ข้าราชการบางรายขออนุญาตลาแค่ 110 วันหรือไม่ถึงก็มี

ขณะที่ข้าพเจ้าลาบวชนั้น ได้ศึกษาจบปริญญาตรีแล้ว มีญาติผู้ใหญ่บางคนบอกข้าพเจ้าว่า “เอ็งจบปริญญา เป็นบัณฑิตแล้ว ไม่ต้องบวชก็ได้” ข้าพเจ้าเพียงแต่ยิ้มๆ ไม่ได้ออกความเห็นในเรื่องนี้ เหตุผลของท่านก็คือ “ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมรู้ดี รู้ชั่ว และรู้ว่าการอันใดควรหรือไม่ควร” ก็เป็นเรื่องน่าคิด สำหรับข้าพเจ้ามีความคิดเห็นไปอีกอย่างหนึ่ง

เพื่อนฝูงของข้าพเจ้าบางรายพ่อแม่ขอร้องให้บวช (เพื่อท่านจะได้เกาะชายผ้าเหลือง) ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น มีความประสงค์จงใจที่จะบวชเองโดยที่ไม่มีใครเร่งเร้า จุดมุ่งหมายประการหนึ่ง คือ เพื่อความสุขความสบายใจของคุณพ่อและคุณแม่ อีกประการหนึ่ง ก็เพื่อหาโอกาสศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา และต้องการลิ้มลองชีวิตในบรรพชิตเพศสักครั้งหนึ่ง ทั้งโอกาสที่จะฝึกปฏิบัติธรรมน่าจะอำนวยให้ได้ดีกว่า และมีความคิดอยู่ว่า “บัณฑิตที่แท้ย่อมฝึกตน”

ข้าพเจ้าเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดหลวงแห่งหนึ่งในชนบทบ้านเกิด โดยตัดพิธีรีตองที่ไม่จำเป็นออก คือ บวชแบบง่ายๆ

วันที่บวชนั้น จำได้ว่าตื่นเต้นจนความหิวหายไป อาหารกลางวันจึงกินไม่ลง เข้าโบสถ์ทำพิธีในเวลาประมาณบ่ายโมง ตกกลางคืน “ฉัน” น้ำส้มเพียงขวดเดียว อยู่ได้โดยไม่มีอาการผิดปกติของอวัยวะภายในแต่อย่างใด

ชีวิตพระภิกษุบวชใหม่มักจะทำอะไรไม่ค่อยถูก กลัวความผิดพลาด ต้องคอยระมัดระวัง แม้แต่การห่มจีวร ใหม่ๆ ก็ออกจะรุ่มร่าม คอยแต่จะหลุดลุ่ยอยู่ร่ำไป กว่าจะ “เข้าที่” เล่นกันหลายวัน ออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้าน ตามถนนหนทาง ต้องมองทอดสายตาพอประมาณอย่างสำรวม จะพูดจา ร้องทักทายใครต่อใครที่รู้จักอย่างเคยก็ทำไม่ได้ เพราะเกรงจะผิดวินัยและไม่เหมาะสม

พระบวชใหม่ไม่น้อยจึงมองดูสำรวมน่าเลื่อมใสกว่าพระภิกษุที่บวชนานหลายพรรษาบางรูปบางองค์เสียอีก ก็คงเข้าทำนอง “แก่พรรษา” แล้วรู้จักหลบเลี่ยงวินัยได้กระมัง

การที่พระภิกษุลูกชาวบ้านมาบวชอยู่รวมกันในวัดหนึ่งๆ นั้น มาจากหลากหลายครอบครัว มีจริตนิสัยในหลายรูปแบบไม่ซ้ำกัน เรียกว่ายังเป็นปุถุชนที่มีรัก โลภ โกรธ หลง กันอยู่ทั่วไป

การทะเลาะวิวาทมีปากเสียงถึงขั้นชกต่อยทำร้ายกันก็มีให้เห็นเป็นข่าวกันบ้างในบางวัด ซึ่งก็ “เป็นเรื่องธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา” เพราะวิสัยหรือ ธรรมดาของผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุนั้นต้องมีความสำรวมและสงบกาย วาจา และใจ ต้องมีสติระมัดระวังให้สมกับที่เขาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สมณะ” (ผู้มีความสงบ)

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสฝึกหัดทำจิตให้สงบหรือสมาธิอยู่บ้าง แต่ข้าพเจ้าก็ยังเป็นพระภิกษุปุถุชนเช่นกัน วันหนึ่งเกิดมีเรื่องทะเลาะเป็นปากเสียงกับเพื่อนพระภิกษุบวชใหม่ซึ่งต่างฝ่ายก็โต้เถียงกันด้วยอำนาจของ “อัตตา” เพื่อให้ตัวเองชนะโทสะ-ความโกรธจึงเกิดขึ้น อารมณ์และจิตใจขุ่นมัวไม่เป็นปกติ

ในที่สุด ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจปลีกตัวจากหมู่ไปสงบใจใต้ต้นโพซึ่งล้อมรอบด้วยปูนโบก นั่งลงสำรวมจิตให้สงบโดยวิธีกำหนดลมหายใจเข้า-ออก (อานาปานสติ) เมื่อจิตสงบก็พิจารณาถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา นึกถึงความโกรธอันเป็นความเร่าร้อนทั้งกายและใจ หาความปกติไม่ได้เลย ผิดกับขณะนี้ (ใต้ต้นโพ) ซึ่งความโกรธเริ่มคลายลงแล้ว สติเริ่มกลับมา จึงระลึกถึงพุทธภาษิตที่ว่า “โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ” หรือ “ฆ่าความโกรธเสียได้ อยู่เป็นสุข” และเริ่มเห็นจริง จึงตั้งใจและรำพึงกับตัวเองว่า “ต่อไปเราจะไม่โกรธ จะเมตตา และให้อภัยแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรา” ข้าพเจ้าเริ่มคิดได้ว่า ที่เรามาทะเลาะโต้เถียงเพื่อเอาชนะกันนั้น ที่แท้แล้วเป็นความโง่หรือโมหะ-ความหลงผิดด้วยกันทั้งสองฝ่าย คิดได้ดังนี้แล้ว “ความเมตตา” และ “การอภัย” ซึ่งเป็นความเยือกเย็นเริ่มเข้าสู่จิต ขับไล่เอาความโกรธซึ่งเป็นความร้อนออกไป

หลังจากนั้นความรู้สึกชนิดหนึ่งเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกประหลาดที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน มันเป็นความรู้สึกอิ่มเอิบ เบิกบาน และเบาสบายภายในจิตชนิดบอกไม่ถูก รู้สึกเหมือนตัวลอยและมีรอยยิ้มอยู่ภายใน สมองว่างโล่ง ความคิดโปร่งใส ข้าพเจ้าหลับตาพิจารณาธรรมชาติของสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง และดื่มด่ำกับความรู้สึกเช่นนี้อยู่นาน กระทั่งมารู้ตัวเมื่อมีเสียงระฆังสัญญาณเตือนบอกเวลา 6 โมงเย็น แล้ว ข้าพเจ้าค่อยๆ ลุกขึ้นจากที่นั่งอย่างมีสติ เดินกลับกุฏิพักเพื่อเตรียมตัวทำวัตรสวดมนต์เย็นด้วยดวงจิตที่เบาสบาย อยากให้ตัวเองคงสภาพความรู้สึกเช่นนี้ตลอดไปเป็นนิรันดร์ และคิดว่า นี่คงจะเป็นอานิสงส์ของสมาธิและเมตตาเป็นแน่แท้

เหตุการณ์ที่เล่ามานั้นนับว่ามีค่าต่อข้าพเจ้าไม่น้อยทีเดียว เพราะเมื่อจะเกิดความโกรธครั้งใด หากระลึกถึงเรื่องนี้แล้ว ความโกรธจะค่อยๆ ระงับจนดับลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ข้อมูลสื่อ

126-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 126
ตุลาคม 2532
จำนง พันธ์ชื่น