• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พฤติกรรมการใช้ยา และการคุ้มครองผู้บริโภค

พฤติกรรมการใช้ยา และการคุ้มครองผู้บริโภค

สหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังประสบภาวะขาดดุลทางการค้ากับประเทศต่างๆ ได้พยายามใช้มาตรการหลายอย่างในการบีบบังคับประเทศน้อยใหญ่ให้ยินยอมปรับปรุงในเรื่องการค้าขายที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ทางการเงินแก่สหรัฐอเมริกามากขึ้น เช่น ให้ยอมให้บุหรี่สหรัฐอเมริกาเข้ามาขายในประเทศไทย และสิทธิบัตรยา

ในเรื่องสิทธิบัตรยา สหรัฐอเมริกาต้องการให้ไทยแก้กฎหมายที่จะยอมให้บริษัทยาของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นยาใหม่ ผูกขาดการขายยานั้นในประเทศไทยช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่ยอมให้บริษัทอื่นๆ ซึ่งผลิตยาตัวเดียวกัน มีสิทธิ์เข้ามาขายในประเทศไทย หรือจะใช้มาตรการทางการขึ้นทะเบียนยาเพื่อให้บังเกิดผลต่อการผูกขาดดังกล่าว

ผลของการผูกขาดยาใหม่จะทำให้ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องยามากขึ้น และมีผลกระทบต่อบริการการแพทย์ต่อคนจน จะไม่พูดถึงความถูกผิด หรือการเจรจาต่อรองในเรื่องนี้ของรัฐบาล แต่สิ่งที่อยากจะพูดถึง คือ ในสถานการณ์ที่บีบคั้นเราเช่นนี้ เราควรถือโอกาสปรับปรุงตัวเราเองในเรื่องของยาให้มีความถูกต้องยิ่งขึ้น เช่น นโยบายการขึ้นทะเบียนตำรับยา วิชาการ การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยา และการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับยา

เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ยา คนไทยนิยมการใช้ยาเกินความจำเป็น เพราะมีความเชื่อว่ายากับโรคเป็นของคู่กัน เป็นโรคก็ต้องใช้ยา เป็นหมอก็ต้องจ่ายยา ดังจะเห็นได้ว่า หมอจะคิดค่าตรวจไม่ได้ แต่คิดค่ายาได้ เหล่านี้ล้วนสะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับยา และพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้ยา ที่จริงโรคหายเพราะเหตุอื่นๆ นอกเหนือจากยาอีกมาก เช่น

1. หายเอง โรคจำนวนมากหายเองได้ ถ้าเข้าใจก็ไม่ต้องใช้ยา

2. หายเพราะพอใจผู้รักษา เช่น พูดเพราะ มีน้ำใจช่วยเหลือ

3. หายเพราะคิดว่าเป็นยา แต่ที่จริงเป็นยาหลอก หรือสิ่งที่ไม่ได้มีฤทธิ์โดยตรงต่อโรค เช่น รากไม้ น้ำมนต์ ยาต่างๆ ที่แพทย์ให้

4. หายเพราะการนวด

5. หายเพราะสมาธิและการมีจิตใจที่ดี

6. หายเพราะการสนับสนุนทางจิตใจ จากครอบครัว จากเพื่อนฝูง จากชุมชน จากกลุ่มอาสาสมัคร ดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนก่อน ความจริงข้อ 1 ถึงข้อ 6 มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

ในการรักษาโรคควรใช้ยาน้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น เพราะยามีพิษได้ และเป็นการเสียเศรษฐกิจ กระทรวงสาธารณสุขน่าจะให้การศึกษาประชาชนมากกว่านี้ เพราะประชาชนที่มีความรู้ย่อมมีพฤติกรรมที่เหมาะสม และคุ้มครองตนเองได้ระดับหนึ่ง แต่เรื่องยาเป็นเรื่องยากและสลับซับซ้อน รัฐบาลควรให้การสนับสนุนสมาคมคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีกำลังเข้มแข็ง มีความเชี่ยวชาญ ที่จะทำการรณรงค์ให้เกิดความถูกต้องในการบริโภคยายิ่งขึ้น 

ข้อมูลสื่อ

127-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 127
พฤศจิกายน 2532
ศ.นพ.ประเวศ วะสี