• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิทธิบัตรยา มาตรการชั่วคราวกับทางออกของประเทศไทย

สิทธิบัตรยา มาตรการชั่วคราวกับทางออกของประเทศไทย

กลุ่มองค์กรพัฒนาจับมือร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ออกโรงพิทักษ์ผลประโยชน์ของคนไทยในเรื่องสิทธิบัตรยา เสนอให้รัฐบาลนำเรื่องสิทธิบัตรยาเข้าพิจารณาในสภา และควรเร่งขยายการให้ความรู้แก่ประชาชนและเน้นที่การให้ความคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องยา นักศึกษาหลายสถาบันเคลื่อนไหวร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านมาตรการชั่วคราว เตือนรัฐบาลอย่าเอาการค้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ

โครงการศึกษาระบบทรัพย์สินทางปัญญา (คสญ) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน และกลุ่มศึกษาปัญหายา จัดประชุมระดมความคิดเรื่อง “มาตรการชั่วคราวกับทางออกของประเทศไทย” เพื่อการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนไทยเกี่ยวกับยา ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันอังคารที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติเสนอแนะพอสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ประชาชนไทยควรมีโอกาสได้ศึกษา วิพากษ์วิจารณ์ที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับเรื่องสิทธิบัตรยา โดยผ่านระบบรัฐสภามากกว่าการถูกบีบบังคับผ่านมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ

2. ในการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ ไทยควรคัดค้านการใช้มาตรา 301 และใช้การเจรจาแบบพหุภาคี

3. ควรมีการติดต่อสื่อสารกับประชาชนและองค์กรต่างๆ ในสหรัฐฯ ให้เข้าใจถึงผลกระทบของสิทธิบัตรยาและการผูกขาดยาต่อประชาชนไทยและสหรัฐอเมริกา

4. รัฐบาลควรเสนอให้องค์การอนามัยโลกเป็นผู้นำในการแสวงหาทางเลือกอื่นๆ ในการตอบแทนผู้คิดค้นและพัฒนายาใหม่ที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาสุขภาพของมนุษยชาติ

5. กระทรวงสาธารณสุขควรจะแยกเรื่องการขึ้นทะเบียนตำรับยาใหม่ออกจากการผูกขาดทางการค้าเพื่อต่อรองผลประโยชน์กับสหรัฐฯ

6. รัฐบาลควรเร่งขยายการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้ยา และพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านยาให้มีคุณภาพ เช่น การขึ้นทะเบียนยา การโฆษณายา เป็นต้น

7. ขอให้สื่อมวลชนร่วมกันสร้างความเข้าใจในสังคมไทยต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไข

ในโอกาสเดียวกันตัวแทนนักศึกษาจากสโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล (สมม.) และองค์การบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้ร่วมกันแถลงการณ์คัดค้านมาตรการชั่วคราว และเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสาธารณสุขอย่างจริงจัง รวมถึงการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะเรื่องยาอีกด้วย 

ข้อมูลสื่อ

127-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 127
พฤศจิกายน 2532
ข่าว