• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ท้องผูก

ท้องผูก

โดยปกติคนเราจะมีการขับถ่ายวันละครั้ง สองวันครั้ง หรือวันเว้นวัน ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นปกติ อาการท้องผูกที่เกิดขึ้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ท้องผูกเนื่องจากกินอาหารที่มีกากน้อยเกินไป และท้องผูกเนื่องจากภาวะจิตใจวิตกกังวล
 

  •  ท้องผูกจากสาเหตุกินอาหารที่มีกากน้อยไป

อาการ
อาการของท้องผูกแบบนี้ คือ จะไม่ถ่ายอุจจาระหลายวัน หรือถ่ายยาก อุจจาระมีลักษณะแห้งและแข็งเนื่องจากถูกเก็บอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน อาการท้องผูกที่เป็นรุนแรงจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และปวดท้องได้ แถมยังเป็นต้นเหตุให้ไม่อยากกินอาหาร ลิ้นเป็นฝ้าหนา หายใจมีกลิ่นเหม็น และปวดศีรษะ อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อสามารถขับถ่ายอุจจาระได้แล้ว

สาเหตุ
เนื่องจากการกินอาหารที่มีกากน้อยเกินไป (อาหารที่ให้กาก ได้แก่ ผัก และผลไม้) ทำให้อาหารส่วนมากถูกย่อยที่กระเพาะอาหารและถูกย่อยครั้งสุดท้ายที่บริเวณลำไส้เล็ก ส่วนที่เหลือจากการย่อยแล้วจะไปเก็บไว้ที่ลำไส้ใหญ่ กากอาหารเหล่านี้จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่ทำงานขับเคลื่อนเอาสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในลำไส้ใหญ่ออกสู่ทวารหนัก

มีอาหารและยาหลายชนิดที่มีผลให้เกิดอาการท้องผูก นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุมาจากการขาดการออกกำลังกาย และนิสัยการขับถ่ายที่ไม่ดี (เช่น ไม่ฝึกให้เป็นเวลา รีบเร่งจนเกินไป) ดังนั้น จึงควรฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่รีบเร่งจนเกินไป และพยายามกินผักและผลไม้ให้มากๆ (ถ้าเป็นส้มไม่ควรคั้นเพราะจะไม่มีกาก) ผักและผลไม้ควรจะมีทุกมื้อ

สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดท้องผูก ได้แก่ เนื้องอกที่ลำไส้ซึ่งจะพบได้ในวัยสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ในผู้สูงอายุถ้ามีปัญหาเรื่องท้องผูก หรือมีท้องเสียสลับกับท้องผูก ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียด เพราะอาจจะไม่ใช่อาการท้องผูกธรรมดาๆ ก็ได้

ตำแหน่งที่กดจุด

จุดที่ร่างกาย

1. จุดเหอกู่

ตำแหน่ง : อยู่บริเวณหลังมือตรงแอ่งระหว่างโคนนิ้วหัวแม่มือและโคนนิ้วชี้ (อยู่ใต้โคนนิ้วหัวแม่มือประมาณ ½ นิ้วมือ และใต้โคนนิ้วชี้ประมาณ 2 นิ้วมือ)

วิธีนวด : นวดเข้าหาข้อมือ

2. จุดชีฉือ

ตำแหน่ง : เมื่องอข้อศอก จุดนี้จะอยู่ตรงปลายมุมด้านนอกของข้อศอก

วิธีนวด : นวดขึ้นบน

3. จุดโส่วซานหลี่

ตำแหน่ง : เมื่องอข้อศอก จุดจะอยู่ด้านหน้าต่ำกว่าข้อพับแขนประมาณ 3-4 นิ้วมือ (อยู่บนแนวเส้นตรงที่ลากระหว่างจุดที่ 1 และ 2)

วิธีนวด : นวดเข้าหาจุดที่ 2

4. จุดส้างจี้ซี

ตำแหน่ง : อยู่ต่ำกว่ากึ่งกลางของหัวเข่าประมาณ 8 นิ้วมือ และห่างจากสันหน้าแข้งออกไปทางด้านข้างประมาณ 2 นิ้วมือ

วิธีนวด : นวดลงล่าง

 

5. จุดต้าฉางหยู

ตำแหน่ง : อยู่บริเวณกระดูกบั้นเอวอันที่ 4 ห่างออกไปทางด้านข้างประมาณ 2-3 นิ้วมือ

วิธีนวด : นวดลงล่าง

 

 จุดที่ใบหู

  • หูขวา

ตำแหน่ง : จุดจะอยู่บริเวณด้านหลังใบหูส่วนบน จะเห็นเป็นแอ่งตื้นๆ จุดนี้จะกระตุ้นการทำงานของลำไส้เล็ก

วิธีนวด : นวดขึ้นบน

  • หูซ้าย

ตำแหน่ง : จุดจะอยู่บริเวณเดียวกับหูขวา จะกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่

วิธีนวด : นวดขึ้นบน

การรักษา
กดจุดที่ร่างกายสลับวันกับการกดจุดที่ใบหู กดจุดวันละ 1-3 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที ขึ้นกับความรุนแรง และควรจะกินอาหารที่มีกากมากๆ และพยายามฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา สำหรับท่านที่เคยใช้ยาระบายหรือยาถ่ายอุจจาระก็จะสามารถขับถ่ายได้เองตามปกติโดยไม่ต้องใช้ยาอีกต่อไป
 

  •  ท้องผูกที่เกิดจากสาเหตุคิดมาก วิตกกังวล

อาการ
อาการท้องผูกจากสาเหตุนี้จะพบว่า ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ ท้องอืดคล้ายอาหารไม่ย่อย จุกเสียด แน่นท้อง อุจจาระที่ออกมาจะเป็นก้อนเล็กๆ เหมือนขี้แพะ และถ่ายออกมาเพียงเล็กน้อย

สาเหตุ
เกิดจากการคิดมาก วิตกกังวล ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้ระบบการย่อยอาหาร คือ กระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานไม่ปกติ อาการท้องผูกนี้ก็มักจะเกิดในผู้ป่วยด้วยโรคทางกายและใจด้วย ดังนั้น เมื่อเกิดอาการท้องผูกจากสาเหตุดังกล่าวหรือไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ ควรจะไปปรึกษาแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของโรค ก่อนที่จะทำการกดจุด

ตำแหน่งที่กดจุด

จุดที่ร่างกาย

1. จุดเหอกู่

ตำแหน่ง : อยู่บริเวณหลังมือตรงแอ่งระหว่างโคนนิ้วหัวแม่มือ และโคนนิ้วชี้ (อยู่ใต้โคนหัวแม่มือประมาณ ½ นิ้วมือ และใต้โคนนิ้วชี้ประมาณ 2 นิ้วมือ)

วิธีนวด : นวดเข้าหาข้อศอก

2. จุดโห้วซี

ตำแหน่ง : จุดอยู่ที่แอ่งเล็กๆ ด้านข้างของมือ อยู่ต่ำกว่าข้อต่อของโคนนิ้วก้อยพอดี

วิธีนวด : นวดเข้าหาข้อศอก

3. จุดสิงเจียน

ตำแหน่ง : อยู่ในง่ามเท้าระหว่างนิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วเท้านิ้วที่ 2

วิธีนวด : นวดเข้าหาข้อเท้า

4. จุดไท่ชง

ตำแหน่ง : อยู่เหนือจุดที่ 3 ประมาณ 2-3 นิ้วมือ

วิธีนวด : นวดจุดที่ 3,4 พร้อมกัน นวดเข้าหาข้อเท้า

5. จุดจู๋ซานหลี่

ตำแหน่ง : เมื่อวางฝ่ามือของผู้กดจุดลงบนหัวเข่า กางนิ้วออกเล็กน้อย จุดจะอยู่ที่ปลายนิ้วนาง

วิธีนวด : นวดลงล่าง

จุดที่ใบหู

  • หูขวา

1. จุดคลายเครียด ลดความวิตกกังวล

ตำแหน่ง : อยู่ที่หน้าหู เชื่อมระหว่างใบหูและศีรษะ มี 2 จุด คือที่หน้าหูส่วนบน และหน้าหูส่วนล่าง

วิธีนวด : นวดขึ้นบน

2. จุดคลายเครียด ลดความวิตกกังวล

ตำแหน่ง : อยู่ที่สันกลางหู ส่วนที่โผล่มาจากแอ่งหู

วิธีนวด : นวดลงล่าง

  • หูซ้าย

นวดลงทุกจุด

การรักษา
กดจุดที่ใบหู และร่างกายสลับวันกัน นวดนานครั้งละ 10 นาที ถ้าจะให้ดีควรจะนวดประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนที่จะเข้าไปถ่ายอุจจาระ จะช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ถ้าอยู่ระหว่างที่แพทย์สั่งให้กินยาเพื่อคลายเครียด เมื่อกดจุดแล้วอาการจะดีขึ้น ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะลดยาหรือหยุดยาเมื่อหมดปัญหาเรื่องท้องผูกแล้ว

การเคลื่อนไหวนิ้วมือในการกดจุด (ทิศทางการนวด)
จุดแต่ละจุดจะมีทิศทางการกดหรือนวดที่แน่นอน ไปตามแนวของเส้นพลังงาน หากนวดผิดทิศทาง จะทำให้การกดจุดไม่ได้ผล

นิ้วที่ใช้ในการกดจุด
ส่วนมากนิยมใช้ปลายนิ้วโป้งหรือนิ้วชี้ (ต้องตัดเล็บสั้น) และควรให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับผิวหนัง โดยให้ปลายนิ้วถูไปกับผิวหนังเป็นระยะไกลประมาณ 1 นิ้วก็พอ ปกติจะนวดประมาณ 30 ครั้งต่อ 10 นาที ส่วนการนวดจุดที่หู พบว่าบริเวณนั้นเป็นส่วนแคบ คุณสามารถใช้ปลายนิ้วก้อย ปลายดินสอหรือปากกาที่มีปลายมนๆ นวดที่ใบหูได้

การกดจุดบนร่างกาย หรือใบหู ควรจะนวดให้แรงพอที่จะสามารถกระตุ้นจุดนั้นได้ แต่ไม่ควรจะแรงจนเกินไปจนทำให้บริเวณนั้นแดง หรือเขียวช้ำ เมื่อนวดเสร็จแล้วผิวหนังที่นวดจะแดง แต่ไม่มีอันตรายใดๆ

วิธีและระยะเวลาในการกดจุด
จำนวนครั้งในการกดจุด ควรจะเหมือนกันทุกราย อาจจะมีแตกต่างกันบ้างขึ้นกับอาการ และอายุของผู้ป่วย แต่ก็สามารถทำการกดจุดไปได้เรื่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น จึงได้กำหนดเวลาในการนวดจุด ไว้เป็นหลัก ดังนี้

  • เด็กอายุ 0-3 เดือน ใช้เวลากดจุด ½-3 นาที
  • เด็กอายุ 3-6 เดือน ใช้เวลากดจุด 1-4 นาที
  • เด็กอายุ 6-12 เดือน ใช้เวลากดจุด 1-5 นาที
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ใช้เวลากดจุด 3-7 นาที
  • เด็กโตตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ใช้เวลากดจุด 5-10 นาที
  • ผู้ใหญ่ ใช้เวลากดจุด 5-10-15 นาที

โดยทั่วๆ ไป การกดจุดจะกดที่ใบหู สลับวันกับกดจุดบนร่างกาย การกดจุดบนร่างกายควรจะทำทั้งสองข้างของลำตัว ซึ่งเราถือว่า เส้นที่ลากจากกึ่งกลางหน้าผากผ่านจมูกลงมายังสะดือถือเป็นเส้นแบ่งครึ่งร่างกายส่วนหน้า ส่วนด้านหลังจะลากจากกึ่งกลางของหน้าผากผ่านกึ่งกลางของศีรษะลงมาตามแนวกระดูกสันหลัง ถือว่าเป็นเส้นกึ่งกลางของร่างกาย ฉะนั้นเวลากดจุด จุดที่อยู่บนแนวเส้นกึ่งกลางของร่างกายจะมีเพียงตำแหน่งเดียว นอกนั้นจะมี 2 จุดคู่กันเสมอ การนวดจุดก็ควรจะนวดทั้ง 2 จุดที่มีคู่กัน เช่น จุดที่แขนก็จะมีทั้งแขนซ้ายและแขนขวาเช่นเดียวกัน ดังนั้นท่านไม่ควรจะลืมหลักการข้อนี้ เพราะถ้านวดเพียงตำแหน่งเดียวจะทำให้การนวดไม่ได้ผล

สำหรับท่านที่ถนัดซ้าย ไม่ควรจะกดจุดที่ใบหู เพราะสมองสั่งงานจะอยู่ตรงข้ามกับคนที่ถนัดขวา จะทำให้การนวดจุดที่ใบหูไม่ได้ผล ควรจะนวดจุดเฉพาะจุดที่อยู่บนร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น 

ข้อมูลสื่อ

127-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 127
พฤศจิกายน 2532
อื่น ๆ
ลลิตา อาชานานุภาพ