การเตรียมพร้อมในสงครามต้านเอดส์
ในระยะนี้ใครๆ ก็พูดถึงการต่อสู้และการทำสงครามกับโรคเอดส์กัน ทั้งนี้คงเนื่องมาจากโรคนี้เป็นโรคแห่งความตายที่ยังไม่มียารักษาและมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะที่ผ่านมา ไหนๆ ก็ต้องต่อสู้หรือทำสงครามกับโรคเอดส์แล้ว ก็หวังที่จะได้ชัยชนะ และการจะได้มาซึ่งชัยชนะ ก็คงต้องมีการเตรียมพร้อมที่ดี จึงขอถือโอกาสนี้เสนอการเตรียมพร้อมที่จำเป็น 5 ประการด้วยกัน คือ
1. การเตรียมพร้อมทางด้านจิตใจ ประเด็นนี้สำคัญมากที่สุดในการต่อสู้หรือทำสงครามใดๆ สำหรับการทำสงครามกับโรคเอดส์นั้น อย่างน้อยต้องมีการเตรียมพร้อมทางด้านจิตใจอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ
ประการแรก สงครามต่อสู้กับโรคเอดส์เป็น ‘สงครามยืดเยื้อ’ เนื่องจากโรคเอดส์เป็นโรคที่ทางการแพทย์ในปัจจุบันยังมองไม่เห็นว่าจะหายามารักษา หรือผลิตวัคซีนมาป้องกันได้ภายใน 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น จึงจะต้องเตรียมจิตใจที่จะต่อสู้อย่างยาวนานและยืดเยื้อ ไม่ใช่คาดหวังชัยชนะเบ็ดเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว
ประการที่สอง การเตรียมจิตใจที่จะไม่ท้อแท้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า หากพบว่าผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีความพยายามหลายๆประการในการต่อสู้แล้วก็ตาม เหตุผลเนื่องจากว่า ตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ เช่น ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2531 เท่ากับ 3,109 คนในจำนวนนี้มีผู้ที่เป็นโรคเอดส์ 10 คน ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2532 จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 9,027 คน ในจำนวนนี้เป็นโรคเอดส์ 23 คน
จากตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เป็นโรคเอดส์ที่เพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ บางคนอาจจะเข้าใจว่าการเพิ่มในระยะที่ผ่านมาเป็นไปโดยรวดเร็วมาก หากมีการควบคุมและป้องกันโรคที่ดีแล้ว การเพิ่มในระยะอันใกล้นี้คงจะไม่เป็นไปอย่างรวดเร็วดังเช่นในระยะเวลาที่ผ่านมา
แท้ที่จริงแล้ว แม้ว่าการป้องกันและควบคุมที่ถูกต้องจะลดอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ติดเชื้อและผู้เป็นโรคได้จริงก็ตาม แต่ในขณะปัจจุบัน ด้วยข้อมูลทางระบาดวิทยาที่ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างในกลุ่มต่างๆ ประมาณกันว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวน 9,027 คน ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นจำนวนที่น้อยเกินไป เนื่องจากเป็นเพียงจำนวนที่ตรวจพบจากผู้ที่ได้รับการตรวจเลือดในระยะเวลาที่ผ่านมาเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อในปัจจุบันน่าจะไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 คน เพียงแต่เรายังไม่สามารถค้นพบได้ทั้งหมดในปัจจุบัน เนื่องจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ยังไม่ได้มาขอรับการตรวจอย่างกว้างขวางในขอบข่ายทั่วประเทศ
ด้วยความตื่นตัวของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีการตรวจเลือดมากขึ้น เราจะพบว่า การตรวจเลือดยิ่งมากจะยิ่งพบมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ดังนั้น แนวโน้มปลายปี พ.ศ.2532 หรือต้นปี พ.ศ.2533 จะต้องพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น และในอัตราที่รวดเร็วอย่างแน่นอน จนเมื่อผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ถูกค้นพบแล้ว การเพิ่มของผู้ติดเชื้อจึงจะช้าลง ดังนั้น หากการต่อสู้ในเวลาต่อจากนี้ไปหนึ่งหรือสองปี จะพบมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ก็ต้องเตรียมใจที่จะมองอย่างไม่ท้อถอยว่า เรากำลังจะแพ้สงครามมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแท้ที่จริงแล้ว การเพิ่มของผู้ติดเชื้อเกิดจากการขยายขอบเขตของการต่อสู้ได้กว้างขวางขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
2. การเตรียมพร้อมทางด้านการปลุกระดมประชาชน เนื่องจากโรคเอดส์ไม่สามารถรักษาด้วยยา และไม่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนดังกล่าว ดังนั้น มาตรการหลักในการต่อสู้ก็คือการปลุกระดมให้ประชาชนตื่นตัว มีการรับรู้และสามารถป้องกันตนเองได้ น่ายินดีที่ปัจจุบันได้เริ่มมีการทำในด้านนี้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม การเตรียมพร้อมทางด้านนี้จะสมบูรณ์ได้จะต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างน้อย 2 ประการด้วยกัน คือ
ประการแรก การปลุกระดมจะต้องไปให้ถึงหมู่ผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ยากจน และขาดการศึกษา ข้อมูลจากการสำรวจทางระบาดวิทยาพบว่า การติดเชื้อในหมู่โสเภณีเปิดเผย ซึ่งค่อนข้างจะมีฐานะยากจนและขาดการศึกษาพบว่า อยู่ในอัตราร้อยละ 2.8 และเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการรณรงค์อย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ ประมาณกันว่าจนถึงสิ้นปี พ.ศ.2532 อัตราการติดเชื้อในโสเภณีเหล่านี้อาจจะสูงขึ้นถึงร้อยละ 8-9 ในขณะที่การติดเชื้อในกลุ่มโสเภณีแอบแฝงซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า และได้รับการศึกษาในระดับที่สูงกว่า จะมีอัตราการติดเชื้ออยู่ในระดับร้อยละ 1 และเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่ามาก คาดว่าจะเป็นร้อยละ 1.5 เมื่อสิ้นปี พ.ศ.2532
นอกจากนั้น ผู้ติดเชื้อเอดส์ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจนและด้อยการศึกษา ดังนั้นการจะควบคุมและป้องกันโรคให้ได้ผล การปลุกระดมจะต้องสามารถไปถึงบุคคลเหล่านี้ให้ได้ ในอดีตที่ผ่านมา การให้การศึกษาโดยสื่อมวลชนใดๆก็ตาม ประสบการณ์มักจะชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่า ข้อมูลข่าวสารต่างๆ มักจะไปถึงผู้ที่ได้รับการศึกษามากกว่า ดังนั้น การปลุกระดมในกรณีนี้อาจจะต้องเตรียมพร้อมในวิธีการพิเศษที่จะไปให้ถึงกลุ่มบุคคลที่ยากจนและด้อยการศึกษา จึงจะเป็นการปลุกระดมที่ได้ผล
ประการที่สอง การเตรียมพร้อมที่จะให้การปลุกระดมมีพัฒนาการไปถึงขั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนให้ได้ พฤติกรรมการเสี่ยงต่อโรคเอดส์ มีความคล้ายคลึงกับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ในแง่ที่ว่า ประชาชนบางคนแม้ได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านการสื่อสารด้วยวิธีต่างๆ แล้ว แต่ก็ยังมีพฤติกรรมดังเดิม โดยแม้ทราบว่าอาจจะเป็นโรคปอดจากการสูบบุหรี่ได้ ก็ยังสูบบุหรี่ต่อไป แม้ทราบว่าการเที่ยวสำส่อนอาจจะนำมาซึ่งโอกาสของการติดเชื้อโรคเอดส์ได้ ก็ยังปฏิบัติต่อไปดังเดิม
ดังนั้น การเตรียมพร้อมสำหรับการปลุกระดมนี้จะต้องไม่เพียงคาดหวังว่าสามารถเผยแพร่ข่าวสารไปถึงผู้รับให้ได้เท่านั้น แต่ยังต้องสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้คล้อยตามในสิ่งที่ถูกต้องด้วย ดังนั้นเทคนิควิธีการต้องมีการเตรียมพร้อมที่จะให้มีการพัฒนาเพื่อให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง
3. การเตรียมพร้อมทางด้านความอบอุ่นสำหรับผู้ได้รับเชื้อ ผู้รับเชื้ออาจจะเปรียบเสมือนผู้บาดเจ็บในสงคราม ดังนั้น การเตรียมความอบอุ่นในที่นี้ จะต้องเน้นไปที่ครอบครัวเป็นอันดับแรก และต่อมาในชุมชน โดยไม่คาดหวังว่าผู้ได้รับเชื้อจะสามารถแสวงหาความอบอุ่นได้จากที่เดียว คือ โรงพยาบาล หรือสถานพักฟื้นที่จัดเตรียมให้ไว้แล้วโดยเฉพาะเท่านั้น ทั้งนี้เพราะหากประมาณการขององค์การอนามัยโลกเป็นจริง ประเทศไทยอาจจะมีผู้ติดเชื้อเอดส์เป็นจำนวนถึงห้าแสนคนในปี พ.ศ.2535 ถ้าการเตรียมความอบอุ่นเน้นไปสู่ที่โรงพยาบาล หรือสถานพักฟื้นเฉพาะแล้วละก็ ในอนาคตเราจะไม่มีโรงพยาบาลหรือสถานพักฟื้นที่เพียงพอต่อผู้ติดเชื้อโรคนี้อย่างแน่นอน
นอกจากนั้นแล้ว ในประเด็นของจิตใจ ความอบอุ่นที่ได้จากโรงพยาบาลหรือสถานพักฟื้นเฉพาะ ก็คงจะไม่สามารถเทียบเท่าได้กับจากครอบครัวหรือชุมชน ดังนั้น จึงควรหันมาเน้นการให้ความอบอุ่นที่ครอบครัวและชุมชนมากกว่า ในที่นี้จะต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างน้อย 2 ประการด้วยกัน คือ
ประการแรก การขยายการรับรู้ที่ถูกต้องที่สุด จะสามารถลดความตื่นกลัวของประชาชน ญาติพี่น้องของผู้ติดเชื้อให้ทราบว่า การติดเชื้อโรคเอดส์นั้น มิได้เป็นไปได้โดยง่ายๆ และทุกๆ คนสามารถอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์ได้หากมีความรู้ในเรื่องการติดต่อทางโรคนี้อย่างเพียงพอ ประสบการณ์ในหลายๆ ประเทศได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อพบผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ติดเชื้อมากขึ้นเท่าใด ความรังเกียจและตื่นกลัวอย่างผิดๆ ของประชาชนต่อโรคนี้จะยิ่งลดลงเท่านั้น
ประการที่สอง การเตรียมพร้อมในวิธีการบางประการที่จะคุ้มครองผู้ติดเชื้อและประชาชนทั่วไป เช่น การมีมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองมิให้ผู้ติดเชื้อต้องถูกออกจากงานที่ไม่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น การเก็บความลับของผู้ติดเชื้อ การป้องกันประชาชนจากการแพร่เชื้อโดยเจตนาจากผู้ติดเชื้อ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อทำให้ประชาชนที่ต้องการตรวจเลือดเกิดความอบอุ่นและมั่นใจในการร่วมมือควบคุมและป้องกันโรคนี้ และไม่ประชดชีวิตหรือฆ่าตัวตายเมื่อตรวจพบการติดเชื้อของตนเอง
4. การเตรียมพร้อมทางด้านทรัพยากร การรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนกระทั่งเสียชีวิตโดยเฉลี่ยแล้วประมาณกันว่า ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อคน จากข้อมูลทางระบาดวิทยา ประมาณกันว่าในปี พ.ศ.2535 จะมีผู้ป่วยโรคเอดส์อย่างน้อยรวมกันประมาณ 5,000 คน หากทุกคนได้รับการรักษาตั้งแต่ต้นจะสิ้นเปลืองงบประมาณไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท หรือเท่ากับประมาณหนึ่งในสามของงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมดซึ่งใช้ต่อสู้กับโรคทุกๆ โรคในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายในการต่อสู้กับโรคเอดส์อื่นๆ อันได้แก่ ค่าตรวจเลือดในหมู่ประชาชน ค่าใช้จ่ายในการระดมให้สุขศึกษา เป็นต้น ซึ่งคงจะทำให้งบประมาณที่ใช้จ่ายต้องมากขึ้นไปอีก ดังนั้น การเตรียมพร้อมในที่นี้จะต้องมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า โดยอย่างน้อยจะต้องเตรียมพร้อม 2 ประการด้วยกัน คือ
ประการแรก การเตรียมพร้อมในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โรคเอดส์แม้จะมีความร้ายแรงและติดต่อได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับโรคบางโรคที่มีความสำคัญในปัจจุบัน เช่น โรคหัวใจ โรควัณโรคแล้ว ยังนับว่าโรคเอดส์เป็นปัญหาที่รุนแรงน้อยกว่า ดังนั้น การจัดสรรการใช้จ่ายให้ควบคุมโรคต่างๆ ในอัตราส่วนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมการตั้งแต่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้งบประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยกระทบต่อการควบคุมและรักษาโรคอื่นๆ ในอนาคต
ประการที่สอง การเตรียมทรัพยากรเพิ่มเติม ในประเด็นนี้คงต้องมีการเตรียมการแต่เนิ่นๆ เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะขยายมากขึ้นในอนาคต โดยทั้งนี้น่าจะรวมถึงการเตรียมระดมทรัพยากรจากประชาชนหรือหน่วยงานภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการในเรื่องนี้ให้มากขึ้น
5. การเตรียมพร้อมทางด้านปัจจัยแวดล้อม ปัญหาโรคเอดส์เป็นรูปธรรมอันหนึ่งที่ชัดเจนของปัญหาปลายเหตุอันเป็นผลพวงของสภาพปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโสเภณีก็ดี ปัญหาการติดยาเสพติดก็ดี ล้วนแต่เป็นปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อนและยากแก่การแก้ไข และเมื่อแก้ไขให้ดีขึ้นไม่ได้ ก็จะทำให้ปัญหาปลายเหตุ เช่น โรคเอดส์ขยายลุกลามไปเพิ่มมากขึ้น อาจจะเปรียบเทียบได้กับปัญหาคอมมิวนิสต์ในอดีตซึ่งมีรากเหง้าของปัญหามาจากปัญหาสังคม การเตรียมทางด้านปัจจัยแวดล้อมหรือการพัฒนาสังคมทั้งระบบให้ดีขึ้น จึงเป็นหนทางอันหนึ่งในการต่อสู้กับโรคเอดส์ที่ถูกละเลยไป ดังนั้น การเตรียมพร้อมทางด้านนี้จะต้องถูกทำให้สนใจในทุกฝ่าย เพื่อการต่อสู้สงครามกับโรคเอดส์จะได้ชัยชนะอย่างแท้จริง
ในการต่อสู้ที่ผ่านมา แม้หน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุขหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐฯ และเอกชน จะได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะต่อสู้ด้วยวิธีการต่างๆ แต่ปัญหาโรคเอดส์ก็ยังเป็นปัญหาที่ซับซ้อนเกินกว่ามาตรการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแต่เพียงด้านเดียวจะสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ รัฐบาลไม่ควรจะมองปัญหาโรคเอดส์เป็นเพียงปัญหาสาธารณสุขปัญหาหนึ่ง แต่ควรมองว่าเป็นปัญหาสังคมที่ต้องการการเยียวยาจากทุกๆ ฝ่าย โดยมีรัฐบาลเป็นแกนนำ มิเช่นนั้นแล้ว ชัยชนะที่เราคาดหวังว่าจะได้ในการทำสงครามกับโรคเอดส์ในครั้งนี้ อาจจะไม่เป็นจริงในอนาคตก็ได้
- อ่าน 3,050 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้