• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภัยพิบัติ

ภัยพิบัติ

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2531 เกิดอุทกภัยในภาคใต้ และเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2532 เกิดวาตภัย ในจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ ทั้งสองครั้งได้เกิดวิบัติแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมาก ต้นไม้น้อยใหญ่ถูกถอนรากถอนโคน เสียหายย่อยยับ เป็นที่รับรู้กันทั่วไป

ที่จริงมีภัยพิบัติในประเทศไทยที่ยิ่งใหญ่กว่าอุทกภัยและวาตภัยสองครั้งนี้มากนัก เพราะกระทบชีวิตของผู้คนเกือบทั้งประเทศ ทำลายป่าอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และถอนรากถอนโคนผู้คนออกจากรากฐานเดิมของตระกูล จากรากฐานเดิมทางชุมชน จากรากฐานเดิมทางวัฒนธรรม และจากรากฐานเดิมทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ภัยพิบัตินี้อาจเรียกว่า พัฒนภัย หรือภัยที่เกิดจากการพัฒนาที่มุ่งสร้างความร่ำรวยให้คนกลุ่มน้อย โดยสร้างความยากจน และความลำบากยากแค้นให้คนส่วนใหญ่ สร้างความล้มละลายให้ชนบท ส่งให้คนอพยพเข้าเมืองมาเป็นคนจนในเมือง มีการทำลายป่า ทำลายต้นน้ำลำธาร สร้างมลภาวะให้อากาศ น้ำ ดิน และอาหาร

เราไม่ได้คัดค้านการพัฒนา แต่ควรเป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงความสมดุลของสรรพสิ่ง มิใช่การพัฒนาอย่างมักง่าย หรืออย่างตะกละตะกลามที่ก่อให้เกิดการทำลายมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการพัฒนาอย่างที่ทำกัน มิได้หมายถึงความเจริญเสมอไป แต่หมายถึงการทำลายก็ได้ และอาจทำให้เกิดพัฒนภัย ที่เป็นภัยพิบัติที่ยิ่งใหญ่กว่าอุทกภัยและวาตภัย จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับความสนใจ และทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อร่วมกันทำให้พัฒนาไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่ก่อให้เกิดวัฒนาอย่างแท้จริงของสรรพสิ่ง อันได้แก่ มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลสื่อ

128-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 128
ธันวาคม 2532
ศ.นพ.ประเวศ วะสี