• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กว่าจะถึงชั้นประถม...ก็สายเสียแล้ว (ตอนที่ 2)

ควรสอนหนังสือเด็กด้วยวิธีใดดี
การสอนหนังสือเด็กน่าจะแบ่งได้เป็น 2 วิธีใหญ่ๆ
1. แบบโฟนนิกส์ (Phonics) หรือแบบอักขระวิธีของไทยเรา วิธีนี้ใช้มาแต่สมัยโบราณดั้งเดิม คือให้เด็กเริ่มท่องตัวอักษร พยัญชนะ สระ และหนังสือไทยเราก็ท่องวรรณยุกต์ด้วย แล้วจึงสอนให้เด็กผสมพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ที่จำได้นั้นให้เป็นคำอ่านออกเสียงและแปลความหมายไป ในสหรัฐอเมริกานั้น หนังสือที่เคยใช้สอนเด็กอย่างแพร่หลายตลอดมาตั้งแต่โบราณคือ Blue-Backed Speller ของโนอาห์ เวบสเตอร์ ตั้งแต่ ค.ศ.1783 ทำให้เวบสเตอร์มีรายได้จากหนังสือเล่มนี้เลี้ยงชีพ และใช้เวลาตลอดชีวิตทำพจนานุกรม Webster’s Dictionary ที่เราใช้ยึดถือจนทุกวันนี้

วิธีสอนแบบโฟนนิกส์นี้ได้มีผู้คิดและดัดแปลงขึ้นมาอีกหลายแบบ เช่น วิธีของดร.รูดอฟ เฟลสช์ (Dr.Rudoph Flesch) นอกจากนั้นก็ยังมีของแอดดิสสัน-เวสเลย์ (Addison-Wesley) ไดสตาร์ (Distar) และอื่นๆอีกหลายบริษัทที่จัดพิมพ์ขึ้นขาย

วิธีสอนแบบโฟนนิกส์นี้มีผู้ตำหนิว่ายากสำหรับเด็กที่จะต้องท่องจำตัวอักษรและหลักเกณฑ์ต่างๆมากมายกว่าจะอ่านหนังสือออก จะทำให้เด็กเบื่อหน่าย บางท่านอ้างว่าตัวอักษร เช่น ก. ข. ค. เป็นสิ่งที่เด็กไม่เคยเห็นไม่เคยจับต้อง หรือเคยกันมาก่อน ส่วน ไก่ ไข่ ควาย เด็กเคยเห็น เคยกินหรือเคยจับต้องมาก่อน เด็กจะจำเป็นคำๆได้ง่ายกว่า

2. แบบมองดูและท่องจำ (Look and say) แบบนี้สอนให้เด็กอ่านเป็นคำๆแบบหนังสือจีน เป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากในสหรัฐอเมริกา ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การเริ่มต้นจะง่าย เด็กจะจำคำต่างๆได้โดยรวดเร็วในระยะหนึ่ง ทำให้ทั้งครูและคุณพ่อคุณแม่มีกำลังใจและปลาบปลื้มใจ

ระยะหลังๆมีผู้ตำหนิว่าวิธีท่องจำทีละคำนี้มาก โดยให้เหตุผลว่าเด็กจะเรียนได้เร็วเพียงในระยะแรกเท่านั้น หากจะให้เด็กจำคำแต่ละคำไปเรื่อยๆ สมมติว่าวันละ 2 คำ เดือนละ 60 คำ ปีหนึ่งได้ 700 คำ ในภาษาอังกฤษมีอยู่ถึง 2 หมื่นคำ และภาษาไทยประมาณ 1 หมื่นคำ เด็กคงจะต้องใช้เวลาชั่วชีวิตที่จะจำคำแต่ละคำ เช่น นักปราชญ์ชาวจีน นอกจากเด็กบางคนที่เฉลียวฉลาดมาก สามารถจะแยกแยะหาหลักเกณฑ์ในการอ่านขึ้นมาได้เอง (เรียกว่าคิดระบบโฟนนิกส์ของตนเองได้) ส่วนเด็กอื่นๆที่ยึดหลักการจำคำ เมื่อมากๆเข้าก็จะสับสน ลืม ต่อไปแทนที่จะเป็นนักอ่านที่ดีก็จะเป็นนักเดาคำ (Word guesser) และนานๆเข้าถ้าอ่านไม่ออกจริงๆก็จะเป็นนักอ่านข้ามคำ (Word skipper) ดร.รูดอฟ เฟลสช์ ผู้ซึ่งสนับสนุนวิธีสอนแบบโฟนนิกส์อธิบายว่า วิธีโฟนนิกส์นั้น เด็กอาจต้องเสียเวลาเพียง 3 เดือน ก็จะอ่านหนังสือได้หมดทุกเล่ม การใช้ตัวอักษรผสมเป็นคำ หนังสือนั้นมนุษย์คิดได้มาตั้งแต่ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษย์ แต่คนอเมริกันกลับโยนมันทิ้งเสียเฉยๆ หันไปท่องจำตัวหนังสือทีละคำแบบจีน เด็กใช้หนังสือปีละหลายๆเล่มอยู่หลายๆปี ระบบนี้สร้างร่ำรวยมหาศาลให้แก่บริษัทพิมพ์หนังสือ ทั้งทำให้เด็กอเมริกันอ่านหนังสือไม่ออกพอจะใช้งานได้ (Functional illiterate) อยู่เป็นล้านๆคน

ดร.เกลนน์ ดอมแมน เป็นผู้เดินสายกลาง ให้ความคิดเห็นว่าการสอนหนังสือนั้น จะใช้วิธีใดก็ได้ ประการสำคัญคือให้เริ่มสอนตั้งแต่ยังเล็ก ถ้าเด็กอายุเกิน 6 ขวบไปแล้ว จะเรียนหนังสือยากมาก วิธีของ ดร. ดอมแมน จะเริ่มด้วยการใช้บัตรคำระยะแรก เมื่อเด็กจำคำได้ประมาณ 100 คำ ให้เริ่มต้นสอนตัวอักษรและสอนให้เด็กหัดผสม วิธีสอนที่นำทั้งสองแบบมาผสมกัน เรียกว่า วิธีผสม (Eclectic method) ซึ่งมักจะนิยมใช้ในโรงเรียนมอนเตสซอรี่ (Montessory Schools) ในสหรัฐอเมริกา

ผมได้ศึกษาหนังสือ “คู่มือครูอนุบาล เตรียมสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตบูรณาการฯ” ของท่านรองศาสตราจารย์ลัดดา นีละมณี ในชั้นอนุบาลปีที่ 1 ท่านให้ใช้บัตรคำสอนเด็กให้อ่านเป็นคำๆ รวมแล้วได้ประมาณ 115 คำ ในปีที่ 2 ท่านให้เด็กท่องแจกลูกคำ เช่น เงา เรา เหา เมา ครู พรู ทุก คุก ชุก ซุก ฯลฯ ตลอดทั้งปีเด็กจะได้เรียนรู้คำที่ได้จากสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ผสมกัน ประมาณร้อยละ 60 ของคำไทยทั้งหมด ตลอดเวลา 2 ปี ในหลักสูตรอนุบาลของท่านนี้ จะทำให้เด็กสามารถจะเข้าใจการอ่านแบบอักขระวิธีของไทยได้เพียงพอ และสามารถจะเรียนหนังสือในชั้นประถมปีที่ 1 ได้อย่างสะดวกสบาย พอจะเรียกได้ว่าเป็นวิธีผสม (Eclectic method) เป็นวิธีที่เหมาะสมมาก

ทั้ง ดร.เกลนน์ ดอมแมน และซิดนีย์ เลดสัน เน้นว่าเคล็ดลับสำคัญในการสอนหนังสือเด็กก็คืออย่าทำให้เด็กเบื่อ การเรียนรู้ของเด็กเป็นเกมที่น่าตื่นเต้นสนุกสนาน นอกจากผู้ใหญ่ไปบอกเสียเองว่าการเรียนเป็นเรื่องน่าเบื่อน่าหนักใจ หรือเป็นเรื่องยากลำบากน่าพรั่นพรึง และท้อถอย การอยากเรียนรู้ของเด็ก (รวมทั้งการเรียนหนังสือ) เป็นสัญชาตญาณที่เข้มแข็งของเด็ก เช่นเดียวกับลูกแมวหัดจับหนูหรือลูกสุนัขหัดต่อสู้กัน สัตว์ทำตามสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด การเรียนรู้ของเด็กก็คือการเตรียมพร้อมที่จะเติบโตไปในอนาคต
 

 

ข้อมูลสื่อ

100-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 100
สิงหาคม 2530
อื่น ๆ
นพ.สันต์ สิงหภักดี