• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟันผุที่รากฟัน

ฟันผุที่รากฟัน

“สองวันมานี้ คุณปู่บ่นเรื่องเสียวฟัน และเคี้ยวอาหารไม่ปกติ คุณว่าท่านฟันผุหรือเปล่านะ”

“ท่านเป็นคนหนึ่งที่มีฟันดีมาก ไม่เคยถอนฟันเลย หรือว่าท่านเป็นโรคเหงือกอักเสบ”

“แต่ท่านก็ไม่เคยบ่นว่าฟันโยกหรือคลอนเลยนี่นะ ฉันได้ยินมาว่า คนที่เป็นโรคเหงือกมักจะมีเลือดออกตามไรฟัน หรือฟันโยกไม่ใช่หรือ”

“นั่นน่ะซิ ผมเห็นจะต้องพาท่านไปให้หมอฟันตรวจซะทีแล้ว”

ในผู้สูงอายุ โอกาสที่จะมีความผิดปกติของร่างกายเกิดได้ง่าย เนื่องจากความต้านทานของร่างกายน้อยลง โรคในช่องปากก็เช่นกัน โดยทั่วไปโรคเหงือกอักเสบเป็นโรคในช่องปากที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ นอกจากนี้แผลในปาก ก็อาจพบได้ง่ายขึ้นด้วย

ในขณะที่โรคฟันผุบนตัวฟันไม่ค่อยเป็นปัญหาในผู้สูงอายุ ทั้งนี้เนื่องจากตัวฟันที่ผ่านการใช้งาน การบดเคี้ยวเป็นเวลานานๆ ก็มักจะสึกกร่อนไปบ้าง เป็นผลให้หลุมและร่องฟันตื้นขึ้น การกักของเศษอาหารก็น้อยลง การผุของตัวฟันจึงไม่มากเท่ากับในฟันเด็ก หรือคนหนุ่มสาว

แต่ในปัจจุบัน ผู้สูงอายุที่มีฟันถาวรแข็งแรงดี ฟันไม่เคยผุมาเลยในอดีต อาจได้รับประสบการณ์เสียวฟัน ปวดฟัน ในลักษณะเดียวกับฟันผุได้ ทั้งนี้เป็นผลจากฟันผุที่บริเวณรากฟัน

ฟันผุที่รากฟัน เกิดได้อย่างไร

บริเวณรากฟัน มีส่วนประกอบทางเคมี และคุณสมบัติต่างกับส่วนตัวฟัน กล่าวคือ ตัวฟันจะมีชั้นเคลือบฟัน (enamel) ซึ่งประกอบด้วยสารอนินทรีย์เกือบทั้งหมด และไม่มีเซลล์มาหล่อเลี้ยง จึงมีความแข็งแกร่งมาก ในขณะที่บริเวณรากฟันมีชั้นเคลือบรากฟัน (cementum) ซึ่งเป็นเพียงชั้นบางๆ ที่มีเซลล์มาหล่อเลี้ยง และมีส่วนประกอบของสารอินทรีย์มาก จึงถูกทำลายได้ง่ายกว่า

โดยปกติ เป็นที่ทราบกันดีว่า รากฟันควรจะต้องถูกห่อหุ้มด้วยเหงือกอย่างแน่นหนา ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะถูกทำลาย แต่ถ้าเมื่อใดที่เหงือกร่น หรือมีกระเป๋าปริทันต์โดยที่รอบเหงือกมีบริเวณที่เปิดทางให้รากฟันโผล่ออกสู่ภายนอกได้ โอกาสที่รากฟันจะถูกทำลายก็มากขึ้น ลักษณะดังกล่าวนี้พบได้ในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเหงือกร่นจากการแปรงฟันที่ไม่ถูกวิธี หรือมีกระเป๋าปริทันต์จากการที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาโรคเหงือกตามสมควร อีกประการหนึ่ง ในผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงตามสรีระหลายประการที่เป็นปัจจัยหนุนให้เกิดความผิดปกติ หรือเกิดโรคในช่องปากได้ง่ายขึ้น เช่น การขับน้ำลายได้น้อยลง รวมไปถึงคุณสมบัติของน้ำลายที่หลั่งออกมาอาจจะเหนียวข้นเกินไป ทำให้อำนาจการชะล้างของน้ำลายลดลง โอกาสที่จะเกิดโรคฟันผุจึงมีมากขึ้น

นอกจากนี้ จากการที่การทำงานของกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุอาจหย่อนยานไปบ้าง การกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างตามกระพุ้งแก้ม หรือซอกฟัน โดยใช้ลิ้นหรือแก้ม ทำได้ไม่สมบูรณ์เช่นในเด็กหรือหนุ่มสาว เศษอาหารดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดการหมักหมมทำให้เกิดกลิ่นปาก และเป็นที่มาของโรคฟันผุได้อีกทางหนึ่ง แม้กระทั่งการแปรงฟัน บ้วนน้ำในผู้สูงอายุอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุได้ง่ายขึ้น แต่โดยที่ฟันผุในตัวฟันเกิดได้น้อยลง ฟันผุที่รากฟันจึงชัดเจนขึ้น

ลักษณะการเกิดฟันผุที่รากฟัน

ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า การเกิดฟันผุที่รากฟันต้องมีส่วนของรากฟันที่สัมผัสกับภายนอกเหงือกได้โดยตรง จึงพบว่า ฟันผุที่รากฟันจำนวนมากเกิดที่ซอกฟันที่มีเหงือกร่นหรือมีกระเป๋าปริทันต์ การตรวจฟันผุที่บริเวณนี้จึงตรวจได้ยาก และบ่อยครั้งที่ถูกละเลย เป็นผลให้กว่าจะทราบว่ามีฟันผุที่รากฟันก็เป็นมากจนมีอาการเสียวหรือปวดแล้ว ฟันผุที่รากฟัน มักเกิดที่บริเวณฟันกรามซี่ท้ายๆ เนื่องจากการละเลยการกำจัดเศษอาหารดังกล่าวประกอบกับกระพุ้งแก้ม มีส่วนที่คอยกดเศษอาหารเข้าไปในซอกฟันได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในคนอ้วนแก้มยุ้ย ช่องว่างระหว่างกระพุ้งแก้มกับฟันยิ่งน้อยลงเท่าใด การทำความสะอาดตามธรรมชาติก็ลดลงไปด้วย

อีกบริเวณหนึ่งที่ฟันผุที่รากฟันเกิดได้ง่าย คือ บริเวณที่ขอบฟันปลอมชนิดถอดได้เกาะกับขอบเหงือกของฟันถาวรข้างเคียง บริเวณนี้มักมีเศษอาหารมาเกาะ เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดฟันผุที่รากฟันได้ง่ายมาก โดยเฉพาะฟันปลอมชนิดที่มีฐานเป็นพลาสติก และใช้มาเป็นเวลานานๆ ฟันปลอมไม่แน่นเท่าที่ควร โอกาสที่เศษอาหารมาเกาะจึงง่ายยิ่งขึ้น การเกิดฟันผุก็มีมากขึ้นตามมาด้วย

การป้องกันการเกิดฟันผุที่รากฟัน

ในผู้สูงอายุ การหมั่นบ้วนปากภายหลังกินอาหารเป็นวิธีการที่ดีมาก แต่จะต้องบ้วนเศษอาหารให้ออกให้หมดจริงๆ โดยเฉพาะที่บริเวณกระพุ้งแก้ม ถ้าเหงือกร่น หรือมีซอกระหว่างฟันชัดเจน การใช้แปรงขนาดเล็กสำหรับทำความสะอาดซอกฟัน หรือการใช้เส้นใยไนลอนทำความสะอาดซอกฟัน ก็เป็นวิธีการป้องกันโรคฟันผุที่รากฟันอีกวิธีหนึ่ง

การตรวจสุขภาพในช่องปากเป็นประจำในผู้สูงอายุเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อตรวจหารอยโรคในระยะเริ่มแรก ทำให้การรักษาโรคได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการตรวจฟันปลอมให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดีและไม่หลวมมากเกินไป ก็เป็นวิธีการป้องกันอีกทางหนึ่ง แม้กระทั่งการถอนฟันกรามซี่สุดท้ายที่อาจไม่จำเป็นในการใช้งาน แต่เป็นจุดเริ่มต้นให้กักเศษอาหารได้ดี ก็เป็นการป้องกันฟันผุที่รากฟันในบริเวณดังกล่าวได้ด้วย

จะเห็นว่าวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การดูแลรักษาสุขภาพในช่องปากให้มีสภาพสมบูรณ์ทั้งเหงือกและฟัน ตั้งแต่ในเด็ก ผู้ใหญ่ และจนกระทั่งในผู้สูงอายุ อย่าได้ปล่อยปละละเลยว่า “แก่แล้ว ไม่เป็นไร” เพราะแท้ที่จริงแล้ว ฟันถาวรเก็บไว้ใช้ได้ชั่วชีวิต ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี แล้วท่านจะปลอดจากการทรมานของโรคฟันผุ ทั้งที่ตัวฟันและรากฟันตลอดไป 

ข้อมูลสื่อ

128-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 128
ธันวาคม 2532
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช