• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สะพานข้อมูลไทย-ลาว

สะพานข้อมูลไทย-ลาว

ในครั้งที่แล้วผมได้เกริ่นเอาไว้ถึงระบบเฝ้าระวังโรคของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ล.) ว่าเขามีความพยายามที่จะเริ่มทำแบบใหม่ แต่ไม่สำเร็จ ผมก็พยายามวิเคราะห์ว่าต้องมีปัญหาอะไรแน่ จึงทำให้การริเริ่มหลายครั้งหลายครา ประสบความล้มเหลว

ปัจจัยหลักที่ผมคิดว่าเป็นไปได้มาก คือ ผู้เชี่ยวชาญที่มาเป็นที่ปรึกษาให้เขา ขาดระยะเตรียมการที่เป็นช่วงที่สำคัญมากที่จะทำให้เราเรียนรู้ปัญหาและหาแนวทางแก้ไขเป็นข้อแรก

ถัดมา คือ ปัญหาเรื่องภาษา เป็นข้อที่สอง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้คิดถึง หรือไม่ได้ร้องขอให้ผู้ร่วมงานชาวลาว (ที่เราเรียกว่า Counterpart) พาไปหาผู้ที่มีความรู้แขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลเสียก็คือ หมอและนักการสาธารณสุขของลาวก็เลยประสานงานกันไม่เป็น

ที่ผมกล้าพูดเช่นนี้ก็เพราะประสบการณ์ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ชี้ชัดว่านี้คือ ปัญหาแน่นอน เช่นมีการจัดตั้ง 3 องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรค แต่ทั้ง 3 องค์กรนี้ยังไม่เคยมีการพูด ประชุม หรือชี้แจง เพื่อหามาตรการร่วมกันเลย ก็มาถึงที่ผู้เชี่ยวชาญจากไทยที่พูดรู้เรื่องกับทั้งสามฝ่าย ก็เลยนัดทั้ง 3 องค์กรมาคุยกัน จัดแบ่งหน้าที่ว่าใครจะรับผิดชอบอะไร ก็คิดว่าจะทำให้งานเดินไปได้ละทีนี้ แต่ถ้าหากงานยังไม่ไปถึงไหน ก็อาจจะมีปัญหาข้อที่สาม ที่สี่...ที่ผมเองยังหาไม่พบก็ได้

ในครั้งที่แล้วผมยังพูดถึงเรื่องการริเริ่มจัดตั้งระบบเฝ้าระวังโรคเฉพาะพื้นที่ (Sentinel surveillance) ค้างไว้ว่า ด้วยประสบการณ์ที่เมืองไทยเราเคยมีมาก่อน (ในฐานะเมืองพี่) เราก็จะเอามาสอนเมืองน้องว่าเมืองพี่ทำอย่างนี้มาก่อนถึงได้อยู่รอดปลอดภัยจนมาเป็นยุคคอมพิวเตอร์แบบทุกวันนี้ ถ้าไม่พูดแบบนี้ (ซึ่งก็ไม่ได้โกหกแต่อย่างใด) หมอลาวคงคิดท้อใจว่า อาตมาต้องทำซักกี่ปี มันถึงจะบรรลุโสดาบัน ถึงขั้นยุคคอมพิวเตอร์แบบพี่ไทยซะที เพราะคุณหมอแพงตา นามสกุลวงศ์พระจันทร์ ที่เป็นผู้ร่วมงานชาวลาว ผู้ซึ่งได้มีโอกาสมาศึกษางานระบาดวิทยาที่เมืองไทยตั้งเกือบ 3 เดือน ได้มาเห็นระบบคอมพิวเตอร์ของเรา ก็คิดท้อตั้งแต่แรกเห็นแล้ว คราวนี้คุณหมอแพงตาบังเอิญต้องเป็นคนรับผิดชอบระบบเฝ้าระวังโรคนี้ซะด้วย ถ้าเขาท้อซะแล้ว ระบบนี้ก็จะเป็นไปอีหรอบเดิม คือ ไปไม่รอด ต้องพังลงมาอีก ซึ่งผมคิดว่าเราจะยอมไม่ได้ การที่ส.ป.ป.ล.ยอมจ้างเราที่อยู่ประเทศไทยไปช่วยงานของเขานี่ เป็นการขอความช่วยเหลือข้ามภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก เราจะให้เสียชื่อคนไทยไม่ได้ใช่ไหมครับ

หลายท่านอาจจะงงว่าการข้ามภูมิภาคนี้มันแปลว่าอะไร ผมก็ขอเฉลยว่า องค์การอนามัยโลกแบ่งการปกครองภายในองค์การออกเป็น 6 ภูมิภาค คือ ภาคพื้นแอฟริกา อเมริกา เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก โดยมีประเทศที่อยู่ในความดูแลเรื่องสุขภาพแยกย้ายกันไป

เหตุที่ข้ามภาคพื้นก็เพราะประเทศไทยขึ้นอยู่กับภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ ส.ป.ป.ล.ขึ้นอยู่กับภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกนั้นเอง โดยทั่วไปแล้ว แต่ละภาคพื้นก็พยายามจะหาผู้เชี่ยวชาญในหมู่ภาคพื้นของตนเอง น้อยครั้งที่จะไปหาผู้เชี่ยวชาญข้ามภาคพื้นมาทำงาน เมื่อทราบสายสนกลในเช่นนี้ ก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมตั้งปณิธานว่าจะต้องสร้างระบบเฝ้าระวังโรคให้เกิดขึ้นใน ส.ป.ป.ล.ให้ได้ ผมรู้ว่ามันกินเวลา เพราะจากประสบการณ์ของประเทศไทยที่ตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2513 และกว่าจะมาเป็นระบบที่โครงร่างค่อนข้างเข้มแข็งเช่นทุกวันนี้กินเวลากว่า 10 ปี แต่เมื่อระบบตั้งตัวไปแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้มันคุ้มค่าเกินราคามากมาย

ย้อนกลับไปที่คุณหมอแพงตา ผมยังใจชื้นอยู่เล็กน้อยที่คุณหมอคนนี้ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ ราวๆ 36-37 ปียังพอมีไฟที่จะจุดขึ้นได้ ก็พยายามหาโอกาสอธิบายเขาทุกครั้งที่มีเวลา ช่วงที่เรานั่งรถไปด้วยกัน ก็จะหาหัวข้อประเด็นต่างๆ มาพูดคุยกันจนเขาหลุดปากมาว่า โอเค เอาไงเอากัน เราก็มาถึงจุดที่เป็นงานหลักของผมครั้งนี้ คือ การไปจัดหลักสูตรระยะสั้นทางด้านการเฝ้าระวังโรคและชีวสถิติขั้นพื้นฐาน ก็พอดีกระดาษหมดพอดี คงยังไม่เบื่อนะครับ

ข้อมูลสื่อ

128-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 128
ธันวาคม 2532
นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์