• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุยกับผู้อ่าน

คุยกับผู้อ่าน


สิงหาคมเป็นเดือนแห่งวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ถือเป็นวันแม่แห่งชาติ “หมอชาวบ้าน” ฉบับนี้จึงว่าด้วยเรื่องแม่ และแม่กับลูกหลายเรื่อง หวังว่าภาพลายเส้น “แม่กับลูก” โดยจิตรกรเอกที่เชิญมาไว้เป็นปกติอันแปลกไปกว่าเคย คงจะเป็นที่ถูกใจท่านผู้อ่านอยู่บ้าง
สุขภาพของแม่และเด็กเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการพัฒนาประเทศ เด็กที่จะเป็นอนาคตของประเทศได้จะต้องฉลาด มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ

เด็กไทยยังไม่อยู่ในฐานะดังกล่าว เริ่มแรกเมื่ออยู่ในครรภ์ก็ได้รับความกระทบกระเทือนเสียแล้ว เพราแม่เป็นโรคขาดอาหารและโรคติดเชื้อ เมื่อคลอดออกมา เด็กก็ประสบชะตากรรมอย่างเดียวกับแม่ คือขาดอาหารและเป็นโรคติดเชื้อ ทำให้อัตราตายของทารกยังสูงถึง 60-70 ต่อ 1000 อัตราตายของทารกใช้เป็นดรรชนีบอกสภาวะสุขภาพของประชาชนในชาติ ชาติที่มีสังคมเศรษฐกิจและการสาธารณสุขดี อัตราตายของทารกจะอยู่ประมาณ 12-15 ต่อ 1000

เด็กก่อนวัยเรียนในชนบทร้อยละ 70-80 และเด็กสลัมในกรุงเทพฯร้อยละ 50-60 เป็นโรคขาดอาหาร ในปีหนึ่ง ๆ เด็กก่อนวัยเรียนต้องถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดจากการขาดอาหาร ปีละ 55,000 คน เป็นอย่างน้อย นี่ว่าเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียนและคิดอย่างต่ำกว่าความเป็นจริง ถ้านับเด็กโตและผู้ใหญ่ ตลอดจนนับผู้ที่ล้มตายด้วยโรคติดเชื้ออันเกิดจากการได้อาหารไม่พอเพียง ปีหนึ่ง ๆ คนไทยตายเพราะทุพโภชนาการเป็นแสนคน เป็นจำนวนมากมายกว่าที่ล้มตายในสงครามทุกประเภท

ชาวนาไทยโดยเฉลี่ย ร้อยละ 40 มีโลหิตจาง แต่ในหมู่บ้านที่กันดาร อัตราของการมีโลหิตจางสูงถึงร้อยละ 90 บางท่านสงสัยว่าคนไทยจะยากจนจริงหรือเปล่าหนอ หรืออาจเป็นความจนเปรียบเทียบก็ได้ แต่ในทางการแพทย์มีเครื่องวัดที่แน่นอน และผลของการวัดนั้นบ่งว่า คนไทยมีความจนถึงเลือดถึงเนื้อทีเดียว

เด็กที่ขาดอาหาร และเป็นโรคติดเชื้อบ่อย ๆ จะทำให้โง่เขลา อันเนื่องจากเซลล์สมองตาย และขาดการศึกษาเล่าเรียนที่เหมาะสม อันเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในด้านภูมิปัญญาของประเทศ
เรื่องแม่และเด็กเมื่อกล่าวไปแล้วจึงสะท้อนออกมาเป็นปัญหาของประเทศ ซึ่งค่อนข้างใหญ่โตมาก และเป็นเรื่องที่จะต้องรีบแก้ไขอย่างถูกต้องโดยรีบด่วน

 

ข้อมูลสื่อ

16-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 16
สิงหาคม 2523
ศ.นพ.ประเวศ วะสี