• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ร่างกายสมบูรณ์ทุกส่วน ด้วยทวิและไตรกีฬา

ร่างกายสมบูรณ์ทุกส่วน ด้วยทวิและไตรกีฬา

ทวิกีฬา คือ การออกกำลังกายด้วยกีฬา 2 ชนิดอย่างต่อเนื่องกันไป อาทิเช่น ขี่จักรยานระยะหนึ่ง จากนั้นก็ต่อด้วยว่ายน้ำหรือวิ่ง หรืออาจจะเริ่มด้วยการวิ่ง ขี่จักรยาน แล้วปิดท้ายด้วยการวิ่งอีกครั้งก็ได้ การจะเอากีฬาอะไรมาก่อนมาหลังมิใช่เรื่องสำคัญนัก สุดแต่ความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ แต่โดยทั่วไปมักจะเอากีฬาที่อันตราย เช่น การว่ายน้ำมาก่อน เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะแข่งขันกันตามแหล่งน้ำธรรมชาติ หากว่ายน้ำหลังจากแข่งจักรยานหรือเสร็จจากการวิ่ง อาจเกิดอันตรายได้ง่ายหากจะต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ

ทวิกีฬาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกีฬา 3 ชนิดนี้เท่านั้น กีฬาชนิดอื่นๆ ก็สามารถนำมาเล่นได้ เช่น พายเรือ ยิงปืน ยิงธนู กอล์ฟ หรือปีนเขา เป็นต้น แต่ไม่นิยมเอากีฬาที่ต้องปะทะกันอย่างมวย หรือยูโดมาเล่น

ส่วนไตรกีฬา ก็คล้ายคลึงกับทวิกีฬา เพียงแต่เพิ่มจากการเล่นกีฬา 2 ชนิดเป็น 3 ชนิดอย่างต่อเนื่องกัน เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง

เมื่อประมาณปี พ.ศ.2525 หากใครมีโอกาสชมโทรทัศน์รายการข่าวกีฬาของสหรัฐอเมริกาที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันไตรกีฬาจากมลรัฐฮาวาย ภาพผู้หญิงคนหนึ่งกำลังล้มๆ ลุกๆ และค่อยๆ คืบคลานไปข้างหน้าด้วยสองมือ และสองเข่าอย่างมุ่งมั่นเพื่อเข้าสู่เส้นชัยเบื้องหน้า ช่างภาพโทรทัศน์ได้ถ่ายภาพช่วงนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สะกดให้ผู้ชมตะลึงอยู่กับที่ ในขณะที่นักกีฬาหลายคนวิ่งแซงผ่านไป แต่เธอก็ไม่สิ้นความพยายามทั้งๆ ที่ร่างกายหมดสภาพจะยืนหยัดวิ่งต่อไปได้เช่นคนอื่น ไม่มีใครทราบว่าใจของเธอทำด้วยอะไร แต่ภาพที่ปรากฏได้พิสูจน์ให้เห็นว่า “คนจิตใจธรรมดา หากไม่ได้ผ่านการฝึกมา ย่อมไม่สามารถจะทำได้เช่นนั้น” หลายคนทั่วไปเริ่มรู้สึกประทับใจกับคำว่า ไตรกีฬา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นับย้อนหลังจากการแข่งขันครั้งนั้นไปอีก 3 ปี คือ ประมาณปี พ.ศ.2522 ที่มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ของนักออกกำลังสมัครเล่นจำนวนหนึ่ง ได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับกีฬาที่แต่ละคนใช้ในการออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง ขี่จักรยาน มีการยกเอาสถิติ ข้อมูลอ้างถึงความดี ความมีประโยชน์มาแลกเปลี่ยนกัน โดยไม่มีข้อสรุปว่าใครจะเก่งกว่าใคร สุดท้ายจึงตกลงกันที่จะพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับกีฬาทั้ง 3 ชนิด ด้วยการให้ทุกคนลงแข่งกีฬาทั้ง 3 ชนิดต่อเนื่องกันไป

ในวันแข่งมีคนเข้าร่วม 15 คน การแข่งขันเริ่มจากการว่ายน้ำเป็นระยะทาง 2.4 ไมล์ ต่อด้วยการขี่จักรยาน 112 ไมล์ และปิดท้ายรายการด้วยการแข่งวิ่งมาราธอนอีก 42.195 กิโลเมตร ผลปรากฏว่า นักกีฬารุ่นบุกเบิกนี้แข่งกีฬาไปก็กินอาหารตามไปด้วย ตั้งแต่ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน จนถึงวิ่ง บางคนก็แวะเข้าไปกินที่ร้านข้างทางหลังจากอาหารที่นำติดตัวมาด้วยหมดลง บางคนวิ่งต่อไปไม่ได้เพราะเกิดจุกเสียด บางคนเหนื่อยมากก็แอบจอดรถนอนพักข้างทาง

ในวันนั้นมีผู้เข้าถึงเส้นชัยได้จำนวน 12 คน โดยผู้เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกทำเวลาได้ 11 ชั่วโมง 46 นาที (สถิติปัจจุบัน ปี พ.ศ.2530 คือ 8 ชั่วโมง 28 นาที) จากวันนั้นเป็นต้นมา โลกก็มีกีฬาใหม่เกิดขึ้น คือ “ไตรกีฬา” (Triathion) และเรียกนักกีฬาที่เข้าร่วมว่า “มนุษย์เหล็ก” (Iron man)

เนื่องจากการแข่งขันไตรกีฬาเต็มระยะทาง ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะต้องใช้ความทรหดอดทนตั้งแต่วันซ้อมจนถึงวันแข่ง จึงมีการจัดไตรกีฬาขนาดเล็ก (หรือเรียกกันว่า ระดับนานาชาติ หรือระดับโอลิมปิก) ขึ้น ซึ่งทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมแข่งขันมากขึ้น (บางแห่งมีถึง 2 หมื่นคน) ทั้งนี้เพราะลดระยะทางลงมาเหลือว่ายน้ำเพียง 1.5 กิโลเมตร ขี่จักรยาน 40 กิโลเมตร และวิ่ง 10 กิโลเมตร รวมทั้งมีการจัดทวิกีฬาเพื่อเพิ่มความสนุกให้กับนักออกกำลังเพื่อสุขภาพ และเพื่อพัฒนาความสามารถสู่การแข่งขันไตรกีฬาต่อไป

ปัจจุบันการแข่งขันไตรกีฬาและทวิกีฬามีการจัดกันมากขึ้นทั่วโลก เฉลี่ยวันหนึ่งจะมีการแข่ง 7 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมทุกเพศทุกวัย หากเป็นนักกีฬาหญิงจะได้รับสมญานามว่า “หญิงเหล็ก” (Iron woman) และ “เด็กเหล็ก” (Iron kid) สำหรับเยาวชน

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งต่อไปในประเทศสเปนจะมีการนำไตรกีฬาเป็นกีฬาสาธิต เพื่อบรรจุเป็นกีฬาประจำในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งต่อไป ปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้เตรียมฝึกนักกีฬาของตนไว้สำหรับร่วมแข่งขันล่วงหน้าแล้ว หลายประเทศมีสหพันธ์ไตรกีฬานานาชาติเป็นองค์กรรวม มีสมาชิกทั่วโลกอยู่ประมาณ 70,000 คน

ปกตินักกีฬาหรือผู้ออกกำลังเพื่อสุขภาพมักจะเน้นการออกกำลังเฉพาะกีฬาที่ตนถนัดหรือชื่นชอบเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ทำให้มองข้ามกีฬาชนิดอื่นๆ ส่งผลให้ผู้ออกกำลังขาด “ความสมบูรณ์ทั่วทุกด้าน” (Total fitness) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการเป็นนักกีฬาที่ดี หรือเป็นผู้มี “สุขภาพดีทุกด้าน” นักกีฬาจำนวนมากต้องเลิกเล่นกีฬาที่ตนชอบเมื่อต้องออกจากโรงเรียน หรือเมื่อเสร็จสิ้นฤดูการแข่งขัน (เช่น ฟุตบอล) เนื่องจากขาดเพื่อนร่วมทีม ขาดสนาม ภารกิจรัดตัว เป็นต้น ทำให้การกีฬาไม่สามารถรับใช้ประชาชนทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

การออกกำลังกายด้วยวิธีต่างๆ หลากหลายออกไป จะช่วยให้ผู้ออกกำลังมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และมีประสิทธิภาพกว่าการมุ่งฝึกแต่กีฬาใดกีฬาหนึ่งเพียงชนิดเดียว เช่น นักวิ่งหากเพิ่มการว่ายน้ำหรือขี่จักรยานจะช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนบนของร่างกาย และกล้ามเนื้อหน้าขาอ่อนมีความแข็งแรง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่งมากขึ้น

การฝึกไตรกีฬายังช่วยป้องกันและลดการบาดเจ็บจากการออกกำลังอย่างใดอย่างหนึ่งที่ซ้ำซากตลอดเวลา เพราะเซลล์ในกล้ามเนื้อมีโอกาสพักและไม่ถูกใช้งานเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นยังช่วยให้นักกีฬาคงความสมบูรณ์ของร่างกายไว้ได้หากเกิดอาการบาดเจ็บจากการออกกำลัง เช่น นักวิ่งเกิดอาการบาดเจ็บจากการวิ่งก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นว่ายน้ำ หรือขี่จักรยานแทน เพื่อเป็นการฝึกต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะหายเป็นปกติ

นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ออกกำลังไม่รู้สึกเบื่อหน่ายจากการที่ต้องฝึกกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งจำเจตลอดปี แต่สามารถเปลี่ยนกีฬาไปตามความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

ปัจจุบันไตรและทวิกีฬาทำให้คนทั่วไปไม่มองกีฬาประเภทที่ต้องใช้ระยะเวลาและความอดทนฝึกซ้อม อย่าง การขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือวิ่ง ว่าเป็นเรื่องน่าสมเพช หรือน่าเบื่อหน่ายอีกต่อไป แต่กลับมองคนเหล่านั้นในฐานะ “คนที่ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพดี” ด้วยการใช้การออกกำลังกายเป็นทั้งการพักผ่อน และความสนุกแบบสันทนาการ

จะน่าสนุกเพียงใด หากวันสุดสัปดาห์เราชักชวนสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนๆ ขี่รถจักรยานไปเที่ยวนอกเมือง เมื่อถึงที่หมายก็แวะว่ายน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ หลังจากกินอาหารว่างร่วมกัน และพักผ่อนนิดหน่อย ก็ชวนกันออกเดินเล่น หรือวิ่งเหยาะๆ ชมธรรมชาติตามทางในป่าในเขา หลังจากนั้นก็เดินทางกลับ คิดดูซิว่ามันจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่มีความหมายต่อชีวิตเพียงใด

ข้อมูลสื่อ

128-030
นิตยสารหมอชาวบ้าน 128
ธันวาคม 2532
อื่น ๆ