• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิธีรักษาแผลเรื้อรังให้หายขาด

วิธีรักษาแผลเรื้อรังให้หายขาด


ดิฉันมีประสบการณ์เกี่ยวกับการรักษาแผลเรื้อรังที่เป็นแล้วไม่รู้จักหาย ทายาเหลือง ยาแดงก็ไม่หาย ทำอย่างไรก็ไม่หาย แม้แต่นำส่งโรงพยาบาลแล้ว หมอยังบอกว่า “ตายแหงๆ ไม่มีทางรอด”

เมื่อไม่นานมานี้เอง มีคนป่วยคนหนึ่งอายุประมาณ 70 เห็นจะได้เกิดอุบัติเหตุตกสะพานถึงกับแขนเป็นแผลใหญ่มาก เขารักษาโดยทายาซึ่งเรียกว่า น้ำมัน (ชาวบ้านส่วนมากชอบให้หมอน้ำมัน หมอน้ำมนต์
ทาและพ่น) แต่ก็ไม่หาย แผลกลับบวมยกแขนไม่ขึ้น น้ำเหลืองไหลตลอดเวลา เวลานอนต้องเอาหมอนรองต้นแขนไว้ และต้องนำใบตองมาวางรองบนหมอนก่อน เพื่อจะได้ไม่ติดแผลจนอาการหนัก ผู้เป็นลูกก็นำส่งโรงพยาบาล หมอที่โรงพยาบาลได้ “เฉือน” เนื้อที่ขอบปากแผลออกวันละหน่อยโดยไม่ได้ฉีดยาชา ท่านคงจะทราบดีว่าคนแก่นั้นเมื่อเป็นแผล แผลจะหายยาก การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไปได้ช้า เพราะกล้ามเนื้อจะไม่เจริญเติบโตแล้ว มีแต่วันจะทรุดโทรมลงไป อยู่โรงพยาบาลก็นอนแซ่วไม่ได้สติ พอจะค่อยยังชั่วหมอก็เฉือนจนแผลกว้างออกไปอีก แล้วการตัดเนื้อออกจากแผลนั้นทั้งเจ็บทั้งปวด ทรมานอย่าบอกใคร ,

ผู้ป่วยนอนอยู่โรงพยาบาล 4 วัน อาการก็ไม่ทุเลาลงเลย มีแต่ทรงกับทรุด ลูกเกิดความสงสารเลยพากลับบ้าน ทางหมอก็บอกว่า “พากลับเถิด ไม่มีทางหายหรอก แผลใหญ่มาก” เรียกว่าหมดปัญญาจะรักษา หมอโรงพยาบาลทุกคนพูดได้คำเดียวว่า “ไม่รอด” คนเจ็บก็พูดว่าขอกลับไปตายที่บ้านเถิด อย่าให้ตายอยู่ที่นี่เลย
ดิฉันไปเยี่ยม แกก็ร้องไห้ พูดอยู่คำเดียวว่า จะมีทางรักษาหายหรือเปล่า คงไม่รอดแน่ ๆ ดิฉันก็ได้แต่ปลอบโยนแก
ในขณะเดียวกัน มีพระภิกษุรูปหนึ่งท่านเป็นแผลที่น่อง ทายาก็ไม่หาย ท่านจึงใช้ให้เด็กวัดมาบอกกับบิดาของดิฉันว่าให้หาต้นหญ้าใบไผ่ให้หน่อยเถิด จะเอามาทำยารักษาแผล

บิดาของดิฉันมีความรู้ในเรื่องการรักษาแผลเรื้อรังอยู่เหมือนกัน เคยรักษาหายมาแล้วตั้งแต่สมัยที่ดิฉันยังไม่เกิด ก็ราวๆ 18-20 ปีมานี่เอง และไม่เคยพบใครเป็นแผลเรื้อรังหายยากอีกเลยมาบัดนี้มีถึง 2 คน ภิกษุหนึ่ง ฆราวาสหนึ่ง ครั้งแรกบิดาของดิฉันได้นำต้นหญ้าใบไผ่นี้มาตำเอาแต่ใบสีเขียวตำล้างน้ำหลายครั้ง จนกระทั่งขาวเป็นเส้นใยละเอียดเล็กๆ แล้วนำไปพอกที่แผลให้กับพระภิกษุรูปนั้น ก็ปรากฏว่าแผลนั้นค่อยๆ หาย จนบัดนี้หายสนิทเป็นปกติแล้ว แต่ปากแผลจะมีรอยดำคล้ำอยู่
ในเวลานั้น ลูกของชายแก่ผู้เป็นแผลที่แขนได้ทราบข่าวว่า พระภิกษุก็เป็นแผลและหาย จึงมาหาบิดาของดิฉันให้ช่วยนำต้นหญ้าใบไผ่มาให้ด้วยจะไปรักษาพ่อเขา บิดาดิฉันจึงได้นำต้นหญ้าใบไผ่ให้เขาไป พร้อมกับบอกวิธีทำยาและพอกแผล

คุณเชื่อไหม ตนที่หมอบอกว่าต้องตาย แผลไม่มีทางรักษาคนนั้น บัดนี้ได้หายเป็นปกติแล้ว สามารถหยับจับของเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้แล้ว
เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนักที่ยาไทย ๆ นั้นรักษาโรคได้ดียิ่ง มียาหลายชนิดที่สามารถรักษาแผลเรื้อรังได้ แต่ที่ดีที่สุดก็คือ หญ้าใบไผ่

ดิฉันทราบเรื่องนี้ดีเพราะทั้ง 2 ท่านที่เล่ามาข้างต้นเป็นญาติของดิฉันเอง คนชราเป็นญาติห่าง ๆ แต่ผู้ที่เป็นพระนั้นเป็นลุงแท้ ๆ ของดิฉัน
ดิฉันเองเป็นแผลที่น่องด้านขวา ตอนแรกเป็นแผลเล็กนิดเดียว ทายาแดง ยาเหลืองติดต่อกันก็ไม่หาย เป็นหนองข้างในแผล มารดาดิฉันได้นำต้นหญ้าระงับหรือต้นไมยราบ หรือผักกระเฉดบก มีชื่อหลายชื่อ ลำต้นมีหนาม เวลาถูกมือคนหรือมีสิ่งใดไปกระทบใบจะหุบลงทันที มารดาก็นำแต่ใบมาตำ ๆ ผสมเกลือ พิม-เสน ข้าวสุก ตำจนเหนียวมาพอกที่แผล ดูดหนองออกดีมาก ไม่กี่วันแผลที่น่องก็หาย
จะเห็นว่ายาไทย ๆ มีมากมายนับไม่ถ้วน ดิฉันก็พอมีความรู้อยู่บ้าง จึงขอนำมาเล่าให้ท่านทั้งหลายได้รู้เห็นคุณประโยชน์ของยาไทย ๆ ดังนี้
1. หญ้าใบไผ่ นำต้นสดเอาแต่ใบตำล้างน้ำหลายๆ ครั้งจนขาวเป็นเส้น พอกแผลหายเร็วนัก

2. หญ้าใบไผ่ นำทั้งต้นหั่นเป็นท่อน ๆ ตากแห้ง บดให้ละเอียด นำมาปั้นผสมกับน้ำผึ้ง กินแก้โรค เบาหวานที่เพิ่งเริ่มเป็นได้ดีนักแล

3. หญ้าระงับ นำใบมาตำใส่ข้าวสุก เกลือ 1 เม็ด พิมเสน 2-5 เกล็ด ตำให้ละเอียด พอกแผลที่มีหนอง พอกหัวฝี หนองจะออกดีนัก
 

4. ต้นเสลดพังพอนตัวผู้ นำใบสดมาตำผสมสุรา 28 ดีกรี พอกแผลสดดีนักแล หรือใช้แก้พิษงู แมลงมีพิษกัดต่อยได้ทั้งนั้น

5. ชาที่ชงแล้วเหลือกาก อย่าทิ้ง เก็บเอาไว้ได้ประโยชน์ เมื่อเป็นแผลก็นำมาชงน้ำ พอนิ่มนำมาตำ ๆ ใส่พิมเสน พอกแผลจะหายเร็ว

6. ไอ มีเม็ดขึ้นในลำคอ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ให้นำรากมะแว้งมาฝนใส่เกลือและมะนาว ใช้อมหรือฝาดก็ได้ ในเด็กใช้ฝาดคอหายเร็วดีนัก

7. ยาแก้สุม ตัวร้อน หรือกินของผิดสำแดง ให้นำรากไม้ชื่อพญารากดำ เปลือกอีแทน อีดำอีแดง ยังมีอีกดิฉันจำชื่อไม่ได้ ฝนกับน้ำสุกให้ข้น ๆ กิน ทำให้ชุ่มคอดีด้วย เราอาจใช้เพียง 2 ชนิดก็ได้ คือพญารากดำกับเปลือกอีแทน เพราะ 2 ชนิดนี้เป็นหัวยาขาดไม่ได้

8. ไข้หัวลม กินแกงส้มดอกแค รับรองหายแน่ แต่อย่าเอาก้านดอกสีเขียวอ่อนออกก็แล้วกัน เพราะก้านดอก (ยอด หรือก้านชูเกสร) ก็คือตัวยานั่นเอง

9. มีดบาด หรือของมีคมต่าง ๆ บาด เลือดออก เมื่อห้ามเลือดแล้วให้นำใบพลูที่ใช้กินกับหมากมาตำ ปนกับปูน (กินกับหมาก) ใส่พิมเสนหน่อย ตำให้เข้ากันพอกไปที่แผล ทนแสบนิดหน่อย แผลจะหายเร็ว เวลาถูกน้ำก็ไม่แสบ

10. เด็กเล็ก ๆ ที่ท้องขึ้น ท้องอืด ร้องไห้กวนโยเย ให้นำใบกะเพราแดงมาขยี้ นำน้ำที่ได้ทาท้องเด็ก อาการจะทุเลาและหายได้

11. เจ็บคอ ให้นำต้นยาเรียกเป็นภาษาจีนว่า ต้นยา แชเท้า หรือ ผักแว่น ใบคล้ายผักแว่นน้ำมากแต่อยู่บนบก ใบมีรสเปรี้ยวจัด ให้นำต้นสด ทั้งราก ใบ ดอก มาผสมเกลือ เคี้ยวอมน้ำ จะมีรสเปรี้ยว ๆ เค็ม ๆ รับรองหายแน่นอน

12. ดอกมะลิแห้ง ๆ เก็บไว้ได้ประโยชน์ อาจใช้แช่น้ำเป็นน้ำกระสายยาก็ได้ และถ้ามีมาก ๆ ก็สามารถขายได้ เพราะเอาไปเข้าเครื่องยาหมอไทย

หมายเหตุ
หญ้าใบไผ่ลักษณะคล้ายตระกาดที่ชอบขึ้นตามท้องนาทั่ว ๆ ไป มีข้อมีปล้อง แต่ใบนั้นคล้ายใบไผ่มาก ใบออกตรงข้ามกัน มักขึ้นเป็นกอ ๆ ชอบขึ้นชายน้ำ ใบจะสาก ๆ มีขนนิดหน่อย เขย่าดูเสียงใบกระทบกันคล้ายใบไผ่ เวลาต้องลม ใบสีเขียวสด

 

ข้อมูลสื่อ

18-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 18
ตุลาคม 2523
อื่น ๆ
นันทวัน สุทธโร