• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พันธุ์แพ้ยา (ตอนที่ 2 )

พันธุ์แพ้ยา (ตอนที่ 2 )


ในตอนที่แล้วได้เล่าเรื่องการแพ้ยาเพนนิซิลลิน กับยาคลอแรมเฟนิคอล ซึ่งรู้กันว่าการแพ้ยานั้นเป็นกรรมพันธุ์ ใครมีพี่น้องแพ้ยานั้น ๆ ก็ต้องระวังว่าอาจแพ้ยานั้นด้วย แต่กลไกของการแพ้ยาไม่ทราบแน่นอน ฉบับนี้จะขอเล่าเรื่องการแพ้ยาที่รู้กลไกแน่นอนต่อไป

เรื่องแรกเป็นการแพ้ที่แสดงอาการออกมาแบบเม็ดเลือดแดงแตก ทำให้เลือดจาง (ซีด) ปัสสาวะดำเหมือนสีน้ำปลาหรือสีโคล่า ตาและตัวเหลือง บางคนเม็ดเลือดแดงแตกมาก จนถึงกับทำให้ไตไม่ทำงาน ขับน้ำปัสสาวะไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจตายได้

เฮ้อ ! น่ากลุ้มนะครับ เรื่องแพ้ยานี่ ตายกันอยู่เรื่อย นี่แหละ ครับธรรมดาโลกล่ะ ของสิ่งใดที่มีคุณอนันต์ก็ย่อมมีโทษมหันต์ได้ทั้งสิ้น ยาเป็นของดีมีประโยชน์ที่มนุษย์เราผลิตขึ้นมาใช้รักษาโรค ทำให้ชีวิตปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่บางทียามันก็ทำให้เกิดโรคเสียเองอย่างนี้แหละ “หมอชาวบ้าน” จึงมีคอลัมน์ ยาน่าใช้ ประจำ สำหรับแนะนำท่านผู้อ่านให้รู้จักใช้ยาอย่างปลอดภัย

การแพ้ยาแบบที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยาทำให้เกิดสารต่อต้าน (แอนติบอดี้) เม็ดเลือดแดง สารต่อต้านมาจับเม็ดเลือดแดงทำให้เม็ดเลือดแดงแตก แบบนี้พบเกิดจากยาเพนนิซิลลิน ยาอัลโดเม็ท (ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง) และยาอื่นๆ อีกหลายชนิด
แต่การแพ้ยาที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ที่ต้องการแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักในฉบับนี้ เป็นการแพ้ยาที่เกิดจากผู้แพ้ขาดเอ็นซัยม์ชนิดหนึ่งในเม็ดเลือดแดง คำว่า “เอ็นซัยม์” เราน่าจะแปลว่า “น้ำย่อย” เรื่องที่จะเล่านี้จึงเป็นการที่เม็ดเลือดแดงขาดน้ำย่อย ที่จริงภายในเม็ดเลือดแดงเม็ดเล็กนิดเดียว ขนาดมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนั้น มีน้ำย่อยอยู่นับร้อยชนิด แต่ที่เราจะกล่าวถึงกันเป็นน้ำย่อยชนิดเดียว ชื่อว่า กลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีฮัยโดรจีเนส (Glucose-6-phosphate dehydrogenase) โฮ้ย ชื่อมันยาวแถมเป็นฝรั่งมังค่าเสียอีกด้วย ชื่อไทยก็ไม่มี เอางี้ดีกว่าครับ เราเรียกชื่อย่อของมันดีกว่าว่า จี-6-พีดี (G-6-p-P.D.) นะครับ มันก็ยังทะแม่ง ๆ เป็นฝรั่งอยู่ แต่จะทำยังไงได้ครับเราเอาความรู้มาจากฝรั่งเขา ก็ต้องยอมใช้ภาษาของเขาบ้างในกรณีเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ

คนที่แพ้ยาแบบที่เม็ดเลือดแดงแตกที่เราจะทำความรู้จักกันนี้ เกิดจากเม็ดเลือดแดงมีน้ำย่อยที่ชื่อ จี-6พี.ดี. น้อยกว่าปกติ ไม่ใช่ว่าไม่มีน้ำย่อยชนิดนี้เลยนะครับ คนที่เซลล์ไม่มีน้ำย่อยชนิดนี้เลยจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะน้ำย่อยชนิดนี้มันมีส่วนในปฏิกิริยาเผาผลาญกลูโคส ให้เกิดพลังงานนำมาใช้ในการดำรงชีวิตของเซลล์และของร่างกาย การที่น้ำย่อย จี-6-พี.ดี. มีน้อยนี้เกิดกับเม็ดเลือดแดง เซลล์อื่น ๆ ของร่างกายก็อาจมีน้ำย่อยจี6.พี.ดี น้อยกว่าปกตินิดๆ หน่อยๆ ได้ แต่ไม่ค่อยชัดเจน ความบกพร่องของน้ำย่อยนี้แสดงออกมาชัดเจนที่สุดในเม็ดเลือดแดงเพราะฉะนั้น เมื่อเราพูดถึง จี-6-พี.ดี น้อย เราจึงหมายถึงเม็ดเลือดแดงเท่านั้น ไม่หมายรวมถึงเซลล์อื่นๆ ของร่างกาย

เอาละครับ ลองมาดูตัวอย่างคนมีน้ำย่อย จี-6-พี.ดี. น้อยสัก 2 ราย

คุณธวัช เป็นนายธนาคารที่มีชื่อเสียง มีฐานะดี และสุขภาพดี อายุ 42 ปี วันหนึ่งคุณธวัชนั่งรถเก๋งไปตรวจงานธนาคารสาขาต่าง ๆ ในภาคอีสานและรู้สึกปวดศีรษะจึงกินยา เอพีซี 2 เม็ด อาการปวดศีรษะทุเลาลง แต่ไม่ถึงกับเรียกว่าหายดี ต่อมาอีก 2 วัน คุณธวัชรู้สึกอ่อนเพลียลงมาก ปัสสาวะสีดำเหมือนโคล่า อาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ใจสั่นเป็นมากจนลุกขึ้นไม่ได้เลย และปัสสาวะออกน้อยลงจนไม่มีปัสสาวะเลย จึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

อีกคนหนึ่งชื่อเด็กชายอเนก อายุ 13 ปี อเนกเป็นเด็กแข็งแรง แต่เวลาเป็นหวัด แม่สังเกตว่าบางคราวตาเหลืองๆ แต่เป็นอยู่ไม่กี่วันอาการก็หายไป แต่มาคราวนี้อเนกเป็นหวัดอีก แม่ซื้อยาชุดจากร้านยามาให้กิน กินไป 3 ชุด ต่อมาอีก 3 วัน อเนกถ่ายปัสสาวะสีดำ, ปวดท้อง, คลื่นไส้อาเจียน, เวียนศีรษะมาก และอ่อนเพลีย แม่รีบพามาโรงพยาบาล เมื่อมาถึงโรงพยาบาลพบว่าซีดปานกลาง, ตาเหลืองเล็กน้อย, ปัสสาวะสีดำเหมือนโคล่า

รายคุณธวัชอาการรุนแรงมาก ปัสสาวะไม่ออกเลย แพทย์ต้องเอาน้ำเกลือใส่เข้าไปในช่องท้องและถ่ายออกเพื่อให้น้ำเกลือนำเอาของเสียที่เคยขับถ่ายทางน้ำปัสสาวะออก ที่เรียกว่าทำเพอริโตเนียล ไดอะลัยสีส ถ้าไม่รักษาอย่างนี้คุณธวัชก็คงจะเสียชีวิต เพราะร่างกายจะมีของเสียอยู่เต็มไปหมด ทำให้การทำงานของอวัยวะทั่วร่างกายเสื่อมสมรรถภาพ แล้วก็ตายไป เรียกว่า ตายเพราะไตวาย (ไตทำงานไม่ได้) แบบปัจจุบันทันด่วน นอกจากนี้เนื่องจากคุณธวัชซีดมากก็ต้องให้เลือดด้วย รักษาอยู่เกือบเดือนจึงหายเป็นปกติ ไตที่ทำหน้าที่ไมได้ก็ค่อย ๆ หายจนเป็นปกติ

รายเด็กชายอเนก อาการรุนแรงปานกลางเท่านั้น อาการไตวายก็ไม่รุนแรง ยังมีน้ำปัสสาวะออกมาแม้จะน้อยไปหน่อย มีของเสียคั่งในร่างกายแต่ก็ไม่มากนัก อาการซีดก็เพียงปานกลาง เพียงให้นอนโรงพยาบาลไม่กี่วัน พอให้แน่ใจว่าอาการไม่รุนแรงก็ให้กลับบ้านได้

ท่านผู้อ่านสังเกตนะครับ ว่าคนไข้ตัวอย่างที่ยกมาเล่าเป็นผู้ชายทั้งคู่ นี่ก็เพราะว่าการที่มี จี-6-พี.ดี. น้อย เป็นลักษณะทางกรรมพันธุ์ที่แสดงลักษณะในผู้ชาย โดยมีแม่เป็นพาหะ เหมือนเรื่องกล้ามเนื้อพิการ ที่เล่าไว้ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 6 นั่นแหละครับ ถ้าใครอยากทราบรายละเอียดว่ามันถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์อย่างไรแน่กรุณากลับไปอ่าน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 6 ก็แล้วกัน ในตอนนี้ผมขอย้ำเพียงว่า ในประเทศไทยพบผู้ชายที่มี จี-6พี.ดี. น้อยประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงก็เป็นได้แต่พบน้อยกว่า รวมแล้วในประเทศไทยมีคนที่มี จี-6-พี.ดี. น้อยประมาณถึง 3 ล้านคน.
คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นโรคนะครับ เป็นคนแข็งแรงสุขภาพดี แต่เมื่อได้รับยาบางอย่างจะเกิดอาการแพ้ยาออกมา ในแบบที่เม็ดเลือดแดงแตกอย่างมากมาย ทำให้ซีดเหลือง ปัสสาวะดำ และอ่อนเพลียมาก บางคนไตวายทำให้ปัสสาวะไม่ออก อาการไตวายอาจทำให้ตายได้ถ้ารักษาไม่ดี

คนไทยที่แพ้ยาแบบนี้ได้ง่ายมีจำนวนถึง 3 ล้านคน มากกว่าคนที่แพ้เพนนิซิลลิน และแพ้คลอแรมที่เล่าใน “พันธุ์ดี” ตอนก่อน (ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 17) อย่างมากมาย เรื่อง จี-6-พี.ดี. น้อยนี่เราสามารถทดสอบเลือดได้อย่างไม่ยากนักว่าคนหนึ่ง ๆ มี จี-6-พี.ดี. ปกติหรือน้อย คนที่รู้ตัวว่า จี-6-พี.ดี.น้อย ก็ต้องระมัดระวังการใช้ยาที่อาจแพ้ได้

ยาที่คนจี-6-พี.ดี.น้อย อาจแพ้ได้หลายสิบชนิด ที่ใช้กันบ่อย ๆ ได้แก่ แอสไพริน เอพีซี คลอแรมเฟนิคอล ซัลฟา ไพรมาควิน (ใช้รักษามาลาเรีย) ฟูราโซลิโดน (ยาฆ่าเชื้อโรคในทางเดินอาหาร ใช้รักษาโรคท้องเดิน) ไนโตรฟูรานโทอิน (ใช้รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ) พาราอะมิโนซาลิซิลิคแอสิด หรือ พี.เอ.เอส. (ยารักษาวัณโรค) กรดนาลิดิซิค (ยาฆ่าเชื้อโรค) วิตามินซี เป็นต้น

ที่จริงคน จี-6-พี.ดี.น้อยนี้ ไม่ใช่เพียงแต่แพ้ยาเท่านั้น ยังแพ้สารเคมีบางชนิดด้วยกัน ลูกเหม็น ใช้อบผ้ากันแมลง เมื่อคนจี-6-พี.ดี. น้อย สวมเสื้อผ้านี้และหายใจเอากลิ่นลูกเหม็นเข้าไปมาก ๆ เม็ดเลือดแดงแตกได้ นอกจากนี้คนที่มีจี-6-พี.ดี. น้อย เม็ดเลือดแดงยังอาจแตกเพราะสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกคือ เป็นโรคติดเชื้อ เช่น มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ปอดอักเสบ (นิวโมเนีย) ทัยฟอยด์ เมื่อกินถั่วปากอ้าดิบ หรือดิบ ๆ สุก ๆ และในระยะที่เป็นเด็กอ่อน

การที่จี-6-พี.ดี.น้อย จึงเป็นภาวะทางกรรมพันธุ์ที่ไม่ใช่เพียงแต่ทำให้แพ้ยาเท่านั้น ยังทำให้แพ้สิ่งอื่น ๆ อีก แสดงอาการออกมาในแบบที่เม็ดเลือดแดงแตกอย่างมากมาย
คนที่พร่องจี-6-พี.ดี.จึงต้องระมัดระวังตัวเองในเรื่องการใช้ยาที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งเมื่อเป็นโรคติดเชื้อ ก็ต้องคำนึงว่าเม็ดเลือดแดงอาจแตกได้ ถ้ามีอาการปัสสาวะดำ หรือตาเหลือง หรืออ่อนเพลียลงไปมาก ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของยาที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ เป็นยาที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมาใช้รักษาโรค เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ส่วนรวมอย่างมากมาย แต่ก็มีคนบางคนซึ่งมีพันธุ์แตกต่างไปจากคนอื่น เกิดผลร้ายเนื่องจากยาเหล่านั้น บางกรณีอาจถึงกับเสียชีวิตก็ได้

แต่จะว่าโชคดีก็ว่าได้ ที่คน จี-6-พี.ดี.น้อยนี้ ไม่ใช่ว่าเมื่อได้รับยาที่เอ่ยชื่อมาแล้ว เม็ดเลือดแดงจะแตกอย่างมากมายทุกครั้ง บางคราวเม็ดเลือดแดงอาจแตกเพียงนิด ๆ หน่อย ๆ อาจจะเหลืองเล็กน้อย ซีดลงบ้างแต่ก็ไม่รุนแรง ปัสสาวะสีอาจเข้มขึ้นแต่ไม่ถึงกับเป็นสีดำ ถ้าอาการน้อยเช่นนี้ คนไข้บางคนอาจไม่รู้สึกเลย ไม่รู้ว่าเกิดมีเม็ดเลือดแดงแตกขึ้นในร่างกาย แต่ในบางคราวเมื่อได้รับยาเม็ดเลือดแดงก็แตกอย่างมากมาย อย่างรายคุณธวัชที่เล่ามาแล้ว และคุณธวัชนี่เองที่บอกกับผู้เขียนว่าเคยกินเอพีซี มามากมาย ไม่เคยเกิดอาการเม็ดเลือดแดงแตกรุนแรงอย่างที่เล่ามาเลย แสดงว่าอาการเม็ดเลือดแดงแตกอย่างรุนแรงในคนจี-6-พี.ดี.น้อยนี้ จะ ต้องเกิดจากยาร่วมกันกับสาเหตุอย่างอื่น เช่น โรคติดเชื้อ คือนอกจากยาแล้ว ต้องมีสิ่งอื่นเป็นสาเหตุร่วมด้วย อาการเม็ดเลือดแดงแตกจึงรุนแรง แสดงว่าสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ อย่างมีส่วนมีอิทธิพลต่อการแสดงออกทางความผิดปกติทางกรรมพันธุ์นี้ เหมือนอย่างที่เล่าไส้แล้วใน “พันธุ์ดี” ตอนที่ 1 (ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 1) นั่นแหละครับ

ก่อนจะจบขอเล่าเรื่องกรรมพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาสั้น ๆ อีกสักเรื่อง ที่ท่านผู้อ่านที่เป็นชาวไร่ชาวนาหรือนักกสิกรรม ที่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงน่าจะได้ทราบเอาไว้ ยาฆ่าแมลงที่กล่าวถึงนี้คือ ยาจำพวกสารประกอบอินทรีย์ของฟอสฟอรัส จำพวกพาราไธออนหรือยาหัวกะโหลกไขว้นั่นแหละครับ ที่จริงยานี้เป็นยาฆ่าแมลง ไม่ใช่ยารักษาโรคที่เรานำมาใช้กับคนเหมือนอย่างยาอื่น ๆ ที่เล่ามาแล้ว แต่มันก็เกี่ยวข้องกับคน เพราะคนเป็นผู้ใช้ยาฆ่าแมลง คนก็ต้องสัมผัสกับยานี้บ้างไม่มากก็น้อย ถ้าสัมผัส หรือสูดเอายาเข้าไปมากก็เกิดอาการเป็นพิษ จากยานี้ทุกคน แต่จะมีบางคนสูดเอายานี้เข้าไปไม่มากนัก ก็เกิดอาการเป็นพิษจากยานี้ได้ หรือถ้าสูดเอายานี้เข้าไปมากพิษจะรุนแรงมากกว่าคนอื่น ๆ ที่ได้รับยาเข้าไปเท่า ๆ กัน เรียกว่า เป็นคนที่แพ้ยาฆ่าแมลงนี้ง่ายกว่าธรรมดา และการแพ้ยาหัวกะโหลกไขว้ง่ายนี้ เป็นกรรมพันธุ์แบบด้อย เหมือนกับคนเผือก (เรื่อง “พันธุ์ดี” ใน “หมอชาวบ้าน”ฉบับที่ 7) คือ พ่อแม่ของคนที่แพ้ง่ายนี้มักเป็นคนปกติไม่แพ้ง่าย คนที่แพ้ยาฆ่าแมลงหัวกะโหลกไขว้ง่ายนี้ พบในหมู่คนฝรั่งประมาณ 6 คนใน 100 คน
 

ในประเทศไทยยังไม่เคยมีคนศึกษาไว้ แต่ใครก็ตามที่เมื่อได้สูดยานี้เพียงเล็กน้อยแล้วเกิดอาการเป็นพิษ ก็น่า จะรู้ตัวว่าเป็นคนแพ้ยานี้ ง่ายกว่าคนอื่น ๆ และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษถ้าจำเป็นต้องเป็นผู้พ่นยานี้ หรือถ้าจะให้ดีก็ให้คนอื่น เป็นผู้พ่นเสียจะปลอดภัยกว่า

 

ข้อมูลสื่อ

18-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 18
ตุลาคม 2523
นพ. วิจารณ์ พานิช