• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิธีแก้โรคเซ็ง

วิธีแก้โรคเซ็ง


เซ็งจริงโว้ย” ดรุณีนางหนึ่งกล่าวขึ้น

“อ้าว ทำไมล่ะ” เพื่อนถาม

“ก็เอ็งคิดดูซิ ข้าวของแพงขึ้นทุกอย่าง น้ำตาลทรายก็ขาดตลาด อีแบบนี้จะไม่ให้ เซ็ง ยังไงไหว

“ชั้นงี้ เซ็งจริง ๆ ” เธออีกคนหนึ่งบ่น “ทำงานมาตั้งสิบกว่าปี เพิ่งได้ซีห้า คนอื่นมาทีหลังเป็นหัวหน้ากองไปแล้ว”

“ที่กองชั้นก็เหมือนกัน มีเจ้านายมาใหม่ ดุเป็นบ้าเลย เซ็งกันไปทั้งกอง”

“เอ๊ะ พักนี้ทำไมอาจารย์ผู้ใหญ่ ๆ ลาออกกันมาก”

“โธ่ เธอ ทำงานมานานมันก็ชักจะเซ็งไปตาม ๆ กัน”

เมียผมบ่นทุกวัน ๆ เซ็งจริง ๆ”

“ผัวฉันชอบเล่นไพ่นกกระจอกทุกวัน เซ็ง สิ้นดี”

“อีตาพลเอกคนนั้น ตั้งแต่เกษียณมาแล้ว ดูแกซึม ๆ ชอบกล”

“แกก็เซ็งไปวัน ๆ หนังสือก็ไม่ชอบอ่าน ต้นไม้ก็ไม่ชอบปลูก คุยกับลูกหลานก็ไม่รู้เรื่อง”

“เธอลองคิดดูเถอะ งานของฉันน่ะ ตั้งแต่เช้าก็แกะกุ้ง แกะ ๆ ไปจนเย็น แล้วก็แกะทุกวัน เดือนละ 30 วัน ปีละ 365 วัน ไม่ทำก็ไม่รู้จะทำอะไรกิน ทั้งเซ็ง ทั้งเบื่อ”

ฯลฯ

โรค “เซ็ง” นี้ช่างระบาดไปทั่วถึงทุกวงการจริง ๆ
ในการปรึกษาหัวข้อสัมมนาคราวหนึ่ง ถึงกับมีผู้เสนอให้สัมมนาในหัวข้อ “โรคเซ็ง” เพราะรู้สึกว่าจะมีผู้เป็นกันมากแม้ในกลุ่มผู้ที่กำลังปรึกษาหารือกันอยู่นั้นด้วย
คำว่า “เซ็ง” นี้ ไม่ทราบว่าในภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร หรือจะมีคำที่ใช้ตรงกันหรือเปล่า แต่ในภาษาไทยเป็นคำที่บรรยายอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้คำอื่น ๆ อธิบายก็ไม่ตรง
เป็นอาการของความเบื่อ ซบเซา ไม่สดชื่น ซึ่งเกิดจากเหตุนานาประการ อาจจะเป็นเรื่องงาน ไม่ถูกกับคนใกล้ชิด ปัญหาเศรษฐกิจ ความจำเจ ความที่ไม่รู้จะทำอะไร ฯลฯ

ความ “เซ็ง” ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ท้อถอย หดหู่ ไม่มีความสุข และชักนำทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ต่อไป เช่น ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น เวียนหัว นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เป็นหวัดง่าย ฯลฯ
ความ “เซ็ง” ทำให้การงานได้ผลน้อย ทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ต่อไป เช่น ทำให้ผู้บังคับบัญชาไม่พอใจ เพื่อนร่วมงานไม่พอใจ อันเป็นผลกระทบทำให้ “เซ็ง” มากขึ้น
จำนวนคนที่เป็นโรค “เซ็ง” นั้นคงจะมากกว่าคนที่เป็นมาลาเรียหรือโรคบิด หรือโรคท้องเดินองค์การอนามัยโลกน่าจะจัดว่าโรค “เซ็ง” เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอย่างหนึ่ง !
เนื่องจากโรค “เซ็ง” ทำให้เกิดผลร้ายนานัปการดังกล่าว จึงน่าจะต้องทำการป้องกันและรักษา

ขอเสนอวิธีการปฏิบัติเพื่อป้องกันและรักษาดังนี้
1. หายใจลึก ๆ เห็นจะเป็นวิธีง่ายที่สุด ถ้าเซ็งหรือเบื่อให้หายใจเข้าออกลึก ๆ ติด ๆ กัน หลาย ๆ ครั้ง จะพบว่าทำให้สดชื่นได้อย่างประหลาด

2. ออกกำลัง ระหว่างทำงาน ถ้าหยุดออกกำลังเสียบ้าง เช่น วิดพื้น กระโดดเชือก เล่นปิงปอง ฯลฯ ก็ทำให้หายเซ็งได้ ในระหว่างเวลาทำงาน ถ้านายจ้างจัดช่วงเวลาให้ลูกจ้างหรือพนักงานได้ออกกำลังเสียบ้าง จะทำให้ได้ผลงานมากขึ้น เพราะเป็นการไล่ความเซ็งออกจากตัว

3. ทำงานอดิเรก จะเห็นได้ว่า “ความไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี” เป็นต้นเหตุของความเซ็งอย่างหนึ่ง ฉะนั้นถ้ามีงานอดิเรกทำจะเป็นการอ่านเขียนหนังสือ การปลูกต้นไม้ การเย็บปักถักร้อยจะช่วยให้ชีวิตกระปรี้กระเปร่า ไม่เซ็ง

4. การพักผ่อน คนที่ทำงานอย่างเดียวทุกวันโดยไม่หยุดเลย เช่น ขายอาหาร ๆ ๆ ทุกวัน ช่างเสริมสวย ๆ ๆ ทุกวัน ช่างตัดเสื้อ ตัดเสื้อ ๆ ๆ ทุกวัน เสาร์อาทิตย์ไม่หยุด ทั้งเดือนไม่หยุดเลย หรือทั้งปีไม่หยุดเลย ทำให้เบื่อหน่ายและไม่สบาย ควรจะยอมขาดรายได้บ้าง เช่น สัปดาห์หนึ่งหยุดเสียหนึ่งวัน จะทำให้ชีวิตสดชื่นมีชีวิตชีวาขึ้น ถึงจะงานหนักและจำเจ แต่ถ้ารู้ว่าวันนั้นวันนี้จะได้หยุดพักผ่อนเป็นตัวของตัวเองได้สักวัน ก็ยังทำให้พอทนนายจ้างที่ให้ลูกจ้างทำงานทุกวัน ก็ควรจะคำนึงถึงข้อนี้ไว้บ้าง มิใช่จะเอาแต่คิดเอาผลกำไร โดยไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์เสียเลย

5. ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือผู้อื่น บางคนที่ชีวิตหดหู่ หาความหมายของการมีชีวิตอยู่มิได้ ถ้าคิดว่าชีวิตเราที่จะมีอยู่ต่อไป จะเป็นวันเดียวก็ดี เดือนเดียวก็ดี ขอให้เราได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ถ้าคิดอย่างนี้ และทำอย่างนี้ ทุก ๆ วัน จะมีความหมายมาก ไม่เบื่อ สุขภาพจิตดี
“ยิ้มไว้ ช่วยดะ” อันเป็นสุภาษิตที่ศาสตราจารย์นายแพทย์ร่มไทร สุวรรณิก ติดไว้ในหน่วยงานของท่าน นับเป็นตัวอย่างที่ดีของชีวทัศน์ที่ตรงกับข้อนี้
ตรงข้าม “หน้าหงิก ดุตะบัน” ซึ่งค่อนข้างเป็นสัญลักษณ์ของข้าราชการ ก่อให้เกิดปัญหาอยู่ทั่ว ๆ ไป
 

6. งาน งานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ ถ้าใครทำงานไปทุกข์ก็นับว่าขาดทุนชีวิต แต่ถ้าทำงานไปสุขไปก็นับว่ากำไรมหาศาล เราฝึกให้การทำงานทุกชนิดเป็นความสุขได้ ไม่ว่างานนั้นจะคิดว่าน่าเบื่อหน่ายเพียงใด ลองดูเถิดครับ

เมื่อกวาดบ้าน ก็ขอให้ทุกขั้นตอนของการกวาดบ้านเป็นความชื่นชม แขนที่ยกไม้กวาดขึ้น ไม้กวาดที่สัมผัสพื้น ขยะที่ถูกกวาดไป พื้นที่สะอาดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป้นของควรชื่นชมยินดี ขอให้ความปีติซึมซ่านอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกจังหวะที่เราทำ
เมื่อล้างชาม ขอให้มือที่สัมผัส การเคลื่อนไหวของมือ น้ำที่กระทบชาม ฯลฯ ทุกขั้นทุกตอนเป็นสิ่งที่ชื่นชมยินดี แม้งานอย่างอื่นทุกอย่างก็ทำได้เช่นกัน
ผมไม่ได้พูดเล่น เป็นของที่ทำได้ ลองฝึกดูเถิดครับ ถ้าคุณทำได้ คุณจะพบว่าคุณได้ ค้นพบชีวิตใหม่ ในตัวคุณเองทีเดียว ก็ชีวิตที่มีความสุขในทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำ และความสุขทุกวี่ทุกวัน อย่างไรเล่าครับ
 

7..สมาธิ ผมจะไม่สาธยายวิธีการในที่นี้ แต่ถ้าคุณเจริญสมาธิและในขณะที่จิตเป็นสมาธินั้น คุณจะพบกับความสุขอย่างที่คุณไม่เคยพบมาก่อนในชีวิต ความเซ็งหรือครับ ถูกขับไล่กระเจิงไปไหน ๆ เลย !

8..แผ่เมตตา มนุษย์ สัตว์ถ้วนทั่วหน้าเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ล้วนดิ้นรน ล้วนเดือดร้อน ล้วนมีความทุกข์ ควรเมตตาสงสาร ถ้าหัดแผ่เมตตาให้ผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ จิตใจของเราจะดีขึ้น แม้ความเซ็งก็หายไปได้

9..เจริญสติ เมื่อทำอะไรก็ให้จิตรู้อยู่กับการทำอย่างนั้น เมื่อมือเคลื่อนไปก็ให้มีสติรู้อยู่กับมือที่เคลื่อน เมื่อเท้าก้าวย่างก็ให้มีสติอยู่กับการก้าวย่าง เมื่อชอบก็รู้ว่าชอบ เมื่อสุขก็ให้รู้ว่าสุข เมื่อทุกข์ก็ให้รู้ว่าทุกข์ เมื่อจิตคิดอะไรก็ให้รู้ว่าคิดอยู่ในสิ่งนั้น ฯลฯ การเดินจงกรมของพระพุทธเจ้าก็คือการเจริญสติ ถ้าเจริญสติอยู่เป็นนิจศีล จะทำให้ขจัดความเซ็ง ความหม่นหมอง ความโกรธ ความโลภ ความหลง และจิตจะเป็นสมาธิง่ายขึ้น

10. เจริญปัญญา เมื่อคุณได้ฝึกอบรมมาด้วยประการต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น จะเกิดปัญญามากขึ้น ๆ ปัญญาในที่นี้ใช้ตามความหมายทางพุทธศาสนา อันหมายถึง การที่สามารถรู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง เช่น เห็นไตรลักษณธรรม คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจสี่ และในที่สุดหลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัวโดยสิ้นเชิง มีความสุขสมบูรณ์

ความเซ็งหรือครับ หายไปตั้งนานก่อนหน้านี้แล้วครับ !

ถ้าทำได้ครบหมดทุกอย่างข้างต้น รับรองว่าหายเซ็งแน่ ๆ แต่บางครั้งมันก็ทำไม่ได้ หรือไม่ได้หมด หรือบริบูรณ์ เพราะเหตุต่าง ๆ กัน
ความเซ็งที่ควบคู่กับความวิตกกังวล บางครั้งหมอต้องให้ยากล่อมประสาท เช่น ไดอาซีแพม สองมิลลิกรัม

ความเซ็งที่ควบคู่กับอาการซึมเศร้า เช่น เบื่ออาหาร หดหู่ นอนไม่หลับ บางครั้งหมอต้องให้ยาแก้ซึมเศร้า (antidepressant) เช่น ถ้าซึมเศร้าประเภทเคียดแค้น โมโหง่าย ใช้ อมิทริพทีย์ลีน (amitryptyline) เม็ดละสิบมิลลิกรัม ตอนเย็นและก่อนนอน แต่ถ้าเป็นซึมเศร้าชนิดซึมกระทือ แยกตัว หมออาจให้ยา นอร์ทริพทีย์ลีน (nortryptyline) เม็ดละสิบมิลลิกรัม ตอนเย็นและก่อนนอน
ครับ ขอให้เรามาช่วยกันขจัดโรคเซ็ง เพราะเป็นโรคที่นำความทุกข์และความเสียหายมาสู่บุคคล ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติอย่างมโหฬาร

ขอให้ท่านผู้อ่านทุกคน ไม่ว่าท่านจะเป็นคนกรุง หรือคนที่อยู่ตามภูเขาลำเนาไพร ไม่ว่าท่านจะเป็นพระหรือฆราวาส ขอได้รับความปรารถนาดีจาก “หมอชาวบ้าน” โดยทั่วกัน ขอจงเป็นสุข ๆ ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และด้วยการแก้ปัญหาทุกชนิดตามเหตุแห่งปัญหา เทอญ

 

ข้อมูลสื่อ

18-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 18
ตุลาคม 2523
อื่น ๆ
ศ.นพ.ประเวศ วะสี